“แม้แต่สงครามก็มีกฎเกณฑ์” ประโยคนี้มีความหมายว่าอย่างไร อะไรคือใจความสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
“แม้แต่สงครามก็มีกฎเกณฑ์” มีความหมายว่า หากสงครามเกิดขึ้น ก็ต้องมีการจำกัดผลกระทบของมัน ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องไม่โจมตีเด็ก สตรี หรือประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ รวมไปถึงการให้การดูแลผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ทำการทรมานผู้อื่นเพื่อรีดข้อมูล โดยกฎเกณฑ์ที่ยกมานี้ ถูกระบุชัดในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ซึ่งเป็นกฎที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายทางมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทำหน้าที่หลักสองประการ 1. ปกป้องผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ หรือไม่สามารถทำการสู้รบต่อ นั่นรวมไปถึง พลเรือน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วย พลเรืออับปาง เชลยสงคราม และผู้ต้องขังอื่นๆ 2. บอกถึงขีดจำกัดของการทำสงคราม ยกตัวอย่างเช่น อาวุธบางประเภทไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะมีผลการทำลายล้างมากเกินไป หรือสร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอันไม่จำเป็น
กฎหมายที่ว่านี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างที่อาจคุ้นหูกันมากกว่า คือ “กฎหมายสงคราม” หรือกฎหมายที่ถูกนำมาปรับใช้ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ กฎหมายที่ว่าประกอบด้วยสนธิสัญญาต่างๆ (ยกตัวอย่างเช่นอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติมซึ่งถือเป็นข้อตกลงหลัก) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศถูกปรับใช้ตอนไหน ใครต้องปฏิบัติตาม
กฎหมายที่ว่า ถูกปรับใช้เฉพาะในกรณีการขัดกันทางอาวุธเท่านั้น มีข้อยกเว้นอยู่บ้างหากเป็นการนำมาใช้สำหรับฝึกสอน IHL ให้การคุ้มครองในทั้งสองกรณี ไม่ว่าจะเป็น 1.สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ (non-international armed conflict – NIACs) และ 2.สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธในระดับระหว่างประเทศ (international armed conflict – IACs) หากเป็นแบบหลัง แปลว่าคู่ขัดแย้งจะต้องมีสถานะเป็นรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป
ส่วนสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ อาจเป็นการปะทะกันระหว่าง 1.กองกำลังรัฐกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐ 2.การปะทะกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป โดยข้อกฎหมายที่ถูกนำมาบังคับใช้ จะต้องพิจารณาด้วยว่าลักษณะของการขัดกันทางอาวุธดังกล่าว อยู่ในระดับระหว่างประเทศหรือไม่ การคุ้มกันบางอย่างจากข้อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อาจดำเนินต่อไปแม้การขัดกันทางอาวุธจะจบลงแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของผู้ต้องขังและประชากรสูญหาย
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต้องได้รับการเคารพจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีสถานะและมีสังกัดเป็นรัฐหรือไม่ก็ตาม อนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นใจความสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ได้รับการรับรองจาก 196 รัฐ ทำให้ข้อกำหนดที่ว่า มีความเป็นสากล มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศน้อยมากที่ได้รับการสนับสนุนในระดับนี้
อนุสัญญาเจนีวายังประกอบไปด้วยพิธีสารเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ ซึ่งมีอายุย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 1977 พิธีสารฉบับแรกกล่าวถึงสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธในระดับระหว่างประเทศ ฉบับหลังกล่าวถึงสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีพิธีสารเพิ่มเติมฉบับล่าสุดเมื่อปี 2005 กล่าวถึงการระบุให้เครื่องหมายคริสตัลแดงเป็นหนึ่งในเครื่องหมายกาชาดร่วมกันกับกากบาทแดงและเสี้ยววงเดือนแดง
นอกจากสนธิสัญญาต่างๆ กฎหมายจารีตประเพณียังอาจนำมาใช้เพื่อเติมช่องว่าง ในกรณีที่สนธิสัญญาต่างๆ ไม่มีผลบังคับใช้หรือยังพัฒนาไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่นในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ โดยกฎหมายจารีตประเพณีนั้นจะต้องมีผลบังคับใชักับทุกฝ่ายในความขัดแย้ง
สถานะเชลยศึกคืออะไร พวกเขาได้รับการคุ้มครองอย่างไร
อธิบายโดยคร่าว เชลยศึกคือพลรบของฝ่ายตรงข้ามที่ถูกจับกุมในระหว่างสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธในระดับระหว่างประเทศ (international armed conflict – IACs) พลรบที่ว่า อาจะเป็นสมาชิกของกองกำลังติดอาวุธ ทหารกองหนุน กองกำลังอาสา หรือบุคคลในสถานะอื่นซึ่งเป็นสมาชิกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งตามเงื่อนไขบางประการ
บุคคลกลุ่มเล็กๆ ซึ่งไม่ใช่พลรบ แต่สามารถมีสถานะเป็นเชลยศึก ยกตัวอย่างเช่น ทหารเสนารักษ์ นักข่าว ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือพลเรือน โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะมีสถานะเป็นเชลยศึกได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาอยู่ใต้สังกัด หรือได้รับคำอนุญาตให้ติดตามกองกำลังติดอาวุธ เป็นไปได้เหมือนกันที่พลเรือนผู้ลุกขึ้นจับอาวุธจะมีสถานะเป็นเชลยศึก (Levée en mass)
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสถานะเชลยศึก ได้รับการบัญญัติไว้ในอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 และพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 โดยผู้ที่ได้รับสถานะเป็นเชลยศึกนั้น จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในทุกสถานการณ์ พวกเขาได้รับการคุ้มครองจากการกระทำที่รุนแรงตลอดจนจากการข่มขู่ ดูหมิ่น และการทำให้อับอายในพื้นที่สาธารณะ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังได้กำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการดูแลเชลยศึก ยกตัวอย่างเช่น ที่พัก อาหาร เสื้อผ้า สุขอนามัย และการดูแลทางการแพทย์
เชลยศึกไม่สามารถถูกนำขึ้นพิจารณคดีในข้อหาที่พวกเขามีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ แต่อาจถูกพิจารณาคดีในข้อหาอาชญากรสงคราม การคุมตัวเชลยศึกไม่ถือเป็นการลงโทษ แต่เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขากลับไปเข้าร่วมการต่อสู้เพียงเท่านั้น เชลยศึกจะต้องได้รับการปล่อยตัวและส่งกลับประเทศโดยเร็วที่สุดหลังการสู้รบสงบลงแล้ว
ในระหว่างสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธในระดับระหว่างประเทศ (international armed conflict – IACs) ICRC มีสิทธิ์ในการเข้าเยี่ยมเชลยศึก เพื่อให้แน่ใจว่าการดูแลต่างๆ เป็นไปตามเงื่อนไขที่สอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ให้การปกป้องผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยไข้ และผู้ซึ่งเรืออัปปางอย่างไร
ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ในที่นี้ หมายถึงทุกคนในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นพลรบหรือพลเรือน พวกเขาเหล่านี้ไม่มีส่วนร่วมในการสู้รบและต้องรับการดูแลทางการแพทย์ ผู้บาดเจ็บ ป่วยไข้ รวมไปถึงผู้ซึ่งเรืออัปปาง ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ร่วมกับฝ่ายใดก็ตาม
ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้จะต้องได้รับการเคารพและคุ้มครองในทุกกรณี นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องไม่ถูกทำร้าย สังหาร หรือได้รับการดูแลอย่างไม่สมควร ทุกฝ่ายในความขัดแย้ง มีข้อผูกพันต้องติดตามหา และช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ ภายใต้กำลังความสามารถทั้งหมดที่มี พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกฝ่ายจะต้องให้ความช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้อย่างเร็วที่สุด ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด
ส่วนการเลือกว่าผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ท่านไหนจะได้รับการดูแลก่อน จะต้องตัดสินตามเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น สำหรับสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธในระดับระหว่างประเทศ (international armed conflict – IACs) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดูแลผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยไข้ และผู้ซึ่งเรืออัปปางถูกระบุในอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1, 2 และ 4 รวมไปถึงพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ส่วนสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ (non-international armed conflict – NIACs) ข้อกำหนดที่ว่าถูกระบุไว้ในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 (Common Article 3) รวมไปถึง customary rules
ทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง มีความรับผิดชอบอย่างไรกับ บุคคลสูญหาย และ ผู้เสียชีวิต
ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทุกฝ่ายในความขัดแย้งจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดกรณีบุคคลสูญหาย หรือพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก ในกรณีที่มีบุคคลหายสาบสูญ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบที่ต้องสืบหาความเป็นไป เพื่อนำข้อมูลกลับมาสื่อสารกับครอบครัว วิธีป้องกันการหายสาบสูญที่ดีที่สุด คือการทำให้แน่ใจว่าสมาชิกในครอบครัวจะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อยู่เสมอ
ในกรณีของบุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศระบุให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งทำการขึ้นทะเบียนผู้ถูกจำกัดเสรีภาพในความดูแลของตน และจัดให้พวกเขาสามารถส่งข่าวหาครอบครัวได้ หากมีการเสียชีวิต ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับผู้ตายจะต้องได้รับการบันทึก รวมไปถึงการจัดการร่างผู้เสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี
ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธในระดับระหว่างประเทศ (international armed conflict – IACs) ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของตนลงในระบบ National Information Bureaus ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง Central Tracing Agency
ทุกฝ่ายในความขัดแย้งต้องใช้ความสามารถทั้งหมดในการติตามหาบุคคลสูญหาย ผู้ที่พลัดพรากจากครอบครัว รวมไปถึงผู้เสียชีวิต พวกเขายังต้องให้ความร่วมมือกับกิจกรรมการติดตามหาผู้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล การเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต รวมไปถึงการส่งคืนร่างผู้เสียชีวิตกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างเหมาะสม แม้ว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะเป็นข้อบังคับที่ถูกใช้ในเหตุการณ์การขัดกันทางอาวุธ แต่ข้อกำหนดในการติดตามหาผู้สูญหาย ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปแม้สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะสันติสุขแล้วก็ตาม
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
ผู้ลี้ภัยหมายถึงบุคคลที่ข้ามเขตแดนระหว่างประเทศด้วยเนื่องจากความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร
นอกเหนือไปจากความคุ้มครองที่กฎหมายได้มอบให้กับพลเมือง กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้การคุ้มครองโดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัย เมื่อพวกเขาเหล่านั้นอยู่ในเขตแดนที่มีสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ โดยผู้ลี้ภัยจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะบางประการในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธในระดับระหว่างประเทศ (international armed conflict – IACs)
สำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หมายถึงผู้ที่ไม่ได้ข้ามเขตแดนนานาชาติ แต่ถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านของตัวเอง บุคคลเหล่านนี้ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับกับพลเมืองในพื้นที่ขัดแย้ง อย่างไรก็ดี กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้มีการระบุชัดว่า ในกรณีของบุคคลพลัดถิ่น มาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดจะต้องถูกดำเนินการเพื่อให้พวกเขาเหล่านี้ได้มีที่พักอาศัย สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพ สุขอนามัย ได้รับความปลอดภัยและโภชนาการ รวมไปถึงสามารถอยู่ร่วมกันกับครอบครัวอันเป็นที่รักโดยไม่ถูกแบ่งแยก
อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศตั้งแต่ต้น จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการพลัดถิ่น ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศป้องกันไม่ให้พลเรือนพบกับภาวะขาดอาหาร ห้ามไม่ให้มีทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมไปถึงห้ามการบังคับพลเรือนออกจากสถานที่อาศัย เว้นแต่จะมีเหตุผลด้านความปลอดภัยหรือมีเหตุผลทางการทหารที่จำเป็นเท่านั้น
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้กล่าวห้ามเรื่อง การทรมาน ด้วยหรือไม่
ใช่ การทรมาน หรือการทารุณกรรมในทุกทางเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL) ส่งเสริมกันและกันในการสร้างกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมเพื่อป้องกันการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายในรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงตั้งบทลงโทษสำหรับการละเมิด
รัฐจำนวนมากต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการทรมานไม่ใช่เรื่องยอมรับได้ในทุกกรณี ความทุกข์ทรมานที่เกิดอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งอาจคงอยู่เป็นเวลายาวนานหลายปี
หากกลุ่มติดอาวุธใช้ โรงพยาบาล หรือ โรงเรียน เป็นฐานทัพสำหรับนำปฏิบัติการทางทหาร สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นเป้าหมายการโจมตีได้หรือไม่
โดยหลักการ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศห้ามไม่ให้มีการโจมตีโรงเรียนซึ่งเป็นวัตถุทางพลเรือน ส่วนสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ก็ล้วนได้รับการปกป้องใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่หากโรงเรียนหรือโรงพยาบาลถูกใช้เป็นฐานสำหรับนำการโจมตีทางทหาร การโจมตีอาคารเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะถือเป็นการโจมตีที่ทำให้อีกฝ่ายได้เปรียบในทางการทหาร
อย่างไรก็ดี การโจมตีโรงพยาบาลจะต้องได้รับการพิสูจน์อย่างไร้ข้อสงสัยว่า 1.ถูกใช้เป็นฐานทัพสำหรับนำการโจมตีทางทหาร 2.ใช้เป็นคลังเก็บอาวุธ 3.เป็นที่ซ่อนของทหารหรือพลรบที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขและรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลสูญเสียการปกป้องใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ก่อนการโจมตีโรงพยาบาล คู่ขัดแย้งจะต้องแจ้งเตือนก่อน โดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้วัตถุทางพลเรือนอย่างโรงเรียนถูกใช้เป็นฐานทัพ บางรัฐได้ให้การรับรองปฏิญญาว่าด้วยโรงเรียนที่ปลอดภัย (Safe school declaration) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อลดการใช้โรงเรียนเป็นฐานที่มั่นทางการทหาร
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ให้การคุ้มครอง ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ด้วยหรือไม่
อนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ ผลงานศิลปะ แหล่งโบราณคดี หรือที่เรียกรวมกันว่า ‘ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม’ ได้รับการคุ้มครองตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การสร้างความเสียหายต่อสถานที่และสิ่งของเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงการทำลายอิฐ ไม้ หรือปูน แต่เป็นการทำลายประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจของมนุษยชาติ
กฎหมายสงครามกำหนดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งปกป้องและให้ความเคารพต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม การโจมตีทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการทหารไม่สามารถทำได้ เว้นแต่ว่าจะมีความจำเป็นในทางการทหารอย่างสูงสุด นอกจากนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต้องไม่ยึด ทำลาย หรือจงใจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ห้ามถือครอง และต้องยุติการโจรกรรม การปล้นสะดม หรือสร้างความเสียหายต่อวัตถุดังกล่าว
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ให้การคุ้มครอง ทรัพยากรทางธรรมชาติ ด้วยหรือไม่
ตอบสั้นๆ ว่า ใช่ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีลักษณะเป็นพลเรือน ดังนั้นส่วนหนึ่งส่วนใดของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารจึงได้รับการคุ้มครองโดยหลักการทั่วไปและกฎเกณฑ์ในการปกป้องวัตถุพลเรือน นั่นหมายความว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ไม่สามารถดำเนินปฏิบัติการทางทหารที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป
ปฏิบัติการทางทหารต่างๆ จะต้องใช้มาตรการป้องกันที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยง และลดความเสียหายโดยบังเอิญต่อสิ่งแวดล้อม และแม้ว่าจะไม่มีข้อบ่งชี้ที่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการปฏิบัติการทางทหารในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่คู่ขัดแย้งจะลดมาตรการป้องกันเหล่านี้
ในทางกลับกัน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้การคุ้มครองโดยเฉพาะต่อทรัพยากรทางธรรมชาติในบางสถานการณ์ซึ่งรวมถึงการพิจารณาปกป้องและรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วยการเลือกวิธีทำสงครามอย่างเหมาะสม ห้ามไม่ให้มีปฏิบัติการทางการทหารที่จงใจหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง รุนแรง และในระยะยาวต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
การละเมิดข้อห้ามนี้อาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม การทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไม่สามารถใช้เป็นอาวุธในการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม
สงครามไซเบอร์ อยู่ใต้ข้อบังคับของกฎหมายสงครามด้วยหรือไม่?
ใช่ ปฏิบัติการทางไซเบอร์ในระหว่างสถานการณ์ความขัดแย้ง ถูกควบคุมใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทุกวันนี้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ของกองทัพ กลายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหาร และเป็นประเด็นที่ ICRC มีความเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เนื่องจากปฏิบัติการที่ว่านี้อาจขัดขวางการทำงานของระบบพื้นฐานที่มีความจำเป็น รวมไปถึงปฏิบัติการฉุกเฉินทางมนุษยธรรมและระบบบริการของพลเรือน
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจำกัดปฏิบัติการด้านไซเบอร์ในสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่กฎหมายตัวนี้เข้ามาควบคุมการใช้อาวุธและวิธีการในการทำสงครามด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนจะต้องถูกปกป้องจากการโจมตีทางไซเบอร์ ประเด็นนี้มีระบุอยู่ในหลักสัดส่วน และข้อความระวังในการโจมตี นอกจากนี้ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง การใช้อุปกรณ์ไซเบอร์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไม่เลือกเป้าหมายก็ถูกห้ามอย่างเด็ดขาด
จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐหรือบุคคล ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ?
หัวใจสำคัญในการจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธคือการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้คู่ขัดแย้งป้องกันและระงับการละเมิดข้อกำหนดต่างๆ รวมไปถึงการปราบปรามการละเมิดอื่นๆ
รัฐผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรม จะต้องชดเชยค่าเสียหายต่อความสูญเสียและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ในขณะที่บุคคลที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามจะต้องถูกค้นหา สอบสวน และดำเนินคดี รัฐสามารถบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ว่าผ่านระบบกฎหมายภายในประเทศ ช่องทางทางการทูต หรือกลไกอื่นๆ ที่มีไว้สำหรับระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ
อาชญากรรมสงครามสามารถทำการสอบสวนและตัดสินได้ภายในรัฐ หรือในบางกรณี อาจมีการส่งเรื่องตัดสินไปทางศาลระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ก็สามารถใช้มาตรการเพื่อบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คณะมนตรีความมั่นคงอาจบังคับรัฐให้ปฏิบัติตามพันธกรณีหรือจัดตั้งศาลเพื่อสอบสวนการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
หากคุณสนใจอยากเข้าใจกฎหมายมนุษยธรรมอย่างละเอียด สามารถดาวน์โหลดเอกสาร ถาม-ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรม หรือดาวน์โหลดอนุสัญญาเจนีวาฉบับลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1949 และพิธีสารเพิ่มเติม
References แปลและเรียบเรียงจาก Frequently asked questions on the rules of war