ร่างผู้เสียชีวิตจากสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์สถูกค้นพบเพื่อส่งคืนอาร์เจนติน่าหลังสงครามผ่านมา 38 ปี 

บทความ / บล็อค

ร่างผู้เสียชีวิตจากสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์สถูกค้นพบเพื่อส่งคืนอาร์เจนติน่าหลังสงครามผ่านมา 38 ปี 

Guerre des Malouines. Falklands War.

หลายคนจดจำสหราชอาณาจักรในฐานะจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน เขตแดนของอังกฤษในศตวรรษที่ 19-20 ขยายอำนาจกว้างใหญ่ไพศาลแม้แต่อาณาจักรโรมันโบราณก็ไม่สามารถทาบรัศมีได้ อย่างไรก็ดี ดินแดนทั้งหมดนี้แทบจะล้มหายไปสิ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ 20 ครั้งสุดท้ายที่สหราชอาณาจักรต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนต่างชาติที่อยู่ในครอบครอง คือการต่อสู้เพื่อปกป้องเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ที่มีประชากรไม่มากไปกว่าหนึ่งหมู่บ้าน เกาะที่ว่าเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอังกฤษภายใต้ชื่อ ‘หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ส’ แต่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอาร์เจนติน่าว่า ‘หมู่เกาะมัลบินัส’

แผนที่แสดงการเดินทางจากเกาะอังกฤษไปยังหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ส

หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ส (หรือหมู่เกาะมัลบินัส) เป็นชนวนปัญหาระหว่างสหราชอาณาจักรและอาร์เจนติน่ามาอย่างยาวนาน อังกฤษยึดเอาเกาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ ในขณะที่อาร์เจนติน่า หลังประกาศอิสรภาพจากสเปน ก็อ้างสิทธิ์ในหมู่เกาะโดยกล่าวว่าหมู่เกาะมัลบินัสเป็นเขตแดนเก่าใต้อาณานิคมของสเปน ความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะฟอล์กแลนด์สมาปะทุในปี 1982 ตรงกับสมัยของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ ของอังกฤษ รัฐบาลแทตเชอร์ในตอนนั้น ต้องรับบทหนักจากสภาพเศรษฐกิจถดถอย อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูง ร่วมไปถึงการแบ่งแยกดินแดนในไอร์แลนด์เหนือ เมื่ออาร์เจนตีน่าเปิดสงครามเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ส ประชาชนในอังกฤษได้ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลปกป้องประชากร 1,600 คนบนเกาะ เพราะต่างมีสถานะเป็นพลเมืองของประเทศ (ผลสำรวจประชาชนอังกฤษที่ติดตามข่าวการโจมตีหมู่เกาะพบว่าพลเมืองถึง 88% ต้องการให้รัฐบาลปกป้องชาวเกาะ ในขณะที่ 41% ขอให้รัฐบาลตอบโต้ด้วยการใช้กำลัง)

มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกับทหารหลังชนะสงครามบนหมู่เกาะ

การต่อสู้เพื่อแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์สจบลงในเวลาเพียง 2 เดือน โดยชัยชนะเป็นของสหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่าสูญเสียทหาร 649 นาย ฝ่ายอังกฤษเสียทหาร 225 นาย มีชาวเกาะเสียชีวิตระหว่างการโจมตี 3 คน

แม้สงครามครั้งสุดท้ายในการปกป้องเขตแดนต่างชาติของสหราชอาณาจักรจะผ่านมาแล้วถึง 38 ปี แต่ผลกระทบจากความสูญเสียไม่ได้จางหาย ทหารชาวอาร์เจนติน่าจำนวนหนึ่งกลายเป็นบุคคลสูญหาย ครอบครัวของพวกเขายังไม่หยุดตามหาด้วยหวังว่าจะได้พบร่างของบุคคลอันเป็นที่รัก ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และรัฐบาลสองประเทศ เจ้าหน้าที่แผนกนิติวิทยาศาสตร์ของ ICRC ได้ทำการตรวจสอบร่างนิรนามในสุสาน Darwin จนนำไปสู่การระบุตัวตนเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นายซึ่งเสียชีวิตในสงคราม และได้ทำการส่งคืนร่างผู้เสียชีวิตให้แก่ครอบครัวเพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้ถูกฝังอย่างสมศักดิ์ศรี

ทีมงาน ICRC ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ซึ่งคาดว่าอาจเป็นสุสานทหาร เพื่อติดตามร่างของผู้เสียชีวิตที่ยังตกค้างจากการรบ “ครอบครัวมีสิทธิ์รู้ชะตากรรมของบุคคลอันเป็นที่รัก นั่นเป็นหนึ่งในพันธกิจด้านมนุษยธรรม พวกเรามีความยินดีที่ได้ทำหน้าที่นี้ หน้าที่ในการค้นหาคำตอบให้การรอคอยอันยาวนาน” Gilles Carbonnier รองประธาน ICRC กล่าว

ทีมงาน ICRC เข้าทำงานในพื้นที่หลังสงครามจบลงหลายสิบปีโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาร์เจนติน่าและสหราชอาณาจักรในการระบุอัตลักษณ์ทหารที่เสียชีวิตจากสงครามเพื่อส่งคืนภูมิลำเนา

“วันนี้เราได้ส่งต่อการค้นพบของเราให้รัฐบาลทั้งสองประเทศ ความสำเร็จของเราเป็นไปได้ ก็ด้วยการสนับสนุนจากอาร์เจนติน่าและสหราชอาณาจักร” รองประธาน ICRC กล่าวขอบคุณรัฐบาลสองประเทศที่เปิดประตูให้เจ้าหน้าที่ของเราสามารถปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมอย่างอิสระ เป็นกลางและไม่เลือกข้าง ผลของการค้นพบ ถูกส่งมอบให้ตัวแทนรัฐบาลคือนาย Federico Villegas และนาย Simon Manley เอกอัคราชทูตอาร์เจนติน่าและเอกอัคราชทูตสหราชอาณาจักรประจำสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระระบุตัวตนด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราสามารถมอบคำตอบให้ครอบครัวของทหาร ที่ยังคงรอค่อยร่างของบุคคลอันเป็นที่รัก

โครงการติดตามหาร่างผู้เสียชีวิตบนเกาะฟอล์กแลนด์สในครั้งนี้ ถือเป็นเฟสที่สองของความร่วมมืออันยาวนาน โดยในเฟสแรก ICRC ได้ระบุอัตลักษ์นายทหาร 115 คน จากจำนวนร่างผู้เสียชีวิต 122 ร่าง ผ่านการตรวจ DNA และได้มีการส่งคืนร่างผู้เสียชีวิตกลับคืนสู่ภูมิลำเนา เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือเช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อไป เพราะการตามหาบุคคลสูญหายไม่ได้จบลงที่การเสียชีวิต แต่คือการมอบคำตอบให้กับบุคคลที่อยู่ข้างหลัง

“ไม่ว่าเป็นหรือตาย ครอบครัวมีสิทธิ์รู้ชะตากรรมของสมาชิกในครอบครัว”

References:

ซัตเทอร์แลนด์, จอห์น. วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ. – กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป, 2561. (273-276)

A Brief History of the Falklands War – https://www.smithsonianmag.com/history/brief-history-falklands-war-180976349/

How the Falklands War fired up Britain – https://www.historyextra.com/period/how-the-falklands-war-fired-up-britain/

แบ่งปันบทความนี้