คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1863 โดยมีภารกิจด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการสู้รบและสถานการณ์รุนแรงอื่นที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงส่งเสริมและเสริมสร้างความรู้เรื่องกฎหมายมนุษยธรรมและหลักการมนุษยธรรมสากลเพื่อป้องกันความเดือดร้อนและจำกัดผลกระทบจากการสู้รบ ตามพันธกิจที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ตลอดระยะเวลาเกือบ 160 ปีที่ผ่านมา ไอซีอาร์ซีปฏิบัติงานโดยยึดมั่นในหลักการแห่งความเป็นกลาง เป็นอิสระ และไม่เลือกปฏิบัติ และความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศทั่วโลก
ไอซีอาร์ซีมีสำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 20,000 คน ปฏิบัติหน้าที่ประจำพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ งบประมาณส่วนใหญ่ของไอซีอาร์ซีมาจากการบริจาคโดยรัฐบาลและสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงทั่วโลก
กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Red Cross and Red Crescent Movement – the Movement)
ไอซีอาร์ซีเป็นผู้ริเริ่มจัดทำอนุสัญญาเจนีวาและจัดตั้งกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ซึ่ง “กลุ่มองค์กรกาชาดฯ” นี้ประกอบด้วย ไอซีอาร์ซี สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies – IFRC) และสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงของแต่ละประเทศ โดยไอซีอาร์ซีทำหน้าที่กำกับและประสานงานกิจกรรมระหว่างประเทศของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ในพื้นที่ที่มีการขัดกันทางอาวุธและสถานการณ์รุนแรงอื่น
สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศทำหน้าที่ส่งเสริมงานด้านมนุษยธรรมของสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงในแต่ละประเทศ ประสานความร่วมมือด้านการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในการป้องกันและลดความรุนแรงของผลกระทบจากภัยพิบัติ
สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงของแต่ละประเทศถือเป็นหน่วยงานหลักที่ทำให้การดำเนินงานและหลักการของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ปรากฏเด่นชัดในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยทำหน้าที่เสริมหนุนงานด้านมนุษยธรรมของภาครัฐในประเทศ ได้แก่ การบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ บริการด้านสุขภาพและสังคม ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบและสถานการณ์รุนแรงอื่น ปัจจุบัน มีการก่อตั้งสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงแล้วในกว่า 192 ประเทศทั่วโลก
เครื่องหมายแห่งมนุษยธรรม
เครื่องหมายของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ได้แก่ กาชาด (Red Cross) เสี้ยววงเดือนแดง (Red Crescent) และ คริสตัลแดง (Red Crystal) ถือกำเนิดขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ 1. การใช้สัญลักษณ์เพื่อการคุ้มครองในการสู้รบ โดยสัญลักษณ์นี้จะเป็นเครื่องหมายขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจนเพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคลากร อาคารสถานที่ และยานพาหนะ ตามอนุสัญญาเจนีวา และ 2. การใช้สัญลักษณ์เพื่อการบ่งชี้ว่าบุคคลหรือวัตถุมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่า
กลุ่มองค์กรกาชาดฯ เสนอให้ใช้ คริสตัลแดง (Red Crystal) เป็นเครื่องหมายเพิ่มเติมจากเครื่องหมายกาชาดเสี้ยววงเดือนแดง เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2005 เพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้เครื่องหมายที่ปราศจากนัยยะทางการเมือง ศาสนา หรือนัยยะอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อหน่วยบริการทางการแพทย์ของกองกำลังทหาร ตลอดจนบุคลากรที่ทำงานด้านมนุษยธรรม
ทั้งนี้ บุคลากรในกลุ่มองค์กรกาชาดฯ มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในยามจำเป็น และทุกประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวาฯ มีพันธกรณีที่จะต้องกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการใช้เครื่องหมายกาชาดในทางที่ผิดในทุกโอกาส และจะต้องออกกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายเหล่านี้ด้วย การใช้เครื่องหมายกาชาดเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดซึ่งมิได้อนุญาตไว้ในอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติม ถือว่าเป็นการใช้เครื่องหมายกาชาดในทางที่ผิดทั้งสิ้น สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2499 ได้ระบุโทษสำหรับผู้กระทำผิดโดยใช้เครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาดหรือใช้เครื่องหมายหรือถ้อยคำเลียนแบบเครื่องหมายกาชาด โดยไม่มีสิทธิตามอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติม อันรวมถึงการใช้เครื่องหมายหรือถ้อยคำเลียนแบบเครื่องหมายกาชาดโดยมุ่งหมายทางการเงินหรือการพาณิชย์
ไอซีอาร์ซีในประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
ไอซีอาร์ซีดำเนินงานด้านมนุษยธรรมในประเทศไทยมานานกว่าห้าทศวรรษ โดยเริ่มก่อตั้งสำนักงานเมื่อ พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามอินโดจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมา พ.ศ. 2536-2543 (ค.ศ. 1993-2000) ไอซีอาร์ซีในไทยได้เริ่มปรับบทบาทเป็นสำนักงานภูมิภาค โดยขยายขอบข่ายงานครอบคลุมประเทศ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมีสำนักงานภูมิภาคในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการประสานงานและช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานด้านมนุษยธรรมผ่านความร่วมมือกับสภากาชาดในประเทศ และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในหลากหลายระดับ ปัจจุบัน สำนักงานไอซีอาร์ซีในประเทศไทยได้ขยายขอบข่ายงานเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทำงานครอบคลุมการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญกับหน่วยงานและองค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม