สถานะของบุคลากรทางการแพทย์: ชัดเจนหรือไม่

บทความ / บล็อค

สถานะของบุคลากรทางการแพทย์: ชัดเจนหรือไม่

การให้ความคุ้มครองแก่ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อันที่จริงแล้วสนธิสัญญาที่ข้องเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีฉบับแรกได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ฃต่อมาบรรดารัฐยังได้พัฒนากรอบกฎหมายในเรื่องดังกล่าวผ่านสนธิสัญญาอีกด้วย กฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในสนธิสัญญาดังกล่าวจึงกลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณี นอกจากนี้หลักการคุ้มครองดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับเป็นที่ยุติตามกฎหมายแม้ในความขัดแย้งต่าง ๆ จะปรากฏว่ามีการโจมตีบุคลากรทางการแพทย์อยู่บ่อยครั้งก็ตาม ถึงกระนั้นความเห็นอย่างกว้างเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และหลักการทั่วไปกลับทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการตีความและการปรับใช้กฎหมาย ในบทความของศาสตราจารย์ Marco Sassòli (โปรดดูได้ที่นี่และที่นี่) ได้กล่าวถึงความไม่แน่นอนข้างต้น ประกอบกับมีบางประเด็นที่ควรค่าแก่การนำมาอภิปรายเพิ่มเติม ในบทความนี้ข้าพเจ้าได้อภิปรายในสามประเด็น ได้แก่ ข้อกำหนดให้มีการรักษาพยาบาลแก่บุคคลที่สังกัดกองทัพในฝ่ายตน การกำหนดสถานะบุคลากรทางการแพทย์ และการสูญเสียสิทธิแห่งความคุ้มครองของบุคคลเช่นว่า

ข้อกำหนดให้มีการรักษาพยาบาลแก่บุคคลที่สังกัดกองทัพในฝ่ายของตน

บทบัญญัติของสนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ระบุให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ (ข้อที่ 12(2) และ 15(1) ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง ข้อที่ 12(2) และ 18(1) ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง ข้อที่ 16(1) ของอนุสัญญาฉบับที่สี่ และข้อที่ 10 ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง) การปฏิเสธไม่ให้การดูแลรักษาทางการแพทย์ดังกล่าวแก่กองกำลังทหารของฝ่ายศัตรูผู้ที่ยุติการเข้าร่วมสงครามหรือแก่พลเรือนถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ศาสตราจารย์ Sassòli ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดว่า การพิจารณาถึงขอบเขตการให้การดูแลรักษาทางการแพทย์เห็นควรต้องพิจารณาโดยอาศัยเกณฑ์ความเป็นไปได้ (feasibility standard) ศาสตราจารย์ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจโดยเฉพาะในความเห็นที่ว่า “ฝ่ายที่เข้าร่วมในสงครามแต่ไม่จัดให้มีบริการทางการแพทย์นั้น ถือว่ากระทำการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อกองทัพในฝ่ายของตน” ความเห็นดังกล่าวโดยผิวเผินอาจดูไม่สอดคล้องกับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่โดยทั่วไปจะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองคู่สงครามจากความร้ายแรงอันเกินขนาดที่เกิดจากการทำสงคราม

ประเด็นนี้ควรต้องนำมาพิจารณาไปพร้อมกับคำพิพากษาในชั้นพิจารณาการอุทธรณ์ในคดี Ntaganda ของศาลอาญาระหว่างประเทศที่เพิ่งมีคำตัดสินไปเมื่อไม่ถึงสองปีที่ผ่านมานี้ องค์คณะพิจารณาการอุทธรณ์ตัดสินว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดการกระทำความผิดโดยการก่ออาชญากรรมสงครามในฐานข่มขืนและการทำให้เป็นทาสทางเพศต่อผู้ที่สังกัดกองทัพในฝ่ายของตน คำตัดสินดังกล่าวจึงกลายเป็นที่ถกเถียง จะเห็นได้ว่าคำตัดสินของศาลตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่สังกัดในกองทัพของรัฐใดรัฐหนึ่งจากการกระทำของรัฐนั้นเอง คำพิพากษาฉบับนี้ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นคำพิพากษาที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ อีกทั้งอาจกล่าวได้อีกว่าคำตัดสินนี้มีส่วนสำคัญต่อกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ หรือในอีกมุมหนึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการทำให้ความชอบธรรมของตัวศาลและกฎหมายถดถอยลง แล้วแต่ความเห็นของแต่ละบุคคล

ถึงกระนั้นก็ตาม มีเหตุผลหลากหลายที่สนับสนุนความเห็นที่ว่าการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้นั้นควรพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ประการแรกคำนิยามของผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่ได้อ้างอิงถึงสัญชาติหรือสังกัดของบุคคลเช่นว่า (โปรดดู ข้อที่ 8(a) ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง) อีกทั้งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังกำหนดให้การดูแลรักษาทางการแพทย์เป็นไป “โดยไม่คำนึงถึงลักษณะความแตกต่างอันเป็นผลเสื่อมเสีย” ซึ่งรวมไปถึงการเลือกปฏิบัติโดยเหตุผลทางด้านสัญชาติ (โปรดดู ข้อที่ 12(2) ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง) ด้วยสาเหตุนี้แม้กระทั่งผู้ที่วิจารณ์คำพิพากษาในคดี Ntaganda อย่างรุนแรงก็ยังไม่ท้วงติงในข้อสังเกตของคณะพิจารณาการอุทธรณ์ที่ว่า “การละเมิดร้ายแรงต่ออนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่งและฉบับที่สองมีใจความรวมไปถึงการละเมิดต่อผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ หรือที่เรือต้องอับปาง ที่กระทำโดยผู้สังกัดในกองทัพของฝ่ายตน” อีกทั้งตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศการละเว้นจากการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ และเจ็บไข้ ตลอดจนบุคคลที่สังกัดในกองทัพของฝ่ายตนสามารถถือได้ว่าเป็นการจงใจก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน หรือประทุษร้ายต่อร่ายกายหรือสุขภาพของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง (ข้อที่ Art 8(2)(a)(iii) ของธรรมนูญกรุงโรม)

นอกจากนี้ พันธกรณีที่กำหนดให้รัฐต้องให้การดูแลรักษาทางการแพทย์ ยังมีที่มาจากอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน โดยอนุสัญญาเหล่านี้ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิต (ข้อที่ 6 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) กับสิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดี (ข้อที่ 12 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม) และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม (ข้อที่ 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) แม้ว่าจะยังไม่สามารถหาข้อยุติได้สำหรับการปรับใช้สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ แต่ศาลก็ควรให้การสนับสนุนแนวคิดที่ว่า บุคคลสังกัดในกองทัพและอยู่ภายในประเทศตนควรได้รับความคุ้มครองตามหลักประกันภายใต้สิทธิมนุษยชน เพราะแม้กระทั่งปฏิบัติการที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตประเทศก็ยังได้รับความคุ้มครองตามสิทธิมนุษยชน

โดยสรุปแล้วกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนต่างกำหนดพันธกรณีสำหรับรัฐในการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่บุคคลที่สังกัดในกองทัพของฝ่ายตนในยามสงคราม จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยตามมาอีกว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่กองทัพต้องจัดให้มีบุคลากรทางการแพทย์ไว้โดยเฉพาะ เนื่องจากพบว่ารัฐบางรัฐและกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มเลือกที่ไม่กำหนดสถานะ “บุคลากรทางการแพทย์” ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้แก่สมาชิกกองทัพผู้ได้รับการอบรมเฉพาะทางทางด้านการแพทย์ อีกทั้งยังพบว่ามีการกระทำในรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น

แม้ศาสตราจารย์ Sassòli จะยอมรับว่าบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรของอนุสัญญากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายในความขัดแย้งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นทหารไว้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ดีท่านได้เสนอว่า “เจตนารมณ์ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” กำหนดให้มีบุคลากรทางการแพทย์ไว้โดยเฉพาะ แต่จะมีผู้ปฏิบัติตามหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีความเห็นไปในทางใด บางรัฐอาจอาศัยเหตุผลในทางปฏิบัติตัดสินใจที่จะไม่กำหนดหน้าที่ทางการแพทย์ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเมื่อหน่วยปฏิบัติการณ์มีขนาดเล็ก ตราบใดที่ฝ่ายในความขัดแย้งสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในการให้ความดูแลช่วยเหลือแก่ผู้ที่บาดเจ็บและเจ็บไข้ ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ตามกฎหมายที่จะต้องกำหนดให้บุคลากรเฉพาะบางประเภททำหน้าที่ให้ความดูแลช่วยเหลือดังกล่าว

การกำหนดสถานะบุคลากรทางการแพทย์

ไม่จำเป็นเสมอไปที่บุคลากรผู้ได้รับการฝึกฝนทางการแพทย์หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเวชปฏิบัติจะได้รับสถานะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การที่จะได้รับสถานะพิเศษดังกล่าวตามกฎหมาย ฝ่ายในความขัดแย้งต้องเป็นผู้กำหนดให้บุคลากรเช่นว่าปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ อย่างไรก็ดียังคงมีข้อสงสัยต่าง ๆ ตามมา

ศาสตราจารย์ Sassòli ให้ความเห็นว่า “บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในการให้บริการสาธารณสุขในภาครัฐอาจได้รับการ “กำหนดให้มีสถานะเป็นบุคลากรทางการแพทย์” โดยอัตโนมัติ เนื่องจากตามข้อเท็จจริงแล้วการให้บริการสาธารณสุขในภาครัฐถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการสาธารณะโดยฝ่ายในความขัดแย้ง ในทางกลับกันสำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการสาธารณสุขในภาคเอกชน ต้องมีการดำเนินการทางด้านนิติบัญญัติหรือทางปกครองเป็นกรณีพิเศษ เพื่อกำหนดให้พนักงานผู้สังกัดในองค์กรเอกชนที่ให้บริการทางด้านสาธารณสุขได้รับสถานะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เหตุผลข้างต้นจึงฟังดูแล้วมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก กระนั้นก็ตามยังไม่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างการให้บริการสาธารณสุขในภาครัฐและภาคเอกชนออกจากกันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะใช้เวลาส่วนหนึ่งสำหรับปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ในบริการสาธารณสุขของภาครัฐและอีกส่วนหนึ่งในภาคเอกชน จะถือได้หรือไม่ว่าการปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลรัฐเป็นเวลาหนึ่งวันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอที่จะกำหนดสถานะให้บุคลากรดังกล่าวเป็นบุคลากรทางการแพทย์แบบถาวร (permanent medical personnel) หรือต้องมีการนำแนวคิดเรื่องบุคลากรทางการแพทย์แบบชั่วคราว (temporary medical personnel) กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

ในบางครั้งก็เกิดคำถามเกี่ยวกับฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) กล่าวคือ ฝ่ายดังกล่าวมีอำนาจในการกำหนดสถานะให้กับบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ และถ้ามีจะต้องกระทำด้วยวิธีใด เมื่อปรากฏว่าฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐเข้าร่วมเป็นฝ่ายในความขัดแย้งและต้องอยู่ภายใต้พันธกรณีในการให้การดูแลรักษาทางการแพทย์แก่ผู้บาดเจ็บและเจ็บไข้ จึงสามารถอนุมานได้ว่าฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐดังกล่าวสามารถกำหนดสถานะบุคลากรทางการแพทย์ การตีความกฎหมายเช่นนี้สามารถอ้างอิงได้จากพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สองที่กำหนดให้มีการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์โดยไม่มีข้อยกเว้น อันครอบคลุมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ของทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ (non-international armed conflict) (ข้อที่ 9 ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สอง) การที่ฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐสามารถกำหนดสถานะบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบกับมีข้อห้ามการลงโทษบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ “โดยไม่คำนึงถึงว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว” (ข้อที่ 10(1) ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สอง) จึงก่อให้เกิดความยุ่งยากในการรับมือกับกลุ่มติดอาวุธที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อการร้าย ตัวอย่างเช่น กองทัพออสเตรเลียที่ต่อสู้กับกลุ่มดาอิช (Daesh) จะสามารถจับกุมหรือตั้งข้อกล่าวหาสำหรับการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายกับแพทย์สัญชาติออสเตรเลียผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ให้กับกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวได้หรือไม่ (ตัวอย่างดังกล่าวไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงเสียทีเดียว)

การสูญเสียสถานะความคุ้มครองของบุคลากรทางการแพทย์

กฎหมายมนุษยธรรมไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าความคุ้มครองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จะระงับเมื่อใด เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าการสูญเสียความคุ้มครองดังกล่าวสามารถเทียบเคียงได้จากกฎเกณฑ์ที่ปรับใช้กับหน่วยทางการแพทย์ (medical unit) ซึ่งกำหนดไว้ว่าหน่วยทางการแพทย์จะเสียสิทธิแห่งความคุ้มครองก็ต่อเมื่อหน่วยทางการแพทย์นั้นใช้เพื่อกระทำการ ”นอกหน้าที่ทางมนุษยธรรมเพื่อกระทำการอันเป็นภยันตรายแก่ฝ่ายศัตรู” (ข้อที่ 21 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง ข้อที่ 34 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง และข้อที่ 13 ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง) อย่างไรก็ดีศาสตราจารย์ Sassòli เห็นว่าหากนำมาเทียบเคียงปรับใช้แก่กรณีที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ กรณีที่จะถือว่าก่อให้เกิดภยันตรายแก่ฝ่ายศัตรูจะต้องปรากฏว่ามีการเข้าร่วมโดยตรงในการสู้รบ ทั้งนี้ท่านยอมรับว่าความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนน้อย เพราะว่านักกฎหมายส่วนมากจะใช้มาตรฐานที่ต่ำกว่าในการพิจารณาระดับการกระทำที่ก่อให้เกิดภยันตราย

อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าเห็นไปในทางเดียวกับความเห็นส่วนมาก แต่ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนกว่าเพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าเห็นว่าความคุ้มครองจะถูกระงับก็ต่อเมื่อครบสององค์ประกอบ ทั้งนี้องค์ประกอบทั้งสองอาจเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้

สำหรับองค์ประกอบแรก สิทธิพิเศษแห่งความคุ้มครองระงับไปด้วยการกระทำที่เป็นภยันตรายแก่ฝ่ายศัตรู หมายความว่าพันธกรณีที่กำหนดให้ฝ่ายที่เข้าร่วมในความขัดแย้งต้องเคารพและคุ้มครองบุคคลที่มีสถานะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ (ข้อที่ 24 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง) หรือหน่วยทางการแพทย์ (ข้อที่ 19 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง) เป็นที่สิ้นสุดลง ทำให้แต่ละฝ่ายในความขัดแย้งไม่มีหน้าที่ที่จะต้องให้การปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือแก่บุคลากรหรือหน่วยทางการแพทย์ อีกทั้งบุคลากรหรือหน่วยทางการแพทย์ก็ไม่มีสิทธิในการปฏิบัติงานโดยปราศจากการรบกวน ทำให้ฝ่ายศัตรูสามารถเข้าขัดขวางการดำเนินการต่าง ๆ ได้

สำหรับองค์ประกอบที่สอง คำถามที่ว่าการโจมตีบุคลากรหรือหน่วยทางการแพทย์จะสามารถกระทำได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาแยกออกจากคำถามที่ว่าบุคลากรหรือหน่วยทางการแพทย์สูญเสียสิทธิแห่งความคุ้มครองหรือไม่ ข้อที่ควรพิจารณาสำหรับหน่วยทางการแพทย์จึงมีอยู่ว่าเมื่อสิทธิแห่งความคุ้มกันระงับไป การโจมตีนั้นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการทหารหรือไม่ (โปรดดูข้อที่ 52(2) ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง) เป็นที่เข้าใจได้ว่าหน่วยทางการแพทย์ของทหารจะสูญเสียสิทธิแห่งหากความคุ้มครองเมื่อถูกนำไปใช้งานเพื่อก่อให้เกิดภยันตรายแก่ฝ่ายศัตรู อย่างไรก็ตามการทำลายหน่วยทางการแพทย์นั้นไม่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการทหารที่เป็นรูปธรรมหรือวัตถุประสงค์ทางทหารที่ชอบธรรมได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการโจมตีหน่วยทางการแพทย์ในกรณีเช่นนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ ก็ใช้ข้อพิจารณาทางกฎหมายเดียวกันกับกรณีข้างต้นเพียงแต่ว่าต้องพิจารณาไปถึงสถานะของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นพลเรือนและสูญเสียสิทธิแห่งความคุ้มครองก็จะมีสถานะกลายเป็นพลเรือนทั่วไป โดยยังคงสถานะที่ต้องได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นการพิจารณาว่าจะสามารถกำหนดเป้าหมายโจมตีบุคคลดังกล่าวได้หรือไม่จึงต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงกว่าโดยพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวมีส่วนเข้าร่วมโดยตรงในการสู้รบหรือไม่ อย่างไรก็ดีการพิจารณาด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจไม่ทำให้เกิดผลที่น่าพึงพอใจหากบุคลากรทางการแพทย์มีสังกัดอยู่ในกองทัพ เพราะเมื่อใดที่บุคลากรผู้นั้นสูญเสียสิทธิแห่งความคุ้มครองก็จะมีสถานะกลายเป็นผู้ที่สังกัดในกองทัพเหมือนผู้ทำการรบทั่วไปและสามารถตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีได้

ถ้าจะให้ยอมรับตามความเห็นส่วนใหญ่ที่เห็นว่า การกระทำที่เป็นภยันตรายแก่ฝ่ายศัตรูอันจะทำให้ความคุ้มครองระงับไปนั้น ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดที่มีการเข้าร่วมโดยตรงในการสู้รบ ก็สร้างข้อสงสัยอีกว่า แล้วในกรณีใดบ้างที่สิทธิแห่งความคุ้มครองจะระงับไป ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์กระทำการนอกขอบเขตหน้าที่ทางการแพทย์ของตนอย่างชัดเจน อาทิ การฝึกฝนการใช้อาวุธให้กับผู้ที่สังกัดในกองทัพ อย่างไรก็ดีดังที่ข้าพเจ้าเคยแสดงความเห็นไว้ในบทความชิ้นอื่น การกระทำที่เป็นภยันตรายแก่ฝ่ายศัตรูนั้นรวมไปถึงการดำเนินการทางชีวเวชที่นอกเหนือขอบเขตของการแพทย์เพื่อการรักษาผู้บาดเจ็บหรือเจ็บไข้ กรณีการดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ (human performance enhancement procedures) ก็สามารถถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภยันตรายแก่ฝ่ายศัตรู อีกทั้งในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ที่สังกัดกองทัพมีส่วนร่วมในการประเมินความพร้อมของผู้ทำการรบหรือในการเกณฑ์ทหารนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นว่ากรณีเช่นว่าเป็นกรณีการดำเนินการทางการแพทย์ที่ควรได้รับความคุ้มครอง

***

หากพิจารณาตามกฎหมายแล้วอาจพบว่าการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บาดเจ็บและเจ็บไข้นั้นไม่มีความซับซ้อน แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น การปรับเปลี่ยนยุทธวิธี การเข้ามามีบทบาทที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ ตลอดจนพัฒนาการทางเทคโนโลยีล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบ ดังนั้นกฎเกณฑ์พื้นฐานที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่งและฉบับที่สองจึงสมควรนำกลับมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้กฎหมายสามารถสนองต่อเป้าหมายของกฎหมายมนุษยธรรม

Footnotes

[1] Committing harmful acts that lead to the loss of special protection might, at the same time, be sufficient for detaining the persons in question on security grounds (as per APIV Art 5, Art 42, Art 43, and Art 78, and possibly Art 27(4)).

แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ: Status of medical personnel: Clear as mud?

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบ่งปันบทความนี้