อนุสัญญาเจนีวาเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่มีสาระสำคัญเรื่องกฎเกณฑ์และการจำกัดขอบเขตความรุนแรงของสงคราม อนุสัญญาที่ว่าปกป้องคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ (เช่น พลเรือน, บุคลากรทางการแพทย์ และ กลุ่มผู้ทำงานเพื่อการช่วยเหลือต่าง ๆ) รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถร่วมการสู้รบได้อีกต่อไป (เช่น ทหารผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วย ทหารเรืออัปปาง และ เชลยสงคราม)
.
อนุสัญญาเจนีวามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1864 ภายหลังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและเพิ่มกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงสภาพความเป็นจริงของสงคราม โดยการปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงเป็นเวลา 4 ปี สงครามครั้งนี้ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของมนุษยชาติเนื่องจากมีพลเรือนมากมายกลายตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี การแก้ไขอนุสัญญาเจนีวาครั้งนี้จึงมีการเพิ่มกฎการคุ้มครองพลเรือนเข้าไป ทำให้ในปัจจุบัน อนุสัญญาเจนีวาฉบับปี 1949 ประกอบไปด้วยอนุสัญญา 4 ฉบับ คือ
.
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 ว่าด้วยการคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยในการสงครามภาคพื้นดิน อนุสัญญาฉบับนี้ให้การรับรองว่าทหารที่ไม่สามารถทำการรบต่อ จะต้องได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม เข้าถึงการรักษาพยาบาล
.
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 2 คล้ายกับอนุสัญญาฉบับแรก แต่ขยายความคุ้มครองแบบเดียวกันให้ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรืออยู่ในสภาวะเรืออัปปาง ในภาวะสงครามทางน้ำ
.
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 กล่าวถึงการคุ้มครองเชลยสงคราม ระบุให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมาน สังหาร หรือถูกทารุณกรรมทางเพศ เชลยสงครามต้องได้รับอาหาร น้ำ เสื้อผ้า รวมไปถึงยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย พวกเขาสามารถเขียนจดหมายติดต่อกับครอบครัวได้ และต้องได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุดหากความขัดแย้งสงบลงแล้ว
.
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ให้ความคุ้มครองพลเรือน โดยเฉพาะพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม พลเรือนเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมาน สังหาร หรือถูกทารุณกรรมทางเพศ พวกเขาต้องเข้าถึงอาหารและยารักษาโรค อนุสัญญาฉบับนี้ยังได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ ICRC ในการเข้าเยี่ยมเพื่อมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับพลเรือนที่เดือดร้อน
.
อนุสัญญาเจนีวา เป็นข้อตกลงที่ถูกนำมาใช้ในยามสงคราม (ไม่ว่าจะเป็นการขัดกันทางอาวุธระหว่างรัฐกับรัฐ หรือการขัดกันทางอาวุธระหว่างรัฐกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ) โดยต้องถูกนำมาใช้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมืองเป็นอย่างไร
.
เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า ‘อนุสัญญาเจนีวาไม่สามารถปกป้องความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งก่อน (หมายถึงสงครามโลกครั้งที่ 2) จะมีประโยชน์อะไรในการร่างข้อความใหม่ที่ไม่มีใครเคารพอยู่ดี?’ Max Petitpierre ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ เคยกล่าวข้อความน่าสนใจในการประชุมสันติภาพเมื่อปี 1949
.
“จริงอยู่ว่าข้อความในอนุสัญญาปี 1929 (เกี่ยวกับการปฎิบัติต่อนักโทษสงคราม) ถูกละเมิดอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอนุสัญญาเจนีวาไม่สามารถช่วยชีวิตใคร ตราบใดที่ข้อตกลงยังมีอยู่ แม้มันจะได้รับการเคารพเพียงเล็กน้อย หรือได้รับการปฏิบิโดยคนกลุ่มเล็กๆ แต่การมีอยู่ของกติกา ก็สามารถรักษาชีวิตอันมีค่าของผู้คน
.
“ความมุ่งหวังที่จะควบคุมสงครามให้เคารพหลักมนุษยธรรมไม่ควรถูกยกเลิกเพียงเพราะการบังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างที่หวัง ในทางตรงกันข้าม เราควรมองบทเรียนที่ผ่านมาเป็นแรงบันดาลใจ และร่วมกันผลักดันประเด็นเหล่านี้ต่อไป โดยหวังว่าในสักวัน ประเทศต่างๆ จะเลิกใช้สงครามเพื่อเป็นทางออกของปัญหา”
.
ทุกวันนี้อนุสัญญาเจนีวายังคงยืนหยัดเพื่อเป็นหลักประกันกับมนุษยชาติ ดังเช่นที่เป็นมาในอดีตและสืบเนื่องต่อไปในอนาคต
.
ทำความเข้าใจอนุสัญญาเจนีวา ดาวโหลดอนุสัญญาเจนีวาฉบับแปลภาษาไทย โดยนักกฎหมายของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย