มะนิลา- ยังคงมีประชาชนกว่า 230,000 คน ที่ไร้ที่อยู่อาศัยและต้องการความช่วยเหลือ หลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งในเมืองมาราวี จังหวัด Lanao del Sur ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์อุบัติขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อน

“จะต้องมีการยกระดับความพยายามในการฟื้นฟูมาราวีและช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนหลายพันคนที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ความพยายามได้เกิดขึ้นแล้วแต่มาตรการนี้จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นมาเป็นเวลานาน” ปาสกาล ปอร์เช็ต ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ประจำฟิลิปปินส์กล่าว

จากมาตรการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การฟื้นฟูในระยะเบื้องต้นในปัจจุบัน ปรากฏว่าการบริจาคอาหารได้ลดจำนวนลงและโอกาสในการกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติแทบไม่เกิดขึ้น ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากต้องหันไปพึ่งพาญาติพี่น้องหรือเพื่อนขณะที่คนที่ยังอยู่ในพื้นที่พักพิงยังต้องต่อสู้กับความยากจนและโอกาสเจ็บป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น

“เป็นระยะเวลาหนึ่งปีมาแล้วที่การปะทะกันด้วยอาวุธได้เกิดขึ้นและเรายังไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ฉันเริ่มรู้สึกถึงปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้นและบางครั้งถึงกับทำให้ฉันรู้สึกท้อ แต่เพื่ออนาคตของลูกๆ ฉันต้องสู้ต่อไป” ไดแอน ซูมันกัน ผู้อพยพจาก Saguiaran กล่าว ในอดีตเธอเคยเป็นประชากรในหมู่บ้าน Bubonga Marawi ซึ่งเป็นหนึ่งใน 24 เขตหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งหนักหน่วงที่สุด

ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพ ยังคงประสบปัญหาทั้งความแออัด การขาดแคลนน้ำสะอาดและระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีจนกระทบไปถึงปัญหาด้านสุขภาพ . CC BY-NC-ND / ICRC / Ramin Hashempour

ครอบครัวพลัดถิ่นต้องต่อสู้เพื่อหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว  ต้องหาซื้อยาและพยายามดำเนินธุรกิจเล็กๆเพราะขาดโอกาสในการใช้ชีวิตเช่นปกติหรือแหล่งรายได้ที่ชัดเจน ปอร์เช็ตกล่าวเพิ่มเติม อนาคตที่ไม่แน่นอนทำให้ความวิตกกังวลของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น

เจ้าหน้าที่ประเมินว่ามีประชากรกว่า 65,000 คนจากพื้นที่การสู้รบหลักที่จะไม่สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมได้ภายใน 2-3 ปีนี้และพื้นที่พักพิงในหมู่บ้าน Sagonsongan เมืองมาราวี รองรับผู้พลัดถิ่นได้เพียง 6,000 คนเท่านั้น

“ICRC ยังคงให้การช่วยเหลือประชาชนที่อพยพหนีภัยการสู้รบและหยิบยกช่องว่างรวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการฟื้นฟูขึ้นมาพูดถึงภายใต้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และองค์กรความช่วยเหลืออื่นๆ” ปอร์เช็ตกล่าว

“ทว่าเจ้าหน้าที่คือต้นทางของการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ที่เกิดขึ้นภายในที่พักพิงเช่น การขาดแคลนน้ำสะอาดรวมถึงระบบระบายและบำบัดน้ำเสียควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด” เขาย้ำ

ในส่วนของงานด้านการติดตามหาญาติพี่น้องที่หายสาบสูญนั้นทาง ICRC และสภากาชาดฟิลิปปินส์ (PRC) ได้ให้ความช่วยเหลือกว่า 100 ครอบครัวที่พลัดพรากจากกันเพราะสถานการณ์การสู้รบนี้

“เราได้ยกระดับความพยายามในการช่วยเหลือครอบครัวเหล่านี้ มันมีความจำเป็นที่ต้องมีองค์กรที่เป็นกลางและเป็นอิสระเช่นกลุ่มองค์กรกาชาดอยู่ในพื้นที่ และหากใครที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูญหายก็สามารถติดต่อหน่วยงานกาชาดได้ทันที” Adriana Uribe Villa หัวหน้าทีมในมาราวีของ ICRC กล่าว

Jalil Radia ยังคงตามหาครอบครัวที่พลัดพรากระหว่างการปะทะเมื่อหนึ่งปีก่อนในมาราวี CC BY-NC-ND / ICRC / RAMIN HASHEMPOUR

ICRC ให้การสนับสนุนงานด้านการจัดการผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายตั้งแต่ที่วิกฤตความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น

นับตั้งแต่การปะทะกันได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ICRC ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสภากาชาดฟิลิปปินส์ในการช่วยเหลือประชาชนหลายพันคนที่ได้รับผลกระทบ จนถึงปัจจุบันหน่วยงานทั้งสองเน้นภารกิจในการช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นที่ยังคงตกค้างในมาราวีและจังหวัด Lanao del Sur ด้วยการช่วยให้พวกเขาเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและน้ำสะอาดอีกทั้งยังให้การฟื้นฟูรูปแบบการดำเนินชีวิตที่หายไป

“เรามีแผนที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดบางพื้นที่ในจังหวัด Lanao del Sur ทั้งนี้ต้องขอบคุณชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่” Uribe Villa กล่าว

ครอบครัวที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมากที่สุด กำลังได้รับสิ่งของที่เคยทิ้งไว้ตอนอพยพ CC BY-NC-ND / ICRC / Martin San Diego

ICRC เป็นองค์กรมนุษยธรรมที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และ เป็นอิสระ ภารกิจหลักของ ICRC คือการคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีของเหยื่อจากวิกฤตความขัดแย้งและสถานการณ์ความรุนแรงอื่นๆรวมถึงการให้ความช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น ICRC มีพันธกิจในการส่งเสริมความรู้และการเคารพในกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ