สุนทรพจน์โดยนายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่ วันที่ 2 มิถุนายน 2561ณ โรงแรมโรงแรมแชงกรี-ล่า ประเทศ สิงคโปร์
ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสนำมุมมองด้านมนุษยธรรมมาร่วมอภิปรายกับทุกท่านในที่นี้ ขอบคุณสถาบัน International Institute for Strategic Studies (IISS) ที่อนุญาตให้ ICRC ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากหลายประเทศซึ่งต่างก็มีความกังวลต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ประเทศเมียนมา – มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ประเด็นด้านมนุษยธรรม จำเป็นต้องได้รับการขยายความเพื่อประกอบสร้างเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานด้านความมั่นคง
ในมุมมองขององค์กรมนุษยธรรม สถานการณ์ในรัฐยะไข่ มีความใกล้เคียงกับหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
- การพลัดถิ่นของประชาการจำนวนมากอันเป็นผลมาจากความรุนแรง (ทางการเมือง ทางการทหาร และความขัดแย้งระหว่างชุมชน) นำไปสู่การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (international humanitarian rights law)
- เกิดวิกฤติในระยะยาว เมื่อการแก้ปัญหาด้านการเมืองยังไม่กระจ่างชัด ทำให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชากรในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนมาก และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือในระยะยาว
- ในขณะที่ความจำเป็นเร่งด่วนในเวลานี้ เป็นปัญหาใหญ่ในระดับโครงสร้าง (เช่น ปัญหาความยากจน, การถูกเลือกปฎิบัติ และปัญหาด้านการกำกับดูแล) ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบในระดับภูมิภาค
ในวันนี้ ICRC และหน่วยงานด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง เพื่อทำให้แน่ใจว่าประชาชนทั้งในรัฐยะไข่ และ คอกส์บาซาร์ (ประเทศบังกลาเทศ) จะได้รับความคุ้มครองและดูแลอย่างดีที่สุดตามหลักการและมาตรฐานการปฏิบัติ
ยกตัวอย่างเช่นที่รัฐยะไข่ในเวลานี้เรามีการแจกจ่ายอาหารเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าช่วยเหลือชุมชนทั้งหลายก่อนที่ฤดูฝนจะเริ่มขึ้นและหลายพื้นที่อาจไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ เรายังมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานในความร่วมมืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภากาชาดเมียนมา และ สหพันธ์กาชาดสากลและเสี้ยววงเดือนแดง ด้วยความร่วมมือเหล่านี้ เราจึงสามารถจัดตั้งคลินิกสุขภาพเคลื่อนที่ และสามารถแจกจ่ายชุดอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ICRC ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสืบหาญาติที่พลัดพราก พาครอบครัวที่ถูกแยกจากให้กลับมาเจอกันอีกครั้ง
ICRC ไม่เพียงมุ่งความช่วยเหลือไปที่ประชากรพลัดถิ่นเพราะความรุนแรง แต่ความช่วยเหลือของเรายังครอบคลุมไปถึงการปกป้องคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามตามหลักกฎหมายมนุษยธรรม ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ งานของเรามีส่วนเกี่ยวข้องในหลายกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและเข้าใจความขัดแย้งในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ความช่วยเหลือของ ICRC รวมไปถึง
- การเข้าเยี่ยมเรือนจำและสถานกักกันต่างๆ ทั้งในยะไข่รัฐอื่นในเมียนมา
- การสร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ สร้างบทสนทนาและเป็นตัวกลางในการสร้างความประนีประนอมระหว่างฝ่ายขัดแย้ง
- การให้ความรู้แก่กลุ่มติดอาวุธในด้านสุขอนามัย เช่น การปกป้องระบบสาธารณสุข สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการรักษาผู้บาดเจ็บจากการปะทะทางอาวุธ
ข้อสำคัญที่สุดของ ICRC ในการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่บนความเชื่อใจ เราให้ความช่วยเหลือแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกข้างและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเป็นที่ตั้ง
ในขณะที่การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินยังคงดำเนินอยู่ เรายังต้องมุ่งประเด็นความสนใจไปที่การสร้างแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนให้กับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ในตอนนี้เรามีโครงการระยะยาวด้านสุขภาพ เศรฐกิจ และ การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับคำแนะนำของนายโคฟี่ อันนัน ผู้นำคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการของนายอันนันเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเสนอให้เห็นว่างานด้านมนุษยธรรมจะสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการแก้ปัญหาทางการเมืองได้อย่างไร
เรายอมรับว่าการแก้ปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องยาก แต่เรายังเห็นว่าสภาพปัจจุบันของค่ายลี้ภัยไม่ดีพอสำหรับผู้อาศัย เราอยากให้แน่ใจว่าการแก้ปัญหาในระยะยาว จะนำไปสู่การเปิดทางให้ผู้พลัดถิ่นสามารถเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ด้วยความเต็มใจและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้ว่าในปัจจุบัน สถานการณ์ในรัฐยะไข่จะยังไม่พร้อมรองรับการเดินทางกลับภูมิลำเนาของผู้คนจำนวนมาก เราหวังว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต และในระหว่างนี้ ICRC จะดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบเท่าที่เป็นไปได้เพื่อให้ชีวิตของผู้คนในค่ายลี้ภัยในบังกลาเทศ มีพร้อมทั้งสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน และได้รับการปฎิบัติอย่างเคารพ กิจกรรมที่ว่ายังรวมไปถึง
- การสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มองค์กรกาชาดให้เป็นไปอย่างอิสระ
- การให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
- การให้ความช่วยเหลือด้านเศรฐกิจและการเข้าถึงตลาดในรัฐยะไข่อย่างอิสระ
- และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความไว้วางใจด้านการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับภูมลำเนา
ครอบครัวไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในเต้นผู้ลี้ภัยไปตลอด โดยเฉพาะในฤดูมรสุม
เด็กและเยาวชนไม่อาจพลาดโอกาสทางการศึกษา
คนเจ็บและผู้สูงอายุไม่สามารถใช้ชีวิตโดยขาดบริการด้านสาธารณสุข
ไม่มีใครสามารถใช้ชีวิตในสภาวะที่ไม่แน่นอน โดยที่ไม่คาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต
ในวันนี้ที่ข้าพเจ้ามีโอกาสกล่าวถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ต่อหน้าที่ประชุมในเอเชีย เราไม่อาจปฎิเสธได้ว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นในระดับภูมิภาค และทุกประเทศต่างต้องมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาทางการเมืองสำหรับวิกฤตนี้ เพราะมีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากเมียนมามากมายแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย ปัจจุบันรัฐยะไข่เป็นหนึ่งในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและยืดเยื้อมากที่สุด การมีส่วนร่วมของภูมิภาคจึงเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการปัญหาระดับโลกต่อไปในอนาคต
ท้ายที่สุดนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงข้อแนะนำ 3 ประการที่อาจเป็นแนวทางในการพัฒนาความช่วยเหลือทั้งด้านมนุษยธรรมและความมั่นคง:
- ให้ความสำคัญและเคารพศักดิ์ศรีของผู้พลัดถิ่นในบังคลาเทศ เปิดโอกาสและร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถเดินทางกลับบ้านได้อย่างอย่างปลอดภัย สมัครใจ และมีศักดิ์ศรี
- สนับสนุนรัฐบาลเมียนมาอย่างเต็มที่ ให้สามารถดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรัฐยะไข่ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม, การไกล่เกลี่ยและประนีประนอมรวมไปถึงการสร้างและพัฒนาหน่วยงานเพื่อดูแลจัดการปัญหาในระยะยาว
- ตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการด้านความปลอดภัยต่างๆ เป็นไปตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยไม่มีการมุ่งเป้าโจมตีไปที่พลเรือน ไม่สร้างความเสียหายที่ไม่จำเป็น และเป็นไปตามหลักความจำเป็นทางการทหาร
แปลจากบทความ Rakhine: Returns must be safe, dignified and voluntary