เป็นกลาง…ทำไม ว่าด้วยความเป็นกลางของงานมนุษยธรรมในพื้นที่สงคราม

บทความ

เป็นกลาง…ทำไม ว่าด้วยความเป็นกลางของงานมนุษยธรรมในพื้นที่สงคราม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความเรื่อง ‘Back to basics: humanitarian principles in contemporary armed conflict’ และเผยแพร่ควบคู่กับชุดบทความเรื่อง Just Security โดย ฟิโอนา เทอร์รี หัวหน้าศูนย์วิจัยและประสบการณ์งายฝ่ายปฏิบัติการ (CORE) ของ ICRC ได้อธิบายถึงเรื่องราวประสบการณ์ตรงของการเปลี่ยนผันตัวเองจากคนที่เคยมีความเคลือบแคลงใจต่อหลักความเป็นกลางไปสู่คนที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อเป้าประสงค์และประโยชน์ของการรักษาจุดยืนที่เป็นกลางใยห้วงยามที่สถานการณ์สงครามกำลังดำเนินอยู่

จริงหรือไม่ การรักษาความเป็นกลางถือเป็นเรื่องผิดศิลธรรม

ทุก ๆ ราวทศวรรษจะมีการโจมตีหลักการมนุษยธรรมของความเป็นกลาง ฉันเข้าใจว่าทำไมหลักการนี้ถึงถูกโจมตี เพราะตัวฉันเองก็เคยโจมตีหลักการที่ว่านี้มาแล้วเมื่อช่วงสองทศวรรษก่อน ในเอกสารการประชุม ของการอภิปรายภายในขององค์กรการแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières – MSF) เรื่องความเป็นไปได้ในการนำหลังความเป็นกลางออกจากกฎบัตรของ MSF

ฉันเห็นด้วยว่าควรนำหลักการนี้ออกไปเสีย โดยให้เหตุผลไว้ว่า การรักษาความเป็นกลางนั้นถือเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมหากมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงครามเกิดขึ้น การรักษาความเป็นกลางคือการทำให้ 1.ผู้กระทำการกดขี่ข่มเหง และ 2.ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกดขี่ข่มเหง อยู่ในฐานะที่มีความเท่าเทียมกัน สิ่งที่ฉันระบุคือ ความเป็นกลางให้สัตยาบันกฎหมายที่มีความเข้มงวดระดับสูงสุด โดยกล่าวอ้างถึงคำกล่าวของชาวมุสลิมในประเทศบอสเนียช่วงปี 1990 ที่กู่ร้องออกมาด้วยความโกรธแค้นว่า ‘เราไม่ต้องการคุณ เราต้องการอาวุธมาปกป้องตัวเรา… อาหารและยาที่พวกคุณให้มา ก็ช่วยให้เราแข็งแรง แต่ไม่ได้ช่วยให้เรารอดชีวิต’ ฉันกล่าวถึงความพยายามของ MSF ในการหยุดยั้งความโหดร้ายที่เกิดขึ้นด้วยการกล่าวประณามต่อสาธารณชน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเคารพเงื่อนไขข้อกำหนดของความเป็นกลาง โดยมีการ ‘งดเว้นไม่โต้เถียงในลักษณะทางการเมืองหรืออุดมการณ์’ และสิ่งที่ฉันอธิบายคือ มาตรวัดของความเป็นกลางที่แท้จริง คือการที่ทั้งสองฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งให้การยอมรับต่อหน่วยงานของตนเองต่างหาก ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะยืนยันหรือรับรองได้ อย่างน้อยในประเด็นสุดท้ายนี้ ฉันพูดถูก การรับรู้ถึงความเป็นกลางนั้นเป็นเรื่องยากจะยืนยันหรือรับรองได้จริง และยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกเพราะสื่อสังคมในยุคปัจจุบันมีบทบาทพัดกระพือเปลวไฟปัญหาให้ยิ่งลุกลามใหญ่โตจากการแบ่งปันข้อมูลที่ผิดเพี้ยน

ในส่วนของประเด็นอื่น ๆ ความเห็นของฉันไม่นับว่าถูกต้องนัก เพราะช่วงไม่กี่ปีต่อมา ฉันได้เข้าใจความเป็นจริงขณะลงพื้นที่ทำงานให้ ICRC ที่ประเทศเมียนมา และได้ทำการศึกษาภายในระยะเวลาสองปีเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นกลางของ ICRC ในประเทศซูดานและอัฟกานิสถาน ฉันจึงรู้ว่าตัวเองเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหลักความเป็นกลางด้านมนุษยธรรม แม้ว่าจะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในถ้อยคำของหลักการ ICRC ที่ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในการสู้รบหรือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งเนื่องจากต้องการ ‘ได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย’ จุดยืนนี้ไม่ใช่จุดยืนทางศีลธรรม แต่เป็นจุดยืนทางการปฏิบัติงานที่มุ่งให้เข้าถึงผู้ประสบภัยทั้งสองฝั่งของแนวปะทะได้ เป้าหมายของ ICRC ในการรักษาความเป็นกลางต่อทุกฝ่ายของความขัดแย้งคือ เพื่อสร้างความไว้วางใจและการยอมรับ อันจะส่งผลทำให้องค์กรเข้าดำเนินการในพื้นที่ที่ถูกควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ICRC คำนึงอยู่เสมอว่าคำพูดและการกระทำขององค์กรอาจมีอิทธิพลต่อการรับรู้เกี่ยวกับสถานะความเป็นกลางของตนเอง โดย ICRC พยายามหลีกเลี่ยงที่จะปฏิเสธ กีดกัน หรือขัดขวางการทำงานของคู่พิพาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การเข้าถึงพื้นที่มักถูกปิดกั้นอยู่บ่อยครั้ง แต่การละทิ้งซึ่งหลักความเป็นกลางย่อมหมายถึงการละทิ้งโอกาสความเป็นไปได้ที่จะดำเนินงานเพื่อมนุษยธรรมท่ามกลางภาวะไร้ซึ่งมนุษยธรรมของสงคราม ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมไม่อาจหยุดยั้งสงครามได้ คนที่หยุดยั้งได้มีเพียงผู้นำทางการเมืองเท่านั้น แต่เราป้องกันและบรรเทาผลกระทบอันโหดร้ายบางส่วนที่เกิดจากสงครามได้ และด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องได้รับความไว้วางใจและความเคารพจากทุกฝ่าย

ความเป็นกลางคือการละทิ้งผู้ถูกรังแกจริงหรือ

ดังนั้น คำตอบคือ ไม่ การรักษาความเป็นกลางไม่ได้เป็นการทำให้ผู้กระทำความผิดและผู้เดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าวมีความเท่าเทียมกันตามหลักจริยธรรม แต่เป็นการเปิดหนทางช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ดังเช่นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ประเทศรวันดา ตอนนั้น ทีมผู้ปฏิบัติหน้าที่ของ ICRC และ MSF ได้ทำงานร่วมกันที่โรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นมาชั่วคราวแห่งหนึ่งของเมืองคิกาลี เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ ทุกวัน ฟิลิปป์ เกลลาร์ด หัวหน้าทีมของ ICRC เดินทางพร้อมกับรถพยาบาลออกไปตระเวนหาว่ามีผู้รอดชีวิตที่พวกเขาจะช่วยนำกลับมารักษาได้หรือไม่ แต่กว่าจะเดินทางกลับมายังโรงพยาบาลได้ก็ต้องผ่านสิ่งกีดขวางบนท้องถนนที่ทหารกองหนุนผู้พร้อมคร่าชีวิตฝ่ายตรงข้ามคอยประจำการอยู่ เมื่อผ่านจุดตรวจแต่ละจุด

ฟิลิปป์ต้องลงจากรถและนั่งอยู่กับบรรดานักฆ่าเพื่ออธิบายให้ปล่อยตัวเขาออกมา บางครั้งก็ทำสำเร็จ แต่ก็ต้องเก็บความรู้สึกหวาดกลัวและความรังเกียจเดียดฉันท์ไว้กับตัวเองเพื่อเห็นแก่ผู้บาดเจ็บที่อยู่ในรถพยาบาลและต้องคอยพูดจาอย่างสุภาพกับนักฆ่าที่อยู่เบื้องหน้า ผู้วิจารณ์บางคนคิดว่าการได้รับมอบหมายหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสงครามก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราได้รับความไว้วางใจโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่ ทุกความพยายามช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามจะต้องได้รับความตกลงจากหน่วยงานที่ควบคุมอาณาเขตดังกล่าวก่อน ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมต้องโน้มน้าว มีความอดทน กล้าหาญ และมีความสามารถในการเจรจากับผู้มี ‘หน้าที่รับผิดชอบ’

การรักษาความเป็นกลางยากกว่าการเลือกข้าง

การรักษาความเป็นกลางนั้นเป็นเรื่องยาก บางทีอาจยากกว่าการเลือกข้างก็เป็นได้ และโอกาสที่จะได้รับการยอมรับว่าเรามีความเป็นกลางนั้นก็ถูกตั้งคำถามข้อสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการโจมตี 9/11 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ ที่เกิดขึ้นตามมา คำประกาศของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ‘คุณอยู่ฝ่ายเราหรือฝ่ายผู้ก่อการร้าย’ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามของเราต่างได้รับผลกระทบที่ตามมาอย่างมาก เนื่องจากต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวอัฟกันที่อยู่ทั้งสองฝั่งของแนวปะทะและต้องเดินทางเยี่ยมเยือนผู้ต้องสงสัยกลุ่มตอลิบานที่ถูกจับกุมโดยกองกำลังผสมและรัฐบาลอัฟกานิสถานเพื่อให้มีการปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมีมนุษยธรรม

การประกาศไม่ให้มีพื้นที่ของความเป็นกลางนั้นส่งผลรุนแรงชัดสุดหลังเจ้าหน้าที่วิศวกรด้านระบบน้ำของ ICRC ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2003 และยิ่งรุนแรงกว่าเดิมช่วงอีกไม่กี่เดือนต่อมาจากการที่ ICRC ถูกโจมตีถึงสองครั้งที่กรุงแบกแดด แต่หลังจากพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ทาง ICRC ก็ตัดสินใจไม่ยอมสยบต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และทอดทิ้งความพยายามชองเราที่จะรักษาความเป็นกลางกับทุกฝ่าย ICRC ยืนกรานที่จะแสดงออกซึ่งความกังวลต่อผู้ประสบภัยจากการขัดกันทางอาวุธทุกคน และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย หากไม่เคารพ แต่อย่างน้อยก็พยายามยอมรับว่าการมีหน่วยงานที่มีความเป็นกลางปฏิบัติหน้าที่พื้นที่ของสงครามนั้นมีประโยชน์อยู่

เมื่อองค์กรมนุษยธรรมเป็นกลาง ใครได้ประโยชน์

ทุกฝ่ายของความขัดแย้งต่างได้ประโยชน์จากจุดยืนที่เป็นกลางของ ICRC ความเป็นกลางช่วยให้ข้ามแนวปะทะเพื่อนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปช่วยชีวิตผู้ประสบภัย ความเป็นกลางช่วยให้ ICRC เข้าเยี่ยมเยือนผู้ถูกคุมขังทั้งสองฝ่าย ช่วยให้มีการลงทะเบียน และแจ้งสถานะความเป็นอยู่ให้บุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาได้รับทราบ

ความเป็นกลางช่วยให้ ICRC กอบกู้ร่างผู้เสียชีวิตเพื่อนำส่งกลับไปยังครอบครัวและทำการฝังศพให้เหมาะสม ความเป็นกลางช่วยให้มีการปล่อยหรือแลกเปลี่ยนตัวนักโทษหรือตัวประกัน และเปิดพื้นที่หารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องวิธีการที่นำมาใช้ในการทำสงคราม ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ฉันเคยเชื่อก่อนหน้านี้ คือ ความเป็นกลางไม่ได้ทำให้ ICRC เงียบเสียงตัวเองลง แต่ความเป็นกลางคือสิ่งที่สร้างพื้นที่ของการหารือกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ICRC อภิปรายหารือแบบทวิภาคีที่เป็นความลับไม่ได้เปิดเผยให้ใครรู้ มีการกล่าวถึงข้อกล่าวหาต่าง ๆ และเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบต่อการกระทำ แต่การลงมือปฏิบัตินั้น หากต้องการให้เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องโพสต์บนทวิตเตอร์ และบางครั้งคู่พิพาทเองก็เป็นฝ่ายที่เรียกร้องให้สาธารณชนใช้ดุลยพินิจตัดสินเอง บางทีคู่พิพาทเองก็อาจจะไม่ต้องการให้สาธารณะรู้ว่าพวกเขาตกลงยินยอมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย

การรักษาความลับของเราไม่ได้หมายความว่าเรามีความพึงพอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และการรักษาความลับไม่ใช่ว่าไม่มีเงื่อนไข แต่เราให้ความสำคัญต่อการพบปะแบบตัวต่อตัวกับผู้ที่ออกคำสั่งและถือว่าพวกเขามีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการกระทำเหล่านั้นต่างหาก ใช้การสื่อสารสาธารณะเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงานแบบทวิภาคี สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ IHL และอธิบายให้เข้าใจถึงหลักการของเรา และบางครั้งเราก็ประณามฝ่ายต่าง ๆ อย่างเปิดเผยต่อวิธีการที่พวกเขานำมาใช้ในการทำสงคราม แต่ก็ต่อเมื่อเราไม่มีหนทางอื่นในที่จะโน้มน้าวฝ่ายดังกล่าวได้อีกต่อไปและการประนามดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์หรือส่งผลดีต่อต่อผู้ประสบภัยเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมต้องเผชิญกับปัญหามากมายขณะพยายามช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ประสบภัยจากการขัดกันทางอาวุธ และเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจเรื่องยาก ๆ โดยจะต้องชั่งดุลระหว่างข้อดีกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ความช่วยเหลือ การมีจุดยืนที่เป็นกลางไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหล่านี้ แต่มันทำหน้าที่เป็นสายโซ่แห่งความสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับทุกสิ่งอย่างที่ ICRC ทำและพูด ความสม่ำเสมอคือสิ่งสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจ – ใครจะไปไว้วางใจองค์กรที่เปลี่ยนจากจุดยืนหนึ่งไปยังอีกจุดยืนหนึ่งตามกระแสสายลมแห่งความรู้สึกสาธารณชนได้บ้างล่ะ ความเป็นกลางไม่ได้อยู่ตรงกันข้ามกับ ‘ความสมัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน’ แต่ความเป็นกลางเป็นวิธีการที่จะทำให้แนวความคิดอันสูงส่งนี้นำไปปฏิบัติได้ MSF ตระหนักถึงสิ่งนี้ดีเมื่อ 20 ปีที่แล้วและฉันก็อยู่ฝ่ายอภิปรายที่พ่ายแพ้ โดยหลักความเป็นกลางนั้นยังคงได้รับการบรรจุไว้ในกฎบัตรของ MSF อยู่

บทความโดย ฟิโอนา เทอร์รี หัวหน้าศูนย์วิจัยและประสบการณ์งายฝ่ายปฏิบัติการ (CORE) ของ ICRC

แปลและเรียบเรียงจาก Taking action, not sides: the benefits of humanitarian neutrality in war 

แบ่งปันบทความนี้