มีคำกล่าวว่าความจริงคือเหยื่อยรายแรกของสงคราม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการรายงานข่าวที่แม่นยำและไม่เลือกข้าง จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งที่คนทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ
บทบาทของผู้รายงานข่าวในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์และบันทึกผลกระทบที่น่าหวาดกลัวของความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาตกเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ต้องเสี่ยงชีวิตมากที่สุด โดยอาจได้รับบาดเจ็บ ถูกลักพาตัว หรืออาจต้องเสียชีวิตในระหว่างการปฎิบัติหน้าทื่ กฎหมายมนุษยธรรมกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไร และอะไรคือบทบาทหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในพื้นที่สงคราม?
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้ความคุ้มครองผู้สื่อข่าวอย่างไร
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการระบุสิทธิ หน้าที่ และความคุ้มครองในระหว่างการขัดกันทางอาวุธหรือสงคราม บุคลากรสื่อหรือนักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้มีสถานะพิเศษตามกฎหมายแต่ได้รับการคุ้มครองในฐานะพลเรือนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการสู้รบ กฎหมาย IHL ให้ความคุ้มครอง แต่ไม่ได้รับรองในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อในการรายงานหรือเข้าเข้าถึงพื้นที่สู้รบโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐ
ผู้สื่อข่าวสงคราม (war correspondent) กับผู้สื่อข่าวอิสระทั่วไป (journalist) ได้รับความคุ้มครองเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ผู้สื่อข่าวคือบุคลากรสื่อที่ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล และ/หรือรายงานข่าวและข้อมูลนั้น ผ่านสื่อ (ถ่ายทอดภาพเสียง เขียนรายงาน รายงานวิทยุ หรือ ผ่านแพลตฟอร์มออน์ไลน์ต่างๆ) โดยกฎหมาย IHL แยกแยะผู้สื่อข่าวในพื้นที่สู้รบไว้สองประเภท คือ ผู้สื่อข่าวสงคราม (war correspondent) ที่ได้รับการรับรองโดยกองกำลังของรัฐ และ ผู้สื่อข่าวอิสระ (ทั่วไป) โดยผู้สื่อข่าวทั้งสองประเภทมีสถานะและความคุ้มครองขั้นพื้นฐานเป็นพลเรือน ภายใต้ IHL ตราบเท่าที่ผู้สื่อข่าวไม่ทำการที่เปลี่ยนสถานะการเป็นพลเรือน เช่น เข้าร่วมการปะทะต่อสู้ ง่าย ๆ เลยก็คือ ถ้าคุณเป็นสื่อ คุณก็ไม่ควรเข้าร่วมการต่อสู้ เพราะไม่ใช่บทบาทของคุณ บทบาทของคุณคือรายงานข้อมูล
ผู้สื่อข่าวอิสระหรือผู้สื่อข่าวที่ไม่ได้รับการรับรองโดยกองกำลังของรัฐ มีสิทธิแสดงตัวตนเป็นสื่อได้ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ไปมากกว่าตามที่ได้รับในฐานะพลเรือน ส่วนผู้สื่อข่าวสงครามได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากสถานะที่ได้รับการรับรองโดยกองทัพ ทำให้ ถ้าถูกจับ จะได้รับสถานะเป็นเชลยศึก
เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้สื่อข่าวจะเป็นฝ่ายละเมิด IHL เสียเอง
แม้ว่า IHL ให้ความคุ้มครองสื่อ แต่บุคลากรสื่อมีหน้าที่ภายใต้กฎหมาย IHL เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การรักษาจรรยาบรรณในการรวบรวมข้อมูล เมื่อได้เห็นเหตุ สัมภาษณ์ หรือได้บันทึกถ่ายภาพเหตุต่างๆ ในการปะทะหรือเมื่อได้เข้าพบผู้ถูกจองจำหรือกักตัว
บุคลากรสื่อมีหน้าที่ ‘เลี่ยง’ ไม่เข้าร่วมการปะทะหรือต่อสู้ นอกจากนี้หากบุคลากรสื่อรวบรวมข้อมูลให้ฝ่ายที่เข้าร่วมการต่อสู้หรือนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ในการถ่ายทอดหรือส่งผ่านข้อมูลหรือติดต่อสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร บุคลากรสื่อนั้นอาจถือได้ว่าเข้าเป็นฝ่ายที่เข้าร่วมการปะทะต่อสู้ อีกประเด็นคือ บุคลากรสื่อที่เห็นการกระทำที่เป็นอาชญากรรมสงคราม ไม่มีพันธะหน้าที่ใดๆ ภายใต้กฎหมาย IHL ที่จะต้องรายงานเรื่องการก่ออาชญากรรมดังกล่าว (ในทางจรรยาบรรณสื่ออาจจะแตกต่าง จากมุมมองทางกฏหมาย) แต่หากบุคลากรสื่อดังกล่าว ได้รับคำสั่งศาลให้ให้การแต่ไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ให้ข้อมูลที่เหมาะสม อาจมีโทษเป็นการหมิ่นอำนาจศาลหรือขัดขวางกระบวนการยุติธรรมได้
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่บุคลากรสื่อจะละเมิดกฎหมาย IHL คำตอบคือ เป็นไปได้ เช่น กรณีที่สื่อมีบทบาทยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนเกิดเป็นความรุนแรงทางชาติพันธุ์และการขัดกันทางอาวุธ ซึ่งเราอาจจะนึกถึงตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน รวันด้า แต่ว่าในมุมมองทางกฎหมาย การพิจารณาและการระบุข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ มีความละเอียดอ่อน และต้องใช้การพิจารณาในหลายด้าน เพื่อระบุ วิธีการ แรงจูงใจ และโอกาสในการกระทำการละเมิดดังกล่าว ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยภาวะแวดล้อมและการเข้าร่วมหรือร่วมปฏิบัติของบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย และมีหลายอย่างต้องพิจารณา
กรณีศึกษา จริยธรรมนักข่าวในเหตุการณ์ที่รวันดา
ประเทศรวันดา มีสองชาติพันธุ์หลักๆ คือ Hutu เป็นประชากรส่วนมากและ Tutsi ซึ่งมีส่วนน้อย ในปี 1990 กองกำลังกบฏ Rwandan Patriotic Front (RPF) ที่มีสมาชิกเป็นส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยชาติพันธุ์ Tutsi ได้รุกเข้ามาทางตอนเหนือของประเทศรวันดาจากที่ตั้งในประเทศอูกันดา ก่อใหเกิดเป็นสงครามกลางเมืองรวันด้า Rwandan Civil War แต่ต่อมาการสู้รบชะลอ ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบ และประธานธิบดี จูเวนาล ฮับเบียริมานาแห่งรวันด้า เจรจายุติการต่อสู้ในข้อตกลงอะรูชา Arusha Accords ในปี 1993 แต่ในวันที่ 6 เมษา ปี 1994 ประธานธิบดี จูเวนาล ถูกลอบสังหาร ทำให้ข้อตกลงยุติ และในวันต่อมาก็ได้เริ่มมีการเริ่มการทำร้ายและสังหารหมู่ชนชาติ Tutsi จนเป็นที่สังเกตว่า น่าจะมีการวางแผนมานานและเป็นระบบ สังเกตุได้จากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อวิทยุ ที่สร้างวาทะกรรมให้เกิดความเกลียดชังในประชากร Hutu เพื่อให้ทำลายล้างชาติพันธุ์ Tutsi เช่นเปรียบเปรยว่า ชาติพันธุ์ Tutsi ไม่ใช้มนุษย์ เป็นแมลงสาบ ฆ่าได้ ทำลายได้ ละเมิดทางเพศได้ ไม่ผิด ไม่บาป ซึ่งสื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรวบรวมกำลังคนและระบุวัตถุประสงค์แก่คนหมู่มาก ซึ่งทำให้การทำลายล้างเผ่าพันธ์แพร่หลาย และสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด ทำให้เกิดความป่าเถื่อนและปราศจากมนุษยธรรมอย่างรุนแรงในเหตุการณ์นี้
อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ที่ไม่ได้สังกัดสำนักข่าว แต่มีอำนาจในการสื่อสาร คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองและมีความรับผิดชอบเช่นเดียวกับนักข่าวหรือไม่
อย่างที่กล่าวไป IHL ได้ระบุไว้ถึงสถานะว่ามีแค่สองประเภทคือ Civilian / Combatant พลเรือนและพลรบ ดังนั้น ตามหลักกฎหมาย อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ที่ไม่ได้สังกัดสำนักข่าวถือสถานะเป็นพลเรือนเช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวอิสระ (คนสองกลุ่มนี้ไมถือเป็นผู้สื่อข่าวสงคราม – war correspondent ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น)
อย่างไรก็ดี อินฟลูเอนเซอร์เองก็ต้องก็ต้องพีงระวังถึงการเผยแพร่เปิดเผยข้อมูลของแหล่งข่าวหรือข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบได้เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าว ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าผลของการกระทำของสื่อ ส่งผลต่อการเกิดการกระทำผิด ก็เป็นเหตุให้เกิดความรับผิดได้ ทั้งนี้อาจดำเนินการได้ทั้งจากการกระบวนการกฎหมายภายในหรือหากเป็นกรณีร้ายแรงเหมือนรวันดา อาจเป็นเหตุให้นำพิจารณาในศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจหรือศาลอาญาระหว่างประเทศได้เช่นกัน
หากคุณสงสัยเกี่ยวกับความคุ้มครองอื่นๆ ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อ่านบทความเพิ่มเติม กฎหมายสงครามทำงานอย่างไร รวมทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ