Jean-Pictet Competition เมื่อการแข่งขันให้มากกว่าความรู้ทางกฎหมาย

บทความ / บล็อค

Jean-Pictet Competition เมื่อการแข่งขันให้มากกว่าความรู้ทางกฎหมาย

“Taking the law out of the books” คือประโยคสั้นๆ อธิบายการแข่งขันด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC ที่เรียกกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า Jean-Pictet Competition งานที่ว่าจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นเวทีสำหรับนักเรียนกฎหมายรุ่นใหม่ ให้ได้ลองใช้ความรู้ด้านกฎหมาย ในการว่าความร่วมกับผู้เข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ สิริกมล สุรทิณฑ์ (แป้ง), สาริสา ทีฆตระกูล (แอ๊นท์) และ ภัทราภรณ์ ภัทรพิบูล (เบ๊บ) สามสาวตัวแทนประเทศไทยจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาอธิบายให้เราฟังสั้นๆ ว่ากฎหมายมนุษยธรรมสามารถนำมาใช้กับเหตการณ์ในยุคปัจจุบันได้อย่างไร และการนำกฎหมายออกจากหนังสือ ให้ประสบการณ์น่าสนใจอะไรบ้าง

Jean Pietet อาจไม่ใช่ชื่อที่รู้จักกันกว้างขวาง อยากรู้ว่าเรารู้จักรายการนี้ได้อย่างไร และอะไรสะกิดใจให้ลงชื่อสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน

แอ๊นท์: ความจริงพวกเราเริ่มจากการแข่งขันระดับประเทศที่ ICRC จัด ตอนนั้นทีมเราชนะการแข่ง Role Play เลยเพิ่งมารู้จักการแข่งขัน  Jean-Pietet จากตรงนี้ ทีมเราเห็นว่าน่าสนใจ เพราะเป็นการแข่งขันในระดับนานาชาติที่ท้าทาย หาโอกาสยาก เลยคุยกันว่าน่าจะลองดูสักครั้ง

เบ๊บ: ซึ่งพอมาแข่งจริงๆ ก็เจอว่า มันมีประเด็นอะไรที่มากกว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ มีทั้งเรื่องเขตอำนาจและหลักการอื่นๆ ใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่เราเคยผ่านมาบ้างตอนเรียน แต่ได้มาลองใช้จริงตอนแข่ง กลายเป็นอีเว้นท์ที่เปิดหูเปิดตาและเปิดโลกมากๆ

ที่ว่าเปิดหูเปิดตา มีหัวข้อไหนที่เราสนใจเป็นพิเศษและอยากนำมาต่อยอดหรือเปล่า

แป้ง: ไม่ถึงขั้นมีประเด็นไหนเป็นพิเศษ แต่ทำให้เราสนใจกฎหมายระหว่างประเทศมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่สนใจเลย รู้สึกว่าไม่ใช่ทาง แต่จากที่ได้ฟัง ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ ก็รู้สึกว่ากฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายมนุษยธรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีอะไรให้ศึกษามากกว่าที่คิด เพราะเป็นงานที่ได้ช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากจากความรุนแรงในด้านต่างๆ รู้สึกว่าเราได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้เราคิดถึงคนอื่นมากขึ้น

เข้าใจว่าครั้งนี้เป็นการไปแข่งในเวทีนานาชาติครั้งแรก กดดันมั้ย มีอะไรที่ยากลำบาก  และมีการเตรียมตัวกันยังไง

แอ๊นท์: ก่อนไปเครียดมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะไม่ใช่ภาษาแรก ถ้าทีมอื่นใช้อังกฤษดีมากๆ เราจะทำยังไง? แต่ปรากฎว่าพอเอาเข้าจริง ทีมอื่นก็ไม่ได้ต่างจากเรา คือใช้อังกฤษเป็นภาษาที่สองและเป็นนักเรียนกฎหมายเหมือนกัน ส่วนเรื่องการเตรียมตัว ทาง Jean-Pietet เขาส่งข้อมูลมาให้เราก่อน เราก็อ่านตามเอกสารที่เขาให้ ในการแข่งจริงเขาจะให้ข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ในประเทศสมมุติ หน้าที่ของเราคือต้องหาข้อกฎหมายต่างๆ มาอธิบาย ให้เหตุผลให้ได้ ทุกทีมเจอความกดดันคล้ายๆ กันหมดเลย

เบ๊บ: แต่จะมีบางทีมที่โชคดีหน่อย เพราะการแข่งขันเขาไม่ได้จำกัดอายุ ขอแค่เป็นนักเรียนกฎหมาย ความกดดันอีกอย่างคือบางทีมเขาประสบการณ์มากกว่า เรียนโทแล้ว เป็นนักกฎหมายจริงๆ ทำด้านนี้มาเฉพาะ ซึ่งมาเจอแบบนี้เราก็แอบเครียดเหมือนกัน

แป้ง: จริงๆ พวกเราก็ยังไม่ได้มีประสบการณ์การแข่งว่าความกฎหมายมาก ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก และเราเกือบจะเด็กสุดในเวที คือเป็น นักศึกษาปริญญาตรี ปี 2 อายุแค่ 19 คนเขาก็ตกใจกันว่าเราเด็กมาก แทบจะเด็กสุดในงานเพราะคนที่อายุน้อยสุดคือ 17 มากสุดคือใกล้จะสามสิบแล้ว

ฟังดูลำบากจริง แล้วโมเม้นที่ยากสุดของการแข่งขันคือตอนไหน อยากให้แชร์ให้ฟัง

แป้ง: ตอนที่ได้ข้อเท็จจริงข้อแรกมา เขาให้เวลาเตรียมตัวประมาณ 50 นาที ตอนนั้นกดดันมาก อ่านไม่เข้าใจเลย มันยาก เยอะ จนสุดท้ายเหลือแค่ 10 นาที ต้องเข้าห้องไปตอบคำถาม เราอยู่หน้าห้องแล้วยังคิดไม่ออก ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการขอเริ่มเป็นทีมแรกจะได้ไม่มีใครแย่งพูด จากนั้นก็ใช้การเห็นด้วยกับทีมอื่นๆ ไป

เบ๊บ: โชคดีว่ารอบนั้นเป็นแค่เทสจำลอง ไม่ได้เก็บคะแนนจริง เราเลยเพิ่งเข้าใจว่าเขาไม่ได้ต้องการให้เราตีความทั้งหมด แค่หาให้เจอว่าคำถามของโจทย์นี้อยู่ตรงไหน จริงๆ มันแค่ประเด็นเดียว ส่วนที่เหลือคือเก็บไว้ รอใช้เสริมในโจทย์ต่อไป ซึ่งจะมีข้อเท็จจริงมาเสริมสถานการณ์เรื่อยๆ

แป้ง: ที่ยากคือเขามีการแบ่งการแข่งขันออกเป็น 7 รอบ จำนวนผู้เข้าแข่งขันคือ 48 ทีม แต่ละรอบมีจำนวนทีมที่เข้าห้องตอบคำถามไม่เท่ากัน และจะมีกรรมการสองคนคอยตัดสินให้คะแนน มีรอบนึงที่เราเจอพร้อมกัน 6 ทีม ต้องแย่งกันพูด ไม่ควรตอบซ้ำ เพราะไม่เกิดประโยชน์กับรูปคดี เวลาตอบคำถาม ต้องยกป้าย กรรมการก็จะอนุญาตให้พูด แต่ถ้ายกพร้อมกันแล้วอีกทีมได้ตอบก่อน เขาตอบประเด็นของเราไปแล้ว เราก็ต้องรีบสร้างประเด็นใหม่ รอบนั้นยากมากเราเพราะอยู่ริมสุด แต่กรรมการเขาเรียกมาจากอีกฝั่งค่อยๆ ไล่มา กว่าจะมาถึงเราคือแทบไม่เหลืออะไรให้ตอบแล้ว วิธีที่เราใช้ก็เลยกลายเป็นการเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ทีมอื่นยกมา แต่เพิ่มเคสและความคิดเห็นของทีมเราเข้าไป อาจจะไม่ใหม่แต่เป็นการเสริมประเด็นให้แข็งขึ้นเพราะบางเคสก็เป็นสิ่งที่เรายกมาจากการเรียนในไทย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนรู้มาก่อน

จากความยากลำบากที่ได้มา เรามีความประทับใจอะไร มีข้อคิดไหนที่อยากเล่าให้คนทางบ้านฟัง

แอ๊นท์: อย่าให้ความกลัวมาขัดโอกาส ถ้าเรากลัวเราไม่กล้าสมัคร เราก็จะไม่ได้รับประสบการณ์นี้เลย กลัวภาษาไม่กล้าสู้ เราก็จะไม่ได้รู้เรื่องใหม่ ตัดโอกาสพัฒนาตัวเอง บางทีคนจากประเทศอื่นทีมอื่น อาจจะมีความสามารถเท่าเราเหมือนกัน เขาแค่กล้าให้โอกาสตัวเอง

เบ๊บ: จุดประสงค์สำคัญของการแข่งขัน Jean-Pietet คือการเอากฎหมายออกจากหนังสือ (Taking the Law out of the Books) จากที่เราเรียนมาแต่ในห้อง การแข่งขันเปิดโอกาสให้เราได้เจอโจทย์จริง มีช่วงได้ลงพื้นที่ เจอสถานการณ์จำลอง และลองสวมหมวกเป็นเจ้าหน้าที่ ICRC ว่าถ้าเราเจอสถานการณ์แบบนี้ เจอผู้อพยพลี้ภัย เราจะสื่อสารและแก้ปัญหาได้ยังไง

แป้ง: ซึ่งจากที่ได้ลงพื้นที่เลยได้เรียนรู้ว่า เราไม่ได้แค่ต้องรู้ตัวบทกฎหมาย ไม่สามารถเอากฎหมายไปให้เขาและบอกว่าเขาต้องทำตามเพราะกฎหมายเขียนไว้แบบนี้ แต่ต้องรู้จักการโน้มน้าวใจ เช่นบอกว่าเขาจะได้อะไรจากการปฎิบัติตามกฎหมาย เขาจะได้ความคุ้มครอง ได้ความช่วยเหลือ เราเลยได้เห็นภาพกว้างว่าการทำงานด้านมนุษยธรรมจริงๆ มันมีหลายมิติที่น่าสนใจมาก

แอ๊นท์: อีกอย่างหนึ่งที่กรรมการชมมา คือทีมของเรามีทีมเวิร์คดีมาก ทีมอื่นบางทีจะมีคนพูดแค่คนเดียว คนอื่นจดบันทึก แต่เรามีการสื่อสารระหว่างกัน เช่นคนนี้พูดอยู่ อีกคนก็จะหาหัวข้อต่อไปยื่นส่งให้เพื่อน หลังการแข่งจบ ทาง Jean-Pietet เขาให้รีพอร์ตเกี่ยวกับผลงานของแต่ละทีม หนึ่งในนั้นมีเขียนไว้ บอกว่าเราเป็นทีมที่มีพัฒนาการดีตลอดการแข่งขัน จนกลายมาเป็น strong team ได้ในท้ายสุด

หลังผ่านการแข่งขัน 3 วันครึ่ง ความรู้สึกกับ IHL เปลี่ยนไปบ้างมั้ย และในเมื่อกฎหมายเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย เรามีอะไรอยากจะฝาก?

แอ๊นท์: เรื่องสิทธิและความคุ้มครองคนไทยอาจจะรู้สึกว่าไกลตัวเพราะเราไม่ได้มีเหตุสงคราม แต่ความจริงเรื่องสงครามและความขัดแย้งเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะผลกระทบที่เกิดจากที่หนึ่ง สามารถส่งถึงอีกที่หนึ่งได้ไวมาก

เบ๊บ: ยิ่งเราเห็นประเด็นผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ชัดว่าโลกของเรามันเชื่อมต่อกันกว่าที่เราคิด เราถึงต้องสนใจและมองไปให้รอบด้าน

แป้ง: อีกอย่างคือสถานการณ์โลกเรา มีสงคราม ความขัดแย้ง และความรุนแรง เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา ใครจะรู้ว่าสักวันมันอาจจะมาถึงไทยก็ได้ ในวันที่เราไปอยู่ในจุดนั้น มันน่าจะดีกว่าถ้าเราได้รู้ ได้เข้าใจในเรื่องนี้ไว้เสียแต่เนิ่นๆ

ในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทย การแข่งขันในครั้งนี้ได้เชื่อมเราเข้ากับโลกอย่างไรบ้าง

เบ๊บ: ที่จริงมันเป็น 3 วันครึ่งที่นานมาก รู้สึกเหมือนเป็นเดือนเพราะมีเรื่องเกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะต้องแข่งเพิ่มอีกวันเป็น 4 วันครึ่ง ถึงเราจะไม่ผ่าน แต่ก็มีโอกาสได้เข้าไปสังเกตุการณ์ ได้เห็นวิธีว่าความและการเตรียมตัวของทีมอื่นๆ ส่วนที่เราประทับใจมากที่สุด คือเราได้มีโอกาสเจอเพื่อนใหม่ เจอคนจากประเทศที่เราไม่น่าจะได้เจอในชีวิตจริง ถ้าเราไม่ได้มาคือไม่มีโอกาสแล้ว

แป้ง: เป้าหมายของ Jean-Pietet มี 3 อย่าง คือ Compete – มาแข่งขัน Learn – เรียนรู้จากเพื่อนร่วมทีมและผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก และ Meet – ทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ๆ เวลาทานข้าวเย็นของที่นี่ เขาจะจัดโต๊ะใหญ่ ให้เรามีโอกาสได้คุยกับทีมอื่น ทุกคนน่ารัก เป็นกันเอง ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนการเรียนของกันและกัน เป็นอะไรที่มากกว่าการแข่งขัน เพราะได้รางวัลเป็นมิตรภาพดีๆ กลับบ้านมาด้วย

แบ่งปันบทความนี้