สร้างทักษะผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality)

กลุ่มองค์กรกาชาด / บทความ / บล็อค

สร้างทักษะผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality)

จากปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากความขัดแย้งทางทหารทั่วโลก พร้อมได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพถึง 3 ครั้ง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี เป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นที่เคารพมากที่สุดในโลก เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้กลายเป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมแห่งแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีวิดีโอเกมส์ในการปฏิบัติงานภายในอีกด้วย

“คุณอาจพูดได้ว่าเราเป็นบริษัทเกมส์เล็กๆ” คริสเตียน รูแฟร์ หัวหน้าแผนก Virtual Reality Technology ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นฝ่ายย่อยในองค์กรที่พัฒนาวิดีโอความรู้และการจำลองเสมือนจริงสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ โดยใช้ระบบ Unreal Engine 4 ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวกันกับที่ใช้ในเกมส์ Gears of War 4 และ Street Fighter V

แผนกนี้ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกในปี 2010 และมีสถานะเป็นโปรเจ็คย่อย ซึ่งรูแฟร์เป็นผู้ผลิตวิดีโอตัวอย่างด้วยตัวเอง โดยโปรแกรมที่ใช้ในเกมจำลองการทหารหรือ Arma 2 จากนั้นแผนกนี้จึงได้บรรจุอย่างเป็นทางการที่สำนักงานของคณะกรรมกาชาดระหว่างประเทศที่กรุงเทพฯ ในปี 2014 จนถึงวันนี้แผนก Virtual Reality Technology ได้ผลิตวิดีโอออกมาแล้วมากกว่า 100 ชิ้น เพื่อใช้ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎการปะทะ และข้อกำหนดในช่วงสงครามที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ถูกคุมขัง วิดีโอเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในการเรียนรู้วิธีการสื่อสารกับผู้ประสบภัยจากสงครามในเวลาฉุกเฉิน

“สำหรับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่เลือกฝ่ายหรือประนามความขัดแย้งที่รุนแรง แต่หน้าที่ของเราคือการทำให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎ หรือปฏิบัติตาม อนุสัญญาเจนีวา นั่นเอง” คริสเตียน รูแฟร์ กล่าว

ระบบเกมส์ Engine 4 ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เป็นระบบที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ ได้พร้อมกันกับการรวมภาพและตัวเลือกการออกแบบอื่นๆ เช่น ระบบฟิสิกส์ (สำหรับการตรวจจับการพุ่งชน และ การตอบสนอง) นอกจากนี้ระบบยังช่วยให้นักพัฒนาสร้างฉากที่หลากหลายจากไฟล์กราฟฟิกเดียวกัน ทำให้ทีมของรูแฟร์สามามารถผลิตวิดีโอข้อมูลจากรูปแบบสถานการณ์ที่หลากหลายด้วยเวลาอันสั้นและต้นทุนต่ำ

“สำหรับการผลิตวิดีโอเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่โดนระเบิด โดยปกติแล้วเราอาจจจะต้องจ้างนักแสดงและทีมงานถ่ายทำ พร้อมทั้งหาสถานที่ๆ ดูน่าเชื่อถือและเหมือนจริง ซึ่งบ่อยครั้งที่เราจะต้องใช้เงินจากผู้บริจาคจำนวนมาก” รูแฟร์ กล่าวเพิ่มเติม

“เทคโนโลยีนี้ทำให้เราสร้างวิดีโอรูปแบบเดียวกันโดยใช้งบประมาณน้อยกว่าถึงสิบเท่า”

รูแฟร์เชื่อว่าการใช้ภาพที่ทำจากคอมพิวเตอร์จะสามารถช่วยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศในการคงสถานะความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ภาพจริงจากสถานการณ์จริง องค์กรอาจถูกมองว่าเลือกข้าง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร

“ในกรณีเดียวกัน หากเราอยากใช้รูปภาพจริงๆ ของโรงพยาบาลเพื่อสอนผู้ที่ทำการสู้รบเกี่ยวกับเกี่ยวกับกฎการปะทะ มันอาจจะสื่อได้ว่าเป็นการประนามจากเราต่อฝ่ายที่เป็นผู้กระทำ ซึ่งอาจทำให้องค์กรสื่อสารกับทั้งสองฝ่ายได้ยากลำบากมากขึ้น”

การใช้กราฟฟิกคอมพิวเตอร์ช่วยให้รูแฟร์และทีมสามารถแสดงภาพเหตุการณ์เดียวกัน ในขณะที่สามารถดึงจุด หรือ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมจำลองให้เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก และทำให้สิ่งของต่างๆ อาทิ ยานพาหนะ ใบหน้า รูปร่าง หรือ อาวุธ เป็นไปตามลักษณะหรือความต้องการของผู้ใช้ นอกเหนือไปจากนี้ การที่เราไม่ได้ใช้รูปภาพจริงๆ ซึ่งสามารถเก็บสถานการณ์จริงเป็นความลับ เราก็สามารถใช้สื่อเหล่านี้ให้ความรู้กับคนทั่วไปได้อีกด้วย

“ในกาซ่า เราสามารถใช้วิดีโอชิ้นเดียวกันเพื่อทำการเรียนการสอนให้กับ ฮามัส องค์กรอิสลามซุนนีห์ในปาเลสไตน์ และ กองทัพอิสราเอลได้ เรายังใช้วิดีโอเหล่านี้ในประเทศยูเครนและได้ผลตอบรับอย่างดี จริงๆ แล้วการที่เราสามารถนำเรื่องราวและกรณีศึกษามาอภิปรายกันอย่างกว้างขวางโดยไม่ต้องเป็นกังวลเกี่ยวกับทัศนคติหรือการเมือง ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก”

แม้ว่าจะอยู่ในขั้นแรกเริ่ม รูแฟร์มุ่งหวังที่จะนำเทคโนโลยี Motion Capture และ Virtual Reality มาใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโปรเจ็คแรกที่ทีมของเขากำลังพัฒนาคือการใช้เทคโนโลยี Virtual Technology  สำหรับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

“โดยปกติแล้ว การอบรมปฐมพยาบาลเบื้องตันมักจะทำกันในห้องเรียน โดยมีผู้ฝึกสอนนอนราบบนพื้นรอให้นักเรียนข่วยสาธิตการช่วยพยุงผู้บาดเจ็บขึ้นมา” รูแฟร์เล่า

“ในพื้นที่ความขัดแย้งในความเป็นจริง บ่อยครั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเกิดขึ้นระหว่างการกราดยิง มีผู้คนวิ่งไปมา และมีกระสุนสาดไปทั่ว ทั้งนี้ผู้บาดเจ็บจริงๆ แล้วก็ไม่ได้นอนราบกับพื้นอย่างเชื่อฟัง พวกเขามักไอ บางทีมีเลือดออกมาเลอะตัวของคุณ หรือตะโกนและรู้สึกตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นหาดุณอยากรู้วิธีที่ถูกต้องจริงๆ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่จะสอนบทเรียนเหล่านี้โดยปราศจากความกดดัน”

ในส่วนนี้เอง รูแฟร์และทีมกำลังวางแผนงานที่จะใช้เทคโนโลยี Motion Capture, Virtual Reality และเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงอื่นๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างสื่อการฝึกอบรมที่จะสามารถสอนเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศในสถานการณ์ที่มีแรงกดดันสูงเช่นนั้นได้ ทั้งนี้การจำลองสถานการณ์ต่างๆ อาจรวมไปถึงเสียง ฝุ่น หรือการจำลองทางกายภาพของการผ่าตัดภาคสนาม

“รายงานวิจัยหลายฉบับทั่วโลกพบว่าการใช้สื่อเชิงโต้ตอบอย่างเช่น วิดีโอเกมส์ สามารถช่วยสร้างการตอบสนองทางกายภาพของผู้เล่นได้ เช่น เหงื่อออก หรือ สร้างอาการตื่นตระหนก ซึ่งเป็นสิ่งทิ่วิดีโอธรรมดาๆ ไม่สามารถทำได้ เราหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยสร้างสถานการณ์จำลองที่เหมือนจริงและน่าเชื่อ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ของเราใจเย็นไม่ตื่นตระหนกเวลาอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม ให้พวกเขาเห็นข้อผิดพลาดทั้งหมดในการฝึก เพราะว่าความผิดพลาดเหล่านี้ในสถานการณ์จริงอาจจะส่งผลร้ายและอันตรายต่อชีวิตสำหรับพวกเขาและผู้ประสบภัย”

ที่มา: บทความ Keeping It Real (ภาษาอังกฤษ) จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2560

http://www.bangkokpost.com/archive/keeping-it-real/1245686

แบ่งปันบทความนี้