“คนดีต้องรู้จักเคารพผู้อื่น มีจิตใจดี และมีมนุษยธรรม” คำนิยามง่ายๆของอาจารย์อัจฉรา เพิ่มพูล ครูชำนาญการจากโรงเรียนสายปัญญาที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเรื่องการทำความดี การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองและผู้อื่น การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ตั้งแต่อายุยังน้อย เราก็จะได้คนดีมาอยู่ในสังคมของเรามากขึ้นในอนาคต และด้วยแนวคิดนี้เองจึงนำมาซึ่งการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงสามฝ่ายระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และสภากาชาดไทย ให้มีการบรรจุการเรียนรู้เรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไว้ในหลักสูตรกิจกรรมยุวกาชาดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นระดับชั้นปีที่ 1-3 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 จนกระทั่งถึงปัจจุบันได้มีครูจำนวนไม่น้อยภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับการอบรมในการสอนหลักสูตรนี้ไปแล้ว และเพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยเข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียนจึงได้จัดการประชุมเพื่อทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทยโดยมีบุคลากรจากกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องและผู้แทนของ ICRC เข้าร่วมด้วย
หลักสูตรดังกล่าวมีชื่อว่า “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเพื่อเยาวชน” (Exploring Humanitarian Law หรือ EHL) ซึ่งเป็นการนำเอากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ (International Humanitarian Law หรือ IHL) มาปรับเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเยาวชน ดังที่อาจารย์กิตติคุณ ชมสรรเสริญ อาจารย์ประจำโรงเรียนสตรีวัดระฆัง กล่าวว่า “การจะสอนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอาจหนักไปสำหรับเด็กเพราะเนื้อหาพูดถึงสงคราม การสู้รบ เราจึงปรับเป็น EHL เน้นเหตุการณ์ที่เด็กต้องเจอบ่อยๆ เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว การตัดสินใจ การทะเลาะเบาะแว้ง หรือสถานการณ์ที่คนอื่นถูกริดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเด็กสามารถเข้าใจได้”
สิ่งที่ครูผู้สอนหลักสูตร EHL พยายามทำอยู่ในปัจจุบันคือ การปรับหลักสูตรให้ง่ายต่อการเข้าใจ เช่น เสริมด้วยกิจกรรม รูปแบบการสอนที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน และบทอ่านที่น่าสนใจ ที่สำคัญครูจะต้องเป็นผู้นำให้เด็กรู้จักคิดและพัฒนาตัวเอง “เด็กบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องช่วยคนอื่น ทำไมต้องเข้าใจมนุษยธรรม ทำไมเราไม่ควรเหยียดหยามคนอื่น แต่พอได้เรียนรู้เรื่องของอังรี ดูนังต์ เรื่องของมนุษยธรรม ทำไมจึงเกิดความขัดแย้ง เด็กๆมองโลกเปลี่ยนไป เด็กอยากทำงานในองค์กรที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างให้สังคมดีขึ้นในโลกใบนี้” อาจารย์กิตติคุณเสริม
อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนหลักสูตร EHL ยังมีปัญหาอุปสรรคเนื่องจากบุคลากรที่สอนไม่เข้าใจแนวทางในการสอนประกอบกับไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางโรงเรียนมากนัก จึงทำให้หลักสูตร EHL ถูกมองว่าเป็นเพียงไม้ประดับ ทั้งที่แท้จริงแล้วหลักสูตรนี้เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักเคารพผู้อื่นและตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ “มันอยู่ที่ว่าครูจะสอนเด็กอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปลูกฝังให้เด็กเกิดความตระหนักรู้ แต่ละปีจะมีการอบรมครู 2 ครั้งแต่มีน้อยมากที่จะเข้าใจเนื้อหาหลัก ถ้าครูเอาสนธิสัญญา เอากฎหมายไปให้เด็กท่อง พวกเขาก็เบื่อ แต่ถ้าครูสอนให้คิด ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรคือกติกาของสังคม เด็กก็จะเข้าใจ” อาจารย์กิตติคุณกล่าว
“ครูหลายคนมองว่าสงครามเป็นเรื่องไกลตัว บ้านเราไม่มีทหารเด็ก แต่หลักสูตรนี้ไม่ได้มีแค่นั้น มันมีมากกว่านั้นและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด เพราะเราอยากให้เด็กเป็นคนดี ปรัชญาของการศึกษาคือ ดี เก่ง และมีความสุข และนี่คือสิ่งที่เป็นเสมือนบันไดขั้นแรก สังคมเราจะสงบสุขได้ถ้าทุกคนเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเรารักตัวเอง รักศักดิ์ศรี เราก็ต้องทำแบบนั้นกับคนอื่นเช่นกัน” อาจารย์อัจฉรากล่าว
และนั่นทำให้กระทรวงศึกษาธิการกำลังพิจารณาเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องหลักสูตรและเป็นที่มาของการจัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากครูผู้สอนที่มองว่ากระทรวงศึกษาธิการควรให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
“โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก กระบวนการสอนเด็กต้องมีการต่อยอด ผู้สอนต้องได้รับการสนับสนุนให้แก้ปัญหาของพวกเขา เราจะจัดให้มีการประชุมเพื่อพัฒนากระบวนการเช่นนี้บ่อยๆ ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล จะทำให้เราได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ในการพัฒนาด้วย” คุณศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียนกล่าวปิดท้าย