การเสียชีวิตของผู้คนมากมายในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบาดแผลที่ไม่มีใครอยากให้เกิดซ้ำสอง องค์กรมนุษยธรรมที่ทำหน้าที่ในหลายประเทศทั่วยุโรป รับรู้แค่ไหนเกี่ยวกับการกระทำขัดต่อหลักมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นและดำเนินไปเป็นเวลาหลายปี ทั่วพื้นที่ยึดครองของนาซีเยอรมัน?

Jean-Claude Favez นักวิจัยและเจ้าของผลงานหนังสือ The Red Cross and the Holocaust ตอบคำถามน่าสนใจด้วยข้อคิดเห็นที่ไม่ควรมองข้าม

“เราแทบไม่ทราบว่า ICRC ได้รับข้อมูลแบบไหน แต่สิ่งที่ผมมั่นใจ คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ICRC เริ่มสะกิดใจเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 1942 ตอน Carl Burckhardt สมาชิกคนสำคัญของ ICRC ได้กล่าวกับที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ยืนยันว่าฮิตเลอร์มีความตั้งใจทำให้อาณาจักรไรช์ที่สาม ‘ปราศจากยิว’  Burckhardt กล่าวต่อไปโดยอธิบายว่า ในเมื่อไม่มีที่ไหนที่ยิวจะสามารถย้ายไปอยู่การกำจัดยิวของฮิตเลอร์จึงมีความหมายเพียงอย่างเดียว ”

Carl Burckhardt

ICRC ไม่ได้นิ่งนอนใจใน ความพยายามแรกของพวกเขา คือการติดตามหาข่าวสมาชิกในครอบครัวที่หายไป เพื่อสืบหาว่าคนยิวมากมายถูกขนย้ายออกจากเยอรมันไปยังสถานที่ใด สำนักงาน ICRC ประจำกรุงเบอร์ลิน ยังได้ส่งคำถามถึงประธานกาชาดเยอรมัน เพื่อสอบถามความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของประชาชนจำนวนมาก อย่างไรก็ดี คาร์ล เอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ผู้ครองตำแหน่งประธานกาชาดเยอรมันในตอนนั้น เป็นสมาชิกพรรคนาซีที่มีความใกล้ชิดกับท่านผู้นำ ทำให้คำตอบที่ได้รับไม่ตรงกับความเป็นจริง

ICRC ยังได้ส่งอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวนหนึ่งไปยังค่ายกักกันและชุมชนแออัดที่ถูกจัดไว้สำหรับชาวยิว (เกตโต) ปรากฎว่าสิ่งของที่ส่งไป ถึงมือผู้รับบ้างไม่ถึงบ้าง สุดแล้วแต่ความสามารถและแรงพยายามของผู้แทน ICRC ในแต่ละพื้นที่ ความพยายามเหล่านี้ปรากฎผลชัดกว่าในช่วงหลังสงคราม เมื่อ ICRC ได้เข้ามาบริหารจัดการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากค่ายมรณะ

แม้จะมีความสำเร็จอยู่บ้าง แต่ความล้มเหลวของ ICRC ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ ผู้คนหลายล้านถูกฆ่าตายในระหว่างสงคราม ความพยายามของ ICRC หยุดอยู่แค่ในพื้นที่ไม่ได้มีนโยบายหรือแรงกฎดันที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง ในปี 1942 ร่างเอกสารฉบับหนึ่งถูกพบในหอจดหมายเหตุของ ICRC เอกสารที่ว่านี้คือข้อร้องเรียนต่อรัฐบาลเยอรมัน มีข้อความครอบคลุม 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

1.การทิ้งระเบิดในพื้นที่อาศัยของพลเรือน

2.การกระชับพื้นที่ปิดล้อม

3.การเนรเทศ จับตัวประกัน และการสังหารหมู่พลเรือน

4.การปฎิบัติต่อนักโทษสงคราม ตามอนุสัญญาเจนีวาปี 1929

เอกสารนี้แม้ถูกร่างขึ้นและนำเข้าพิจรณาในระหว่างการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1942 แต่ท้ายที่สุด ICRC ก็ตัดสินใจไม่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเยอรมัน – ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบที่น่าสนใจซ่อนอยู่ในบันทึกการประชุม แม้ว่าผู้แทน ICRC จะเห็นด้วยกับข้อร้องเรียน แต่ก็มีความเห็นตรงกันว่าการกระทำของพวกเขาคงไม่เปลี่ยนอะไรในสงคราม หลายคนกลัวว่านอกจากไม่เปลี่ยนอะไร ข้อเรียกร้องเหล่านี้ยังอาจไปกระทบกิจกรรมที่ทำอยู่ อย่างการเข้าเยี่ยมเชลยสงคราม อาจกลายเป็นว่า ฝ่ายเยอรมันอาจเกิดความไม่พอใจ ปิดประตูใส่ ไม่ยอมให้ ICRC ทำกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่อำนาจของตัวเองอีก

นอกจากมุมมองที่เกี่ยวข้องกับเยอรมัน ยังมีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีข้อโต้แย้งว่าข้อร้องเรียนของ ICRC อาจกระทบภาพลักษณ์และสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลสวิส (เนื่องจาก ICRC ตั้งสำนักงานใหญ่ในเมืองเจนีวา ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีภาพลักษณ์เกี่ยวพันเชื่อมโยงถึงความเป็นสวิส)

Philip Etter ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นทั้งมนตรีแห่งสมาพันธ์ (Federal Councillor) และสมาชิกคณะกรรมการของ ICRC ได้นำข้อคิดเห็นนี้เสนอต่อที่ประชุม ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่มองได้ว่ารัฐบาลสวิสได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กร

Philip Etter

เมื่อตัดสินใจได้ดังนี้ การทำงานต่างๆ ของ ICRC จึงดำเนินต่อไปโดยใช้การเจรจาแบบรักษาข้อมูลเป็นความลับ แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่การเจรจาในระดับผู้แทนของแต่ละสำนักงานประจำประเทศ ไม่ได้มาจากสำนักงานใหญ่ของเจนีวา กว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ICRC จะเข้ามาช่วยต่อรองเพื่อคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของนาซี ก็ปาเข้าไปช่วงปลายของปี 1944 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามในยุโรป ใกล้จะจบลงเต็มที่แล้ว (สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปจบลงในเดือนพฤษภาคม 1945 เมื่อเยอรมันยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร)

Jean-Claude Favez ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ “จริงอยู่ว่าการออกเอกสารเรียกร้องอาจไม่นำมาซึ่งผลดี แต่ ICRC ก็ไม่ดำเนินนโยบายทางการทูตอื่นๆ ที่ดูคู่ควรกับความเสียหายทางมนุษยธรรมที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา”

การไม่ออกมาประณามหรือให้ข้อมูลแก่สาธารณะ ในมุมหนึ่ง อาจมาจากแนวคิดการเจรจาแบบรักษาความลับซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางหลักของ ICRC ทำให้ตัวองค์กรถูกตั้งคำถามจากสังคมในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม นำไปสู่วิวัฒนาการที่น่าสนใจในมุมกฎหมายมนุษยธรรม เพราะทำให้ประเด็นเรื่องการคุ้มครองพลเมืองถูกยกขึ้นถกเถียง และได้รับการบรรจุไว้ในอนุสัญญาเจนีวาเมื่อปี 1949

ในระดับการเมืองความสัมพันธ์ของ ICRC กับสวิตเซอร์แลนด์ได้ถูกนำมาถกเถียงใหม่เพื่อรับรองความเป็นอิสระขององค์กร และในด้านประวัติศาสตร์ ความผิดพลาดของ ICRC ไม่ใช่ความลับ เอกสารบางส่วนของ ICRC (ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนาซี) เปิดให้ผู้สนในศึกษาประวัติศาสตร์สามารถเข้ามาร่วมศึกษาและเรียนรู้ข้อผิดพลาดไปพร้อมๆ กัน

แปลและเรียบเรียงจาก Dialogue with the past: the ICRC and the Nazi death camps โดย François Bugnion