ปฏิวัติดิจิตอลได้พลิกโฉมชีวิตของผู้คนทั่วโลก ตั้งแต่พลเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จนกระทั่งผู้คนที่อาศัยในประเทศที่มีพัฒนาการน้อยกว่า ในสภาพแวดล้อมดิจิตอลที่เทคโนโลยียังไม่ทันสมัย หรือในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความรุนแรง องค์กรทางด้านมนุษยธรรมที่ทำงานในบริบทเหล่านี้จึงต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิตอล และนับวันยิ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิตอลดังกล่าวมากขึ้น แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างในกรณีของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อมโยงกัน (วัตถุประสงค์ ความสามารถในการอ่านเขียน การสนับสนุนเงินทุน เป็นต้น) บล็อกนี้จะแสดงให้เห็นถึงช่องว่างห้าประการที่สำคัญที่องค์กรทางด้านมนุษยธรรมควรให้ความสำคัญ เกี่ยวกับภัยดิจิตอลต่อประชากรในสถานการณ์สงคราม ภายใต้สภาพแวดล้อมของความรุนแรงและความไม่มีเสถียรภาพ เทคโนโลยีทางดิจิตอลสามารถนำมาใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านมนุษยธรรม อาทิ ใช้การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการรับมือกับสถานการณ์ หรืออำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารสองทางระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในปัจจุบันผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้นำเครื่องมือและวิธีการทางเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในการติดตามสถานการณ์และเข้าถึงข้อมูลที่ต้องใช้สำหรับการตัดสินใจ เพื่อยกระดับการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรที่ได้รับผลกระทบ ...