อนุสัญญาเจนีวาถือกำเนิดมาครบ 70 ปีแล้ว และเนื่องในวันเฉลิมฉลองครบรอบครั้งนี้ การกล่าวเน้นย้ำถึงความสำเร็จของตัวบทพื้นฐานตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาในวันนี้ จึงมีความสำคัญที่จะขาดไปเสียมิได้ อนุสัญญาเจนีวานั้น ได้รับการให้สัตยาบันอย่างเป็นสากล ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระดับโลก​ที่จะรับใช้มวลมนุษยชาติร่วมกัน โดยนับแต่ ค.ศ.1949 เป็นต้นมา อนุสัญญาเจนีวาได้รองรับการดำเนินงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) และองค์กรมนุษยธรรมต่างๆ มากมาย ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการขัดกันด้วยอาวุธ โดยปฏิบัติด้วยความเป็นกลางและความไม่ลำเอียง และในหลายประเทศที่สงครามทำให้ต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ นั้น อนุสัญญาเจนีวาเองก็ได้มีส่วนร่วมในการพิทักษ์มวลมนุษยชาติให้รอดพ้นจากความโหดร้ายทารุณ

สำหรับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศแห่งหนึ่ง ก็ได้สนับสนุนหลักการแห่งอนุสัญญาเจนีวามาเป็นเวลานาน โดยในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศ “สยาม” ชื่อเดิมขณะนั้น ได้ยอมรับและรับรองที่จะปฏิบัติตามหลักการแห่งอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 ค.ศ. 1864 และต่อมาก็หนุนเสริมอุดมการณ์ด้านมนุษยธรรมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยในกองทัพที่อยู่ในสนามรบให้มีสภาพดีขึ้น ค.ศ. 1906 และอนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก ค.ศ. 1929

ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสังหารโหดประชากรพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ประชาคมระหว่างประเทศจึงได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อขยายขอบเขตการคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้มีความครอบคลุมรวมเอาพลเรือนเข้าไว้ด้วย ประเทศไทยเอง ตามที่ทราบกัน ก็ได้รับผลกระทบจากการขัดกันด้วยทางอาวุธครั้งใหญ่หลวงที่สุดที่ลุกลามไปทั่วโลกในยุคนั้น และในช่วงปีต่อๆ มา ท่ามกลางสถานการณ์การขัดกันด้วยอาวุธนั้น ประเทศไทยก็ยังคงยึดมั่นดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม ด้วยการสนับสนุนหลักการแห่งอนุสัญญาเจนีวา โดยเมื่อ ค.ศ. 1954 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ทั้ง 4 ฉบับ เพื่อยืนยันความเชื่อมั่นที่ตนมีต่ออุดมการณ์ด้านมนุษยธรรม และเพื่อยึดมั่นหลักการพื้นฐานที่ริเริ่มโดยอนุสัญญาฉบับ ค.ศ. 1864

ภารกิจการแก้ไขปรับปรุงอนุสัญญาฉบับเดิมในครั้งนี้ ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 นั้น ได้บรรลุผลตามเป้าหมายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 โดยผู้แทนจากรัฐต่างๆ ได้พากันเดินทางมาเข้าร่วมตามคำเชิญของรัฐบาลสวิส ณ นครเจนีวา เพื่อรับรองบทบัญญัติจำนวน 429 ข้อ ซึ่งนักกฎหมายของไอซีอาร์ซีเป็นผู้ยกร่างบทบัญญัติเป็นส่วนใหญ่ และจวบจนทุกวันนี้ อนุสัญญาเจนีวา ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จขั้นสูงสุดของความร่วมมือระหว่างบรรดารัฐต่างๆ

การรับรองอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 แม้จะรับรองก่อนเกิดสงครามปลดแอกอาณานิคมและสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ก็ถือว่าเป็นการรับรองที่ทำให้บรรดารัฐต่างๆ ได้มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่นำไปบังคับใช้ได้ในสถานการณ์ความขัดแย้งเฉกเช่นสถานการณ์ข้างต้น ถึงกระนั้นก็ตาม ความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงและเสริมสร้างกฎเกณฑ์เพื่อให้มีการคุ้มครองและกรอบการปฏิบัติในการสู้รบก็ยังคงมีอยู่ ต่อมาการแก้ไขปรับปรุงดังกล่าวก็ได้สำเร็จลุล่วงและมีการรับรองพิธีสารเพิ่มเติมจำนวนสองฉบับเมื่อ ค.ศ. 1977

โดยพื้นฐานแล้ว กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์อันสมเหตุสมผลและปฏิบัติได้จริง โดยเป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บนจุดสมดุลระหว่างความจำเป็นทางการทหารกับข้อคำนึงทางมนุษยธรรม หากคู่สงครามประสงค์จะดำเนินปฏิบัติการของตนต่อไปนั้น พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่สร้างความสูญเสียแก่พลเรือนเท่าที่จะกระทำได้ ดังนั้น การกระทำที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด คือการเจตนากำหนดเป้าหมายไปยังประชากรที่เป็นพลเรือนและผู้ที่ไม่ได้สู้รบอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าทหารที่วางอาวุธ การระเบิดโรงพยาบาล การทรมานนักโทษ หรือการปฏิเสธที่จะรักษาเยียวยาผู้บาดเจ็บหรือผู้เจ็บป่วย ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างของการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างมิอาจยอมรับได้

ในห้วงเวลาที่ยิ่งมีการแบ่งแยกขั้วอำนาจเหล่านี้ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ศัตรูถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ประกอบกับถูกสร้างภาพพจน์ให้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย หรือเป็นห้วงเวลาที่มีการกล่าวถึงทางออกอันสุดโต่ง กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ จึงทวีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาปฏิบัติตาม

แม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มเอ่ยถึงการไม่เคารพอนุสัญญาเจนีวา โดยกล่าวหาว่า อนุสัญญาเจนีวาให้คำมั่นสัญญาที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสนามรบ แต่ท่ามกลางสมรภูมิรบที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น การนับจำนวนครั้งของการละเมิดกฎหมาย หรือการคำนวณค่าความเสียหายจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น จักมีความเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตกับมีผู้บาดเจ็บจากการขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนนแล้วล่ะก็ สมควรหรือไม่ที่เราจะต้องเพิกเฉยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ด้วยเพราะเหตุผลดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้เสนอด้วยว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาบังคับใช้อีกต่อไป เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎหมายได้จริง คำตอบสำหรับประเด็นนี้ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ เมื่อผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งออกคำสั่งให้มีการยุติปฏิบัติการทางทหาร ด้วยเพราะคำนึงถึงความสูญเสียข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นต่อพลเรือนเป็นเรื่องสำคัญ นี่คือความสำเร็จของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเมื่อโรงพยาบาลแห่งหนึ่งยังคงมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้การรักษาในพื้นที่แนวหน้าของการสู้รบต่อไป การปฏิบัติหน้าที่เฉกเช่นนี้ คือการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ชัยชนะดังกล่าวข้างต้นไม่จำเป็นต้องปรากฏเป็นข่าวบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ แต่ทว่า ชัยชนะเหล่านี้ ถือเป็นการเสริมสร้างความมุ่งมั่นของเราที่จะดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม เพื่อให้ข้อกำหนดขอบเขตของการทำสงครามได้รับการปฏิบัติตามอยู่ต่อไปนั่นเอง

แต่ทว่า ยังมีอุปสรรคอันใหญ่หลวงรอเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการใช้งานอาวุธอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ในสมรภูมิสนามรบ ทั้งสองต่างเป็นตัวอย่างของสมการที่ประกอบด้วยตัวแปรหลายตัวที่เรามิอาจรู้ได้ กระนั้นก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอน นั่นคือ ไม่ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด แต่หลักการขั้นพื้นฐานสำคัญที่อยู่ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้นก็จะยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ในทุกวันนี้และต่อไปในอนาคต

ในเบื้องต้นนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของบรรดารัฐต่างๆ ทั้งหมดที่จะต้องเคารพ และทำให้อนุสัญญาเจนีวาได้รับความเคารพในทุกสถานการณ์ ทุกวันนี้ เราจึงต้องการให้ความแข็งแกร่งของระบบพหุภาคีที่นำมาใช้เมื่อ ค.ศ. 1949 ยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก ร่วมกันสนับสนุนให้มีการพัฒนาและปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อไป และร่วมกันรับประกันว่า ในอนาคต หลักการด้านมนุษยธรรมแห่งอนุสัญญาเจนีวา จะยังคงทำหน้าที่คุ้มครองมนุษยชาติ ในช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดต่อไปด้วย

นายคริสตอฟ ซุตแตร์
ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ