อังรี ดูนังต์ และผู้ก่อตั้งกาชาดสากล ทำความรู้จักผู้ก่อตั้งทั้ง 5 คน ของ ICRC

บทความ

อังรี ดูนังต์ และผู้ก่อตั้งกาชาดสากล ทำความรู้จักผู้ก่อตั้งทั้ง 5 คน ของ ICRC

หลายท่านอาจทราบว่าบิดาผู้เป็นเจ้าของแรงบันดาลใจในการก่อตั้งกลุ่มองค์กรกาชาด คือนายอังรี ดูนังต์ นักธุรกิจชาวสวิสที่บังเอิญเดินทางผ่านอิตาลี ในระหว่างที่การสู้รบในสมรภูมิโซลเฟริโนเพิ่งจบลงไม่นาน แต่ทราบหรือไม่ว่าผู้ก่อตั้งของ ICRC มีทั้งหมด 5 ท่านด้วยกัน แต่ละท่านล้วนมีส่วนร่วมในการวางรากฐานกลุ่มองค์กรกาชาดในมิติที่แตกต่าง โดยทุกท่านในที่นี้ ล้วนได้อ่านงานเขียนของนายอังรี ดูนังต์ – ความทรงจำแห่งโซลเฟริโน ตีพิมพ์ในปี 1862 และนำเหตุการณ์ที่ผู้เขียนบรรยายมาเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งองค์กรในภายหลัง

ในตอนที่นายอังรี ดูนังต์ เดินทางผ่านไปยังอิตาลี การสู้รบที่โซลเฟริโนได้จบลงไปแล้ว แต่ผลกระทบของสงครามยังหลงเหลืออยู่ ตัวเขาไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์ แต่ได้หยุดเพื่อช่วยเหลือบรรดาทหารบาดเจ็บที่ถูกทิ้งไว้ ร่วมกับชาวบ้านท้องถิ่น อังรี ดูนังต์อาจทำงานภาคสนามเพียงไม่กี่วัน แต่ภาพจำจากหายนะครั้งนั้นยังคงติดตา อังรี ดูนังต์เขียนหนังสือ ‘ความทรงจำแห่งโซลเฟริโน’ หลังจากนั้น หนังสือเล่มนี้กลายเป็นแรงบันดาลในการก่อกำเนิดกลุ่มองค์กรกาชาด เนื่องจากอังรี ดูนังต์ได้เรียกร้องข้อเสนอสามประการ 1. การยอมรับสถานะผู้บาดเจ็บของทหารที่ไม่อาจทำการสู้รบต่อ 2.การก่อตั้งหน่วยงานภายในประเทศในการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ โดยมีการสนับสนุนจากนานาชาติ 3.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเคารพความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ภาพการสู้รบที่โซลเฟริโน

เพียงสามปีหลังหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ ข้อเรียกร้องทั้งสามประการได้รับการตอบรับ อังรี ดูนังต์ได้รับการติดต่อจากบุคคลสำคัญอีก 4 ท่าน ที่ต้องการรวมมือกันเพื่อทำให้ความฝันของเขากลายเป็นความจริง บุคคลสำคัญทั้ง 4 ท่าน ประกอบไปด้วย นายพลกีโยม ดูโฟว – นายทหารผู้เคารพหลักการมนุษยธรรม กุสตาฟ มัวนิเย – นักกฎหมายผู้ได้รับการยกย่องในฐานะผู้วางรากฐานกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และศัลยแพทย์สองท่านได้แก่ ธีโอดอร์ เมานัวร์ และ หลุยส์ อัปเปีย

1. นายพลกีโยม ดูโฟว

นายพลกีโยม ดูโฟว เคยทำงานรับใช้จักรพรรดินโปเลียนมาก่อน ทั้งยังเป็นอาจารย์สอนหลานชายของพระองค์ ซึ่งต่อมาจะครองราชย์เป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 นายพลท่านนี้ได้รับการชื่นชมว่าเป็นสุภาพบุรุแห่งสนามรบ นอกจากเคารพทหารบาดเจ็บและปฏิบัติต่อเชลยศึกเป็นอย่างดี ท่านยังช่วยดูแลเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

นายพลกีโยม ดูโฟว

2. กุสตาฟ มัวนิเย

กุสตาฟ มัวนิเย เป็นนักกฎหมายผู้เชื่อว่าการเรียกร้องต่างๆ จำเป็นต้องมีการเขียนกฎกติการองรับ เขาผู้นี้ได้แรงบันดาลใจจากผลงานเขียนของนายอังรี ดูนังต์ – ความทรงจำแห่งโซลเฟริโน (A Memory of Solferino) และได้เป็นผู้นำแนวคิดจากหนังสือ มานำเสนอใหม่เป็นข้อกฎหมาย จนได้รับการยอมรับเป็นผู้บุกเบิกหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

กุสตาฟ มัวนิเย

3. ธีโอดอร์ เมานัวร์

ธีโอดอร์ เมานัวร์ มีอาชีพหลักเป็นศัลยแพทย์ แต่ทำหน้าที่ในองค์กรเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรเป็นที่ยอมรับในทุกระดับของสังคม เขาเป็นผู้เสนอว่าการรับพยาบาลอาสา จะต้องเปิดกว้างสำหรับคนทุกชนชั้น เนื่องจากทหารในกองทัพมาจากทุกภาคส่วนของสังคม เขาเชื่อว่าการทำงานขององค์กรจะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสามอย่าง 1.องค์กรจะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐ 2.การทำหน้าที่ภาคสนาม จะต้องปฏิบัติตามกฎของกองทัพ 3.พยาบาลอาสาจะต้องอยู่หลังเส้นปะทะเพื่อไม่ให้กีดขวางการทำงานของกองทัพ

ธีโอดอร์ เมานัวร์

4. หลุยส์ อัปเปีย

หลุยส์ อัปเปีย เป็นคุณหมอรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าธีโอดอร์ เมานัวร์ถึง 12 ปี เขาเข้าร่วมองค์กรตามคำชักชวนของรุ่นพี่และเป็นผู้เสนอไอเดียสำคัญ อาสาสมัครที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในสนามรบ จำเป็นต้องมีเครื่องหมายระบุตัวตน คุณหมอท่านนี้เสนอว่าปลอกแขนสีขาวน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี ต่อมาผู้ร่วมก่อตั้งท่านอื่นได้ระดมความเห็น โดยเลือกเอาเครื่องหมายกากบาทสีแดงมาวางบนปลอกแขนสีขาว เนื่องจากเป็นการกลับสีธงชาติของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของทุกท่าน จนกลายเป็นสัญลักษณ์กาชาดที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ คุณหมอท่านนี้ยังเป็นศัลยแพทย์คนแรกที่สวมปลอกแขนกาชาด ขณะทำหน้าที่ในสงครามปรัสเซีย-เดนมาร์ก เมื่อปี 1864

หลุยส์ อัปเปีย

5 ผู้ก่อตั้งของ ICRC แม้จะมีความตั้งใจเดียวกัน แต่ทั้ง 5 กลับเป็นบุคคลจากคนละช่วงเวลาในปี 1863 ซึ่งเป็นปีที่องค์กรของเราถูกก่อตั้ง ผู้ก่อตั้งทั้งห้ามีอายุแตกต่างกันร่วม 40 ปี! นายพลกีโยม ดูโฟว อายุ 76 ปี ถือเป็นผู้อาวุโสที่เคยผ่านสงครามจริงมาหลายครั้งจนได้รับการยอมรับเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ คุณหมอธีโอดอร์ เมานัวร์ เป็นศัลยแพทย์วัย 57 ทำหน้าที่เป็นเหมือนที่ปรึกษา คุณหมอหลุยส์ อัปเปีย เป็นรุ่นน้องและลูกศิษย์ของคุณหมอเมานัวร์ เขาอายุ 45 ทำหน้าที่ให้ความเห็นด้านการแพทย์เป็นหลัก กุสตาฟ มัวนิเย เป็นนักกฎหมายที่อยู่ในวัยใกล้กับอังรี ดูนังต์มากที่สุด เขามีอายุ 37 ปี ในช่วงที่มีการก่อตั้งองค์กร ส่วนอังรี ดูนังต์ เจ้าของความคิดหลัก กลับเป็นบุคคลที่มีอายุน้อยที่สุด โดยเขามีอายุอยู่ที่ 35 ปี เท่านั้น

แบ่งปันบทความนี้