3,780 ครั้ง คือจำนวนที่ ICRC ได้รับรายงาน เกี่ยวกับการโจมตีบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ขัดแย้งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านมติห้ามโจมตีสถานพยาบาลอย่างเป็นทางการในปี 2016
แม้จะมีมติอย่างเป็นทางการ แต่รายงานที่เราได้รับ เปิดเผยว่าในช่วงเวลา 5 ปีนี้ บุคลากรทางการแพทย์และแม้แต่ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษายังคงถูกคุกคามด้วยความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ การปล้น การพุ่งเป้าโจมตีไปที่สถานพยาบาลหรือรถพยาบาลที่กำลังทำหน้าที่ตามหลักมนุษยธรรม หรือแม้กระทั่งการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เรื่องวัคซีน หรือความรู้ด้านสุขอนามัยอื่นๆ
ในจำนวนการโจมตีกว่าสามพันครั้งที่เราได้รับข้อมูลในระหว่างปี 2016-2021 เหตุรุนแรงราว 2 ใน 3 เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง โดยประเทศที่มีการละเมิดมติของสหประชาชาติมากที่สุด คืออัฟกานิสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อิสราเอล และพื้นที่ยึดครองในซีเรีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุปะทะรุนแรงบ่อยครั้ง
“ประชาคมโลกล้มเหลวในการปกป้องผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วย แม้ว่าระบบสาธารณสุขจะถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่ความพยายามของเราดูเหมือนจะยังไม่มากพอ เพราะการโจมตีบุคลาการทางการแพทย์และสถานพยาบาลยังคงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน” ปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธาน ICRC กล่าว “ในทุกหนึ่งการโจมตี มีบุคคลอีกมากมายที่จะได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษา นั่นเป็นเรื่องที่น่าเศร้า” ประธาน ICRC เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธทุกฝ่าย คำนึงถึงความสำคัญในจุดนี้ เพราะการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นหลักการสากลที่ได้รับการปกป้องตามกฎหมาย
ย้อนกลับไปในวันที่ 3 พฤษภาคม 2016 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านมติห้ามโจมตีสถานพยาบาลอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการลงนามสนับสนุนจาก 80 รัฐ มตินี้นอกจากจะให้ความคุมครองบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลในพื้นที่ขัดแย้ง ยังระบุแนวทางที่แต่ละรัฐพึงปฏิบัติเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตี อย่างไรก็ดีการนำแนวทางเหล่านี้ไปปฏิบัติจริง ยังคงห่างไกลเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้
จุดเริ่มต้นที่สำคัญอาจเริ่มจากแนวทางปฏิบัติที่เป็นตัวอย่าง ICRC ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อรณรงค์ลดการนำอาวุธปืนเข้าไปในห้องฉุกเฉิน หลังจากแคมเปญนี้เริ่มไปได้ราว 5 เดือน การนำอาวุธปืนเข้าสถานพยาบาลก็ลดลงถึง 42% ช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานพยาบาล
ICRC ยังมีแคมเปญที่น่าสนใจในอีกหลายพื้นที่ยกตัวอย่างเช่น
ในประเทศเอลซัลวาดอร์ ICRC ทำงานร่วมกับกาชาดเอลซัลวาดอร์ นำบุคลกรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในยามฉุกเฉินมาร่วมกันเพื่อพัฒนาเครื่อข่ายและวิธีทำงาน รวมไปถึงการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างเป็นระบบ
ในประเทศเลบานอน ICRC ได้เป็นตัวกลางเจรจากับกลุ่มผู้ติดอาวุธเพื่อยอมรับข้อตกลงไม่โจมตีสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
ในช่วงปีที่ผ่านมา การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เน้นย้ำความสำคัญของระบบสาธารณสุขและการปกป้องบุคลากรทางการแทพย์ เราได้รับรายงานเกี่ยวกับการทำร้ายบุคคลกรทางการแพทย์อันเนื่องมาจากความเข้าใจผิดๆ และการตีตราทางสังคม บ้างกลัวว่าบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้แพร่เชื้อ ในบางพื้นที่ ข่าวลือว่าหมอและพยาบาลทำการฉีดยาอันตรายต่อผู้ป่วยโควิด-19 สร้างความเกลียดชังที่นำไปสู่การทำร้ายและกีดกันบุคลากรทางการแทย์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2020 ICRC ได้รับรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์อันมีที่มาเกี่ยวข้องกับโควิด-19 มากถึง 611 ครั้ง ถือว่าสูงกว่าปกติถึง 50%
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าเสียใจเกิดขึ้นในโคลอมเบีย เมื่อกลุ่มติดอาวุธข่มขู่หมอผู้รักษาคนไข้โควิด-19 หลังคนไข้เสียชีวิตลงจากโรคร้าย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้คุณหมอต้องย้ายโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีหมอคอยรักษา
ฟิลิปโป กาติ บุรุษพยาบาลของ ICRC ในซูดานใต้ กล่าวถึงประสบการณ์เลวร้ายเมื่อกลุ่มติดอาวุธใช้ปืนจ่อหน้าเขา เพื่อข่มขู่ให้กาติบอกเลขเตียงของนักสู้ฝ่ายตรงข้ามที่กำลังได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล
“พวกเขาบอกให้เราทุกคนออกไป ไม่เช่นนั้นจะถูกฆ่า พวกเราพยายามพาคนไข้ออกไปให้ได้มากที่สุด แต่เป็นเรื่องน่าเสียใจที่กลุ่มติดอาวุธกลับมา และลงมือฆ่าคนไข้ติดเตียง 12 รายที่ไม่สามารถเดินทางออกจากโรงพยาบาลได้”
“กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ขาดความเข้าใจว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นไม่แบ่งแยก พวกเราให้ความช่วยเหลือทุกฝ่าย และในวันข้างหน้า บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเหล่านี้อาจเป็นพวกเขาเองก็เป็นได้”
แปลและเรียบเรียงจาก Health-care providers, patients suffer thousands of attacks on health care services the past 5 years, ICRC data shows