การส่งสัญญาณด้านการคุ้มครองทางกฎหมายในโลกดิจิทัล คือวิถีใหม่ของเครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัดหรือไม่

บทความ / บล็อค

การส่งสัญญาณด้านการคุ้มครองทางกฎหมายในโลกดิจิทัล คือวิถีใหม่ของเครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัดหรือไม่

 ปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสู้รบมากขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมาพร้อมกับความเสี่ยงจำนวนมาก แต่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็อาจมาพร้อมกับโอกาสใหม่ ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจเป็นสิ่งที่ช่วยส่งสัญญาณทางดิจิทัลว่า โครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินบางอย่างได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งกว่า 150 ปี ที่ผ่านมา เครื่องหมายกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง และไม่นานมานี้คือ เครื่องหมายคริสตัลแดง ได้ร่วมกันทำหน้าที่ดังกล่าวนี้บนโลกทางกายภาพ แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ หากพิจารณาจากมุมมองด้านความปลอดภัยของโลกไซเบอร์แล้ว ว่าควรมีการทำเครื่องหมายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่หน่วยงานที่ได้รับการคุ้มครองในช่วงเวลาที่เกิดการขัดกันทางอาวุธ รวมถึงสมควรแนะนำให้มีการคุ้มครองด้วยหรือไม่

ในบทความนี้ ทิลแมน โรเดนเฮาเซอร์ (Tilman Rodenhäuser) ที่ปรึกษากฎหมายของ ICRC, ลอรองต์ จีเซล (Laurent Gisel) หัวหน้าหน่วยอาวุธและการสู้รบของ ICRC; ลาร์รี เมย์บี (Larry Maybee) ที่ปรึกษากฎหมายของสภากาชาดออสเตรเลีย; ฮอลลี จอห์นสตัน (Hollie Johnston) ที่ปรึกษาอาวุโสของสภากาชาดออสเตรเลีย; และ ฟาบรีซ์ เลาเพอร์ (Fabrice Lauper) ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของ ICRC นำเสนอแนวหลักการและแนวความคิดของโครงการวิจัย ICRC เกี่ยวกับการทำให้เครื่องหมายกาชาด เสี้ยววงเดือนแดง และคริสตัลแดงมีความเป็นดิจิทัล

ปีนี้ สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศโบโรเนียและแบงก์เซียดำเนินมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ช่วงเช้าขณะดวงอาทิตย์กำลังส่องแสงขึ้น เครื่องบินรบ F-15 ของโบโรเนียจำนวน 2 ลำ ได้บินเหนือท้องฟ้าของเมืองแห่งหนึ่งเพื่อมุ่งเป้าไปยังเป้าหมายทางทหารตามที่วางแผนไว้ กระนั้นก็ตาม สิ่งที่นักบินไม่อาจรู้เลยคือ ผู้ที่ทำหน้าที่วางแผนการปฏิบัติงานในครั้งนี้ได้ระบุเป้าหมายการโจมตีที่ผิดพลาดไปจากที่ควร แทนที่จะเป็นโกดังทหารที่นักบินคิดว่าตนกำลังมุ่งเป้าไปอยู่นั้น แต่ทว่าเครื่องบินรบกลับกำลังมุ่งไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศแบงก์เซีย และโรงพยาบาลแห่งนี้ให้บริการแก่ชุมชนขนาดประชากร 55,000 คนอยู่

นักบินทั้งสองลำได้ขับเครื่องบินไปถึงจุดหมาย พวกเขาพร้อมที่จะทิ้งอาวุธนำวิถีตามที่กำหนดในเป้าหมาย แต่ก่อนที่ดำเนินการตามแผนดังกล่าวนั้น นักบินคนหนึ่งสังเกตเห็นบนจอแสดงผลในห้องเครื่อง เขาเห็นบนเป้าหมายว่ามีการทาสีบางอย่างบนหลังคา นั่นคือกากบาทสีแดงขนาดใหญ่บนพื้นหลังสีขาว มีขนาดประมาณ10 ตารางเมตร นักบินคนดังกล่าวมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และข้อกำหนดที่ระบุว่า สถานประกอบการทางการแพทย์ได้รับการคุ้มครองจากการถูกโจมตี และเครื่องหมายกาชาดเป็นเครื่องหมายของการคุ้มครองนั้น เธอจึงยุติการโจมตีทันที

สถานการณ์สมมติข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเครื่องหมายกาชาด เครื่องหมายเสี้ยวงเดือนแดง และเครื่องหมายคริสตัลแดงที่ใช้ในการระบุบุคลากร หน่วยงาน สถานประกอบการ และยานพาหนะที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษภายใต้ IHL

ปัจจุบัน สงครามกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ปฏิบัติการทางไซเบอร์ได้กลายเป็นสงครามหรือการขัดกันทางอาวุธที่เกิดขึ้นจริงอีกรูปแบบหนึ่ง และรัฐต่าง ๆ ก็กำลังพัฒนาขีดความสามารถทางไซเบอร์ทหารมากขึ้น การพัฒนาดังกล่าวมาพร้อมกับความเสี่ยง แต่ก็อาจมาพร้อมโอกาสต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจช่วยส่งสัญญาณทางดิจิทัลว่า โครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินบางอย่างได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือไม่ จะเกิดอะไรขึ้นหากชาวโบโรเนียตั้งเป้าที่จะปรับใช้มัลแวร์เพื่อขัดขวางเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ที่คิดว่าถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร จะมีเครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือสัญญาณดิจิทัลที่ระบุว่า เซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวบางเซิร์ฟเวอร์ได้รับการคุ้มครองในฐานะเครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัดหรือไม่

คำถามนี้ ICRC กำลังศึกษาร่วมกับพันธมิตรหลายราย ภายใต้โครงการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเครื่องหมายกาชาด เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง และเครื่องคริสตัลแดงให้มีความเป็นดิจิทัล โครงการนี้จะศึกษาดูว่า เครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัดเหล่านี้จะใช้ในสภาพแวดล้อมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้หรือไม่ และอย่างไร โดยพิจารณาอย่างละเอียดในเชิงความเป็นไปได้ทางเทคนิคและคุณค่าเชิงป้องกันของการทำเครื่องหมายดิจิทัลสินทรัพย์ของหน่วยงานที่ได้รับการคุ้มครองในช่วงเวลาที่เกิดการขัดกันทางอาวุธ

ในบทความนี้ เราจะนำเสนอให้ผู้อ่านทราบถึงแนวความคิดหลักและแนวคิดที่เป็นนิยามความหมายของโครงการนี้ ในบทความอีกสองชิ้นที่จะนำเสนอต่อไป ETH Zurich Center for Cyber Trust และ Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory จะนำเสนอเกี่ยวกับตัวเลือกทางเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยสำหรับการจัดทำเครื่องหมายดิจิทัลของโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของหน่วยงานที่ได้รับการคุ้มครอง

เครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัด เพื่อการระบุบ่งชี้และการคุ้มครองป้องกันในระหว่างการสู้รบ

การคุ้มครองทางกฎหมายของสถานพยาบาลในระหว่างการขัดกันทางอาวุธนั้นระบุไว้อยู่ใน IHL แนวความคิดที่เป็นแก่นแท้ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1864 ซึ่งยังคงเป็นแนวคิดหลักของ IHL จนถึงทุกวันนี้คือ ผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วย และผู้ให้การรักษาดูแลแก่พวกเขา ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ สถานประกอบการ หน่วยประกอบการ และยานพาหนะ จะต้องได้รับความเคารพและคุ้มครองในทุกสถานการณ์ในระหว่างการขัดกันทางอาวุธ (ดูตัวอย่าง เช่น กฎข้อ 25, 28 และ 29 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC) [1]

นับเป็นเวลากว่า 150 ปีแล้วที่เครื่องหมายกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง และเครื่องหมายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้คือ เครื่องหมายคริสตัลแดง ได้ให้ความคุ้มครองดังกล่าวเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่สวมใส่หรือสถานที่และวัตถุที่มีเครื่องหมายเหล่านี้กำกับจะต้องได้รับการคุ้มครองจากอันตราย (ดูกฎข้อ 30 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC) เอกสารทางกฎหมายของ IHL (ดูข้อ 44 ของอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 และข้อ 18 ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1) ให้อนุญาตและกำกับการใช้เครื่องหมายโดยเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และปฏิบัติงานทางศาสนาของกองทัพ ตลอดจนหน่วยและยานยานพาหนะแพทย์พลเรือนที่ได้รับอนุญาตในระหว่างการขัดกันทางอาวุธ เครื่องหมายยังระบุบ่งชี้และคุ้มครอง ICRC และสหพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่เกิดการขัดกันทางอาวุธ และองค์กรสมาชิกองค์กรอื่น ๆ ของกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (กลุ่มองค์กรกาชาดฯ) เมื่อต้องดำเนินกิจกรรมทางการแพทย์ในช่วงสงคราม[2]

ตามธรรมเนียมแล้ว IHL จินตนาการเครื่องหมายในรูปแบบทางกายภาพ กล่าวคือ เครื่องหมายกากบาทแดง เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง หรือเครื่องหมายคริสตัลแดงบนพื้นหลังสีขาวขนาดใหญ่ เมื่อติดหรือแสดงบนบุคคลหรือวัตถุที่ได้รับการคุ้มครอง เครื่องหมายดังกล่าวจะทำหน้าที่แสดงออกให้เห็นถึงการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย

n example of the use of the distinctive emblem by the medical services of armed forces.

กระนั้นก็ดี ภาระหน้าที่ในการเคารพและคุ้มครองบุคคลและวัตถุดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการทำสงครามเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมปฏิบัติการทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในบริบทของการขัดกันทางอาวุธ นอกจากนี้ ความจำเป็นที่จะต้องมีการส่งสัญญาณถึงความคุ้มครองนี้ไปยังผู้ปฏิบัติการไซเบอร์จึงมีความสำคัญ เนื่องจากการดำเนินการทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับอาคารและสถานที่ทางการแพทย์ยังคงเกิดขึ้นอยู่หลายแห่งขณะนี้ รวมถึงเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดการขัดกันทางอาวุธที่จำเป็นต้องมีการรักษาระบบการแพทย์และโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้ใช้งานได้อย่างเร่งด่วน ในทำนองเดียวกัน ในขณะที่ ICRC และองค์กรอื่น ๆ ภายใต้กลุ่มองค์กรกาชาดฯ กำลังพยายามทำให้ระบบและการดำเนินงานของตนมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่องค์กรเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อของการดำเนินการทางไซเบอร์ก็มีอยู่มากเช่นกัน

 

ประเด็นเรื่อง ‘เครื่องหมายดิจิทัล’

การค้นคว้าหามาตรการที่เป็นรูปธรรมที่จะช่วยเสริมสร้างการคุ้มครองความช่วยเหลือทางการแพทย์ของกองทัพและหน่วยงานทางการแพทย์และมนุษยธรรมอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตในระหว่างการขัดกันทางอาวุธนั้น แนวคิดในการพัฒนาเครื่องหมายเพื่อส่งสัญญาณหรือเครื่องหมายดิจิทัลใหม่ ๆ หรือวิธีการระบุตัวตนอื่น ๆ ในโลกไซเบอร์ (เช่น ‘เครื่องหมายดิจิทัล’) คือวิธีแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้ แนวคิดดังกล่าวมีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือ แนวคิดนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกรอบกฎหมายและนโยบายที่เป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศในเรื่องของ ‘เครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัด’ หรือ ‘สัญญาณพิเศษอันเด่นชัด’ (เช่น สัญญาณไฟ วิทยุ และอิเล็กทรอนิกส์ ดูภาคผนวก 1 ของพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ICRC หยิบยกแนวคิดเรื่อง ‘เครื่องหมายดิจิทัล’ ขึ้นมาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และผู้เชี่ยวชาญในระดับปฏิบัติการ มีการระบุถึงประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงความเสี่ยงจากการใช้เครื่องหมายดิจิทัล (ดูที่นี่ (หน้า 9; 39-42) และที่นี่ (หน้า 27) -31) ในอีกด้านหนึ่ง ‘เครื่องหมายดิจิทัล’ อาจช่วยโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของหน่วยงานที่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการระบุตัวตนและช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการกำหนดเป้าหมายผิดพลาดหรือได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการทางไซเบอร์ ในทางกลับกัน สัญญาณดิจิทัลมีความเสี่ยงที่จะระบุชุด “เป้าหมายอ่อน” ให้แก่ผู้มุ่งร้าย ซึ่งอาจทำให้เกิดการกำหนดเป้าหมายได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้มุ่งร้ายอาจใช้ ‘เครื่องหมายดิจิทัล’ ในทางที่ผิด โดยใช้เพื่อหลอกลวงว่า การดำเนินงานของตนมีสถานะได้รับความคุ้มครองภายใต้ IHL ซึ่งประโยชน์และความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในโลกทางกายภาพ ดังนั้น คำถามคือ สภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT environment) มีความแตกต่างกันหรือไม่และอย่างไร

กระบวนการวิจัยและให้คำปรึกษาเพื่อประเมินความเป็นไปได้และคุณค่าเชิงป้องกันของเครื่องหมายดิจิทัลคุณ

ปี 2020 ICRC ริเริ่มโครงการเพื่อศึกษาวิธีการทางเทคนิคในการระบุตัวตนโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลดิจิทัลที่เป็นของหน่วยงานที่มีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัดของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ

ในตอนแรก ICRC ร่วมมือกับสถาบันวิจัยสองแห่ง ได้แก่ ETH Zurich Center for Cyber ​​​​Trust และ Johns Hopkin University Applied Physics Laboratory เพื่อค้นหาวิธีการทางเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการทำเครื่องหมายโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของหน่วยงานที่ได้รับการคุ้มครองในรูปแบบดิจิทัล ICRC ร่วมมือกับสภากาชาดออสเตรเลีย (Australian Red Cross – ARC) เพื่อประชุมหารือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ที่มีความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ ในการศึกษาวิธีแก้ปัญหาที่เสนอโดยนักวิจัยและหารือเกี่ยวกับความเสี่ยง ประโยชน์ และความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครื่องหมายหรือสัญญาณพิเศษอันเด่นชัดในโลกไซเบอร์ การประชุมหารือนี้กำลังจะเกิดขึ้น และจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และด้านปฏิบัติการจากภูมิหลังที่แตกต่างกันเข้าร่วมด้วย

วัตถุประสงค์ของการประชุมหารือคือเพื่อประเมินว่า ‘เครื่องหมายดิจิทัล’ อาจคาดหวังให้ช่วยเพิ่มการคุ้มครองจากปฏิบัติการทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ใช้หรือไม่ หากการประเมินนี้ระบุวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และคุ้มครองได้ การศึกษาว่าจะสามารถใช้เครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัดในสภาพแวดล้อมด้าน ICT ได้หรือไม่และอย่างไรจะสิ้นสุดลง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการหรือขั้นตอนใหม่ของโครงการ ‘เครื่องหมายดิจิทัล’ ต่างหาก

หากมองจากมุมมองทางเทคนิคแล้ว จะต้องมีการพัฒนาและทดสอบต้นแบบของ ‘เครื่องหมายดิจิทัล’ และที่สำคัญ ICRC ซึ่งได้รับมอบอาณัติให้ ‘ทำหน้าที่เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้ในการขัดกันทางอาวุธและเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนา’ จะต้องนำเสนอแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้แก่รัฐและหารือถึงวิธีการที่จะบรรจุไว้ในกรอบกฎหมายที่มีอยู่ การประชุมหารือเพิ่มเติมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มองค์กรกาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงในระดับที่กว้างขึ้น

* * *

ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร โครงการนี้สะท้อนให้เห็นว่า กรอบงาน IHL ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะจัดการและรองรับพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้อย่างไรบ้าง ผลลัพธ์ของโครงการวิจัยนี้อาจส่งผลต่อวิธีการทำงานของคู่พิพาทบนโลกไซเบอร์ได้ ให้นึกย้อนกลับไปที่สถานการณ์ตัวอย่างที่นำเสนอในตอนต้นของบทความนี้. . .

ขณะนี้สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธดำเนินมาเป็นปีที่ 4 แล้ว

แบงก์เซียเริ่มพัฒนามัลแวร์ที่จะแพร่กระจายอัตโนมัติและส่งผลต่อซอฟต์แวร์บนคลาวด์ที่โบโรเนียใช้ในการจัดการด้านพัสดุและจัดส่งทางทหาร ขณะทำการลาดตระเวนอยู่นั้น กองบัญชาการไซเบอร์ของแบงก์เซีย พบว่ามีการใช้งานซอฟต์แวร์เป้าหมายบ่อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงเครื่องหมายที่ปรากฏบนระบบต่าง ๆ ที่มี ‘เครื่องหมายดิจิทัล’ ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมากำกับไว้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ฝ่ายผู้ปฏิบัติงานก็พบว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ใช้งานโดยโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

กองบัญชาการไซเบอร์ของแบงก์เซียรู้ว่า เครื่องหมายและสัญญาณพิเศษอันเด่นชัดเป็นสัญญาณของการได้รับความคุ้มครอง ผู้บัญชาการจึงสั่งให้ทีมจัดตั้งระบบโปรแกรมมัลแวร์ใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่เป็นของโรงพยาบาล หลังได้รับการแจ้งเตือนให้รู้ว่าหน่วยทางการแพทย์เป็นผู้ใช้ซอฟต์แวร์ สืบเนื่องจากเครื่องหมายดิจิทัลและการลาดตระเวนอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้บัญชาการจึงสั่งให้โปรแกรมเมอร์ทบทวนตรวจสอบขั้นตอนและศักยภาพทางไซเบอร์ด้านโปรแกรมให้มีลักษณะที่ผลกระทบที่เป็นอันตรายไม่อาจกระตุ้นให้ปฏิบัติการด้วยระบบที่มีเครื่องหมายดิจิทัลกำกับ

 [1] จะสูญเสียการคุ้มครองหากถูกใช้นอกหน้าที่ด้านมนุษยธรรมเพื่อกระทำการที่เป็นอันตรายต่อศัตรู

 [2] หน่วยงานภายใต้กลุ่มองค์กรกาชาดฯ จะต้องใช้เครื่องหมายเพื่อระบุหน่วย ยานพาหนะ บุคลากร และอาสาสมัครของตนทุกครั้ง โดยนิยามเป็น ‘การใช้เพื่อบ่งชี้’ เมื่อใช้เป็นสิ่งบ่งชี้แล้วนั้น จะต้องแสดงเครื่องหมายพร้อมกับชื่อหรืออักษรย่อของหน่วยงานภายใต้กลุ่มองค์กรกาชาดฯ ที่เกี่ยวข้องและในขนาดเล็กเสมอ

ดูเพิ่มเติม

แบ่งปันบทความนี้