หลังคิงส์แลนดิ้งโดนเผาจนค่าฝุ่นน่าจะแซงหน้าจังหวัดเชียงใหม่ คงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่าราชินีแดนี่ กลายเป็นผู้ละเมิดกฎแห่งสงครามที่สร้างความสะเทือนใจให้ใครหลายคนจนยากจะกู้กลับ ในมุมมองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) การใช้มังกรถล่มเมืองถูกอธิบายไว้อย่าไร และแม่มังกรทำผิดกฎสงครามข้อไหนอีก?
1. มังกรเทียบเท่าอาวุธสงคราม – ในช่วงแรกของการต่อสู้ การใช้มังกรของแดนี่ถือว่าไม่ผิดกฎหมายมนุษยธรรม จริงอยู่ว่ามังกรดูจะเป็นอาวุธที่เกินกว่าเหตุ เพราะสร้างความเจ็บปวดทรมารให้ฝ่ายตรงข้ามจากการถูกเผาทั้งเป็น
มังกรยังถูกมองเปรียบเทียบกับอาวุธสังหารอัตโนมัติ (killer robots หรือ lethal autonomous weapons) เพราะไม่สามารถจำกัดเป้าหมายแถมไม่สามารถควบคุมโดยมนุษย์ได้ 100% อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาอาวุธในมือ เห็นจะไม่มีอาวุธไหนที่มอบความได้เปรียบทางการทหารได้เทียบเท่า การนำมังกรเข้ามาใช้จึงไม่ผิดกฎแห่งสงครามตั้งแต่ต้น
ในช่วงแรกของสงครามแดนี่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เน้นไปที่กองเรือของอูรอน เกรย์จอย และแนวรบตามกำแพง จึงถือว่าไม่ผิดกฎอีกเช่นกัน หากแม่มังกรยอมวางมือหลังเสียงระฆัง เธอจะได้ทั้งเมือง ได้ทั้งมง แถมได้ใจทีมกฎหมายของเราไปแบบสวยๆ
2.โจมตีทหารที่วางอาวุธ – ในโลกของ Game of Thrones เสียงระฆังทำหน้าที่คล้ายธงขาว การประกาศยอมแพ้ของฝ่ายตรงข้าม ทำให้พลรบตกอยู่ในฐานะนักโทษสงครามและเชลยศึก จึงได้รับการคุ้มครองใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี
3.ทำลายชีวิตและทรัพย์สินพลเรือน – การใช้ไฟมังกร ถูกหลักหากนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร แต่เป็นการละเมิดกฎแห่งสงครามเมื่อใช้โดยไม่เลือกหน้า การโจมตีของแดนี่ในช่วง 30 นาทีสุดท้าย นอกจากไม่มีจุดประสงค์ทางทหาร ยังไม่สร้างความได้เปรียบเพิ่มเติมต่อการรบ แต่เป็นการกระทำไร้มนุษยธรรมที่สร้างความทุกข์ยากให้พลเรือนเกินความจำเป็น
4.ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกคุมขัง – แม้เจมี่ แลนนิสเตอร์จะเปลี่ยนสีไปมาไม่น่าไว้ใจ แต่การคุมขังนักโทษด้วยเครื่องพันธนาการที่คอ ถือว่าผิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
เกรย์วอร์ม – ทิ้งภาพทหารที่ปฎิบัติตามกฎแห่งสงครามอย่างเคร่งครัดด้วยการเปิดฉากโจมตีทหารฝ่ายแลนนิสเตอร์ที่ยอมแพ้ แม้ว่าทหารแต่ละคนในกองทัพจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน (การพรากชีวิตพลเรือน, ทำลายทรัพย์สินของผู้ไม่มีส่วนร่วมในการรบ, การล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ) แต่ในฐานะผู้บังคับบัญชา เกรย์วอร์มมีหน้าที่ใช้มาตรการที่สมเหตุสมผลเพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดฎหมายมนุษยธรรมของพลทหารใต้การปกครอง
เซอร์ซี่ – ความตั้งใจใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ถือว่าทำผิดกฎแห่งสงครามก็จริง แต่ประเด็นที่ว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของแดนี่ ที่ต้องประเมินความเสี่ยงและทำให้แน่ใจว่าการโจมตีใดๆ ต่อเป้าหมาย จะไม่สร้างความเสียหายกับพลเรือนมากเกินไปเมื่อเทียบกับความได้เปรียบทางการทหารที่ได้รับหลังการโจมตี
#ทำร้ายจิตใจคนดูแต่ไม่ผิดกฎแห่งสงคราม
การต่อสู้ระหว่างอูรอน เกรย์จอย กับ เจมี่ แลนนิสเตอร์ และ มวยคู่ใหญ่ เดอะ เมาเท่น (The Mountain) กับ เดอะ ฮาวด์ (The Hound) ถือว่าไม่ผิดกฎแห่งสงคราม แต่เนื่องจากการต่อสู้ที่ว่า ไม่ได้สร้างผลทางการทหารจึงอาจมองว่าเป็นการฆาตกรรมทั่วไป ซึ่งจะมีความผิดตามตัวบทกฎหมายแห่งชาติ (National Law)
การเผาทั้งเป็นลอร์ดวาริส ไม่ถือว่าละเมิดกฎแห่งสงครามอีกเช่นกัน กฎแห่งสงครามให้ความคุ้มครองพลเรือน ผู้ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และทหารที่วางอาวุธ แต่ไม่รวมถึงพลรบหรือที่ปรึกษาทางการทหาร อย่างไรก็ดี การที่แดนี่ลงโทษประหารชีวิตบุคลากรของตัวเองโดยไม่มีการตั้งศาลสอบสวนตามหลักการสากล ถือว่าเธอได้ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Human Rights Law – IHRL)
#รางวัลผู้รักษากฎแห่งสงครามดีเด่นประจำสัปดาห์
ธีเรียน แลนนิสเตอร์ – หลังจากวาริสแชมป์เก่าสัปดาห์ก่อนถูกเผาเป็นเถ้าตั้งแต่ 10 นาทีแรก รางวัลนี้จึงถูกมอบต่อให้ธีเรียน ที่ปรึกษาผู้ชาญฉลาดที่พยายามทำทุกวถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการเผาเมืองด้วยมังกร พร้อมเสนอทางรอดมากมายให้การสู้รบจบลงทันทีที่เสียงระฆังดังสนั่น
จอห์น สโนว์ // เซอร์ ดาวอส – เราอยากมอบรางวัลชมเชยให้สองหนุ่มที่พยายามไม่แพ้กันเพื่อหยุดการกระทำป่าเถื่อนระหว่างการสู้รบ หวังว่าจอห์นจะมีบทพูดมากกว่านี้ในตอนต่อไป ไม่แน่ว่าทั้งมงกุฎผู้รักษากฎหมายมนุษยธรรมดีเด่นและบังลังก์เหล็กที่ชิงกันมาตลอดหลายปี จะลงที่นายจอห์นในตอนสุดท้าย
ใครพลาดบทวิเคราะห์ของสัปดาห์ก่อน ตามอ่านได้ในลิงค์นี้ ?https://bit.ly/2HiDkIiแล้วพบกันในสัปดาห์ต่อไป
Reference: ขอบคุณข้อมูลจาก Australian Red Cross