การประชุมรัฐภาคีว่าด้วยสนธิสัญญาการค้าอาวุธครั้งที่ 2

บทความ / บล็อค

การประชุมรัฐภาคีว่าด้วยสนธิสัญญาการค้าอาวุธครั้งที่ 2

ในระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2559 นี้ได้มีการประชุมว่าด้วยสนธิสัญญาการค้าอาวุธ หรือ ATT ครั้งที่ 2 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประเด็นสำคัญจะเน้นไปที่การควบคุมอาวุธเพื่อป้องกันความรุนแรงทางเพศ การเคลื่อนย้ายอาวุธเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้ง การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ต้องการรับรองสนธิสัญญา และ ประเด็นแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

คริสทีน เบียร์ลี่ รองประธานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้กล่าวระหว่างการเปิดประชุมรัฐภาคีว่าด้วยสนธิสัญญาการค้าอาวุธ (ATT)เรียกร้องให้ประเทศต่างๆทั่วโลกให้ยุติการเคลื่อนย้ายอาวุธและเครื่องกระสุนไปให้กับกลุ่มต่างๆที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ๆมีการขัดกันทางอาวุธและละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ซึ่งปัจจุบันการควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธปกติเข้าไปในพื้นที่ถือว่ายังไม่มีการควบคุมเพียงพอ
“การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของอาวุธและเครื่องกระสุนก่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทำให้เกิดการก่อการร้ายและความรุนแรงทางเพศ เป็นวงจรของความรุนแรงที่นำไปสู่การขัดกันทางอาวุธที่ไม่มีวันจบสิ้น” เบียร์ลี่กล่าว
เธอระบุว่าในซีเรียเรื่อยไปจนถึงซูดานใต้ ในลิเบียไปจนถึงเยเมน การไหลบ่าของอาวุธก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อพลเรือนชาย หญิงและเด็กๆ และในละตินอเมริกา สถานการณ์รุนแรงทางอาวุธได้นำไปสู่สถาน การณ์ที่น่าตื่นตระหนกด้านมนุษยธรรมในหลายประเทศ
เบียร์ลี่กล่าวว่าสนธิสัญญาการค้าอาวุธ (ATT) เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆได้มีโอกาสร่วมสร้างความแตกต่างด้วยการยุติการการไหลบ่าของอาวุธเข้าไปในเขตที่มีความขัดแย้งที่ซึ่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ไม่มีความหมาย
“หัวใจสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้ก็คือวัตุประสงค์เชิงมนุษยธรรม—ศีลธรรมและกฎหมายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อยุติความทุกข์ทรมานของผู้คนและเคารพต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนผ่านทางการควบคุม การเคลื่อนย้ายและลำเลียงอาวุธอย่างเข้มงวด ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เกิดบรรยากาศที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความสงบสุขในระดับภูมิภาคและระดับโลก” เบียร์ลี่เสริม
การประชุมนี้ได้มีการพิจารณาจัดตั้งกองทุนที่เรียกว่า Voluntary Trust Fund ซึ่งจะเป็นทุนที่นำไปสนับสนุนประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือในการรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศต่างๆสามารถจัดการกับคลังอาวุธและเครื่องกระสุนและการควบคุมพื้นที่ชายแดน ICRC จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆที่มีศักยภาพร่วมกันบริจาคให้กับกองทุนนี้
สนธิสัญญาการค้าอาวุธมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการค้าอาวุธปกติในระดับนานาชาติ สนธิสัญญามีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งปัจจุบันมี 87 ประเทศที่ให้การรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้และอีก 46 ประเทศมีสถานะเป็นรัฐผู้ลงนามแต่ยังไม่ได้ให้การรับรองแต่อย่างใด

คลิ๊กเพื่ออ่านสุนทรพจน์ฉบับเต็มของคริสทีน เบียร์ลี่

แบ่งปันบทความนี้