บทความโดยอีเวตต์ อิซซาร์ ที่ปรึกษากฎหมาย ICRC

เชลยศึกคนแรก ของการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศที่ประเทศยูเครนถูกดำเนินคดีและตัดสินไปแล้ว การพิจารณาคดีดังกล่าวจะทำให้มีการพิจารณาคดีอีกหลายร้อยรายหรืออีกหลายพันรายตามมา เนื่องจากฝ่ายต่าง ของความขัดแย้งได้ออกมาระบุว่าตั้งใจที่จะควบคุมตัวเชลยศึกไว้ให้รับผิดต่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรง อย่างรัสเซียเองก็รายงานออกมาว่าได้เริ่มสอบสวนเชลยศึกชาวยูเครนกว่า 1,000 คนแล้ว ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดของฝั่งยูเครนก็กล่าวว่าได้ขึ้นทะเบียนข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามมากกว่า 15,000 คดี และเริ่มดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาไปแล้วอย่างน้อย 80 คดี ขณะเดียวกันนั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศเองก็อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกดิขึ้นในยูเครน ดังนั้น ในตอนต้นของสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่ากระบวนการทางกฎหมายจะล่มสลายไปนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระบวนการที่นำมาใช้ดำเนินการกับเชลยศึก การระลึกถึงหลักกฎเกณฑ์ที่ใช้กับการพิจารณาคดีเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์

ในบทความนี้ อีเวตต์ อิซซาร์ ที่ปรึกษากฎหมายของ ICRC จะมาสรุปให้เราฟังเกี่ยวกับหลักประกันว่าจะมีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่เชลยศึกจะต้องเข้าถึงได้ หากมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อพวกเขา หลักประกันเหล่านี้มีกำหนดไว้ในอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 (GCIII) ที่ได้รับการรับรองเมื่อปี 1949 และปัจจุบันก็ได้รับการให้สัตยาบันในระดับสากลเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลเชิงลึกอีกมากเกี่ยวกับสิทธิ์เหล่านี้ยังมีกำหนดไว้ในเอกสารคำอธิบายฉบับปรับปรุงล่าสุดของ ICRC เกี่ยวกับอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 3 ด้วย

พลรบที่ถูกจับตัวไปขณะร่วมรบอยู่ในสนามรบเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในหลายด้าน รวมถึงถูกดำเนินคดีที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม การกักกันตัวไว้ทำให้พวกเขามีสถานะที่อ่อนแอกว่าและไม่อาจต่อสู้คดีอย่างมีประสิทธิผลได้ เมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ ที่เสรีภาพไม่ได้ถูกลิดรอนไป นอกจากนั้น การที่พวกเขาตกอยู่ในเงื้อมมือของรัฐศัตรูนั้น ยังทำให้พวกเขาต้องขับเคี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายผู้จับกุมด้วย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เชลยศึกหลายคนเผชิญกับความเสี่ยงหรืออันตรายดังกล่าว การพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาพร้อมกับข้อบกพร่องที่ร้ายแรง เชลยศึกหลายคนถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินอย่างหนัก บางคนถึงกับต้องโทษประหารชีวิตทั้งที่ไม่ได้มีการดำเนินกระบวนการที่เหมาะสมแต่อย่างใด ต่อมาตอนที่เหตุการณ์ความขัดแย้งยุติลง และจากการที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความขัดแย้งนั้น รัฐต่าง ๆ จึงมีความตกลงต้องกันเรื่องมาตรการป้องกันขั้นต่ำของเชลยศึกที่ถูกดำเนินการทางอาญาหรือทางวินัย มาตรการเหล่านี้ได้กำหนดไว้ภายใต้ข้อ 82–108 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 (GCIII) ปัจจุบัน จำนวนเชลยศึกที่ต้องเผชิญกับการถูกดำเนินการมีเพิ่มมากขึ้นอยู่ทุกวัน ดังนั้น การระลึกถึงกฎเกณฑ์เหล่านี้จึงมีความสำคัญเพื่อป้องกันหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการทำผิดพลาดซ้ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

เชลยศึกจะถูกดำเนินคดีเมื่อใด

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ข้อ 4 กล่าวถึงประเภทของบุคคลที่จะต้องให้การรับรองว่าเป็นเชลยศึก สถานะที่ว่ามาพร้อมกับหลักกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่ให้ความคุ้มครองบุคคลที่เข้าข่ายประเภทดังกล่าว สถานะเชลยศึกเป็นสถานะที่มอบให้แก่สมาชิกกองทัพของรัฐ เช่น พลรบ นอกจากนี้ยังมอบให้แก่กองทัพอื่น ๆ ที่ร่วมสู้รบในนามของภาคีข้อพิพาท ในกรณีที่กองทัพดังกล่าวปฏิบัติตามข้อกำหนดบางประการของการจำแนกตัวเองออกจากพลเรือน กลุ่มสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่พลเรือน นักข่าวสงคราม ผู้รับจ้าง และพลเรือนคนอื่น ๆ ที่ติดตามกองทัพจะมีสิทธิได้สถานะเป็นเชลยศึก

พลรบเข้าร่วมการสู้รบในนามของรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อถูกจับกุม บุคคลดังกล่าวอาจถูกกักกันตัวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้กลับสู่สนามรบและเข้าร่วมการสู้รบได้อีก ขณะที่ถูกกักกันตัวอยู่นั้น พวกเขาจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ที่สำคัญคือ พวกเขาจะต้องได้รับความคุ้มกันไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยเหตุแห่งการเข้าร่วมสู้รบ (วรรค 20)

ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะเข้าร่วมสู้รบในนามของภาคีข้อพิพาทฝ่ายหนึ่ง แต่ในกรณีที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศที่คุมขัง เชลยศึกอาจถูกพิจารณาคดี นอกจากนี้ยังจะต้องถูกพิจารณาคดีด้วยหากละเมิดอนุสัญญาเจนีวาหรืออาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ในระดับที่ร้ายแรง

เชลยศึกต้องได้รับการปฏิบัติเช่นใดหากถูกดำเนินคดี

หลักการทั่วไปที่ใช้กับการพิจารณาคดีของเชลยศึก

เชลยศึกที่เผชิญกับการถูกพิจารณาคดีจะยังคงได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 อยู่ ผลลัพธ์สำคัญที่ตามมาจากสิ่งนี้มีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือ ข้อกำหนดของการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ข้อ 13 จะยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ เชลยศึกจะต้องได้รับความคุ้มครองไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนอยู่ตลอดระยะเวลาของการกักกันตัว รวมถึงห้วงขณะที่ถูกดำเนินกระบวนการทางกฎหมายด้วย แม้ว่าภาระผูกพันนี้จะตกเป็นหน้าที่ของประเทศที่คุมขังที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่สื่อสำนักข่าวต่าง ๆ ก็ควรไตร่ตรองถึงการรายงานข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของเชลยศึก เพื่อให้การรายงานข่าวดังกล่าวนั้นไม่มีการเผยแพร่ภาพของเชลยศึกสู่ความสนใจใคร่รู้ของสาธารณะหรือทำให้สาธารณชนดูหมิ่นด่าทอ และห้ามมิให้มีการทรมานทางร่างกายหรือจิตใจหรือบีบบังคับในรูปแบบอื่นใดต่อเชลยศึก (ข้อ 17; ข้อ 99(2))

การดำเนินการทางกฎหมายกับเชลยศึกจะต้องปฏิบัติตามหลักการทางกฎหมายทั่วไป รวมถึงการที่เชลยมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีอย่างมีประสิทธิผลและจะต้องไม่ถูกบังคับให้ยอมรับผิดต่อข้อกล่าวหา เชลยศึกจะต้องไม่ถูกลงโทษร่วมกันแบบกลุ่มเหมารวม (ข้อ 87(3)) และจะต้องรับผิดทางอาญาต่อการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในระดับส่วนบุคคลเท่านั้น เชลยอาจถูกพิจารณาคดีโดยศาลที่ให้ “หลักประกันของความเป็นอิสระและความเป็นกลางตามที่ยอมรับโดยทั่วไป” เท่านั้น

ในกรณีที่ไม่ได้ให้สิทธิแก่เชลยศึกในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมและถูกต้องตามระเบียบถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ 3 ในระดับที่ร้ายแรง อันนำมาซึ่งการดำเนินคดีอาญา

หลักการของการกลายกลืน (The principle of assimilation)

เชลยศึกเป็นบุคลากรทางทหาร เมื่อถูกจับตัวไว้ มีการนำมาตรฐานบางประการของการปฏิบัติต่อพวกเขามาใช้โดยอ้างอิงตามมาตรฐานที่ใช้กับบุคลากรทางทหารของประเทศที่คุมขัง ซึ่งเรียกว่าเป็นหลักการของการกลายกลืน (ข้อ A.3.c) และกล่าวไว้ในข้อ 82 และข้อ 102 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3

อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงถึงมาตรฐานที่ใช้ได้กับสมาชิกของกองทัพของประเทศที่คุมขังนั้นถือว่าไม่เพียงพอ อนุสัญญาเจนีวาฯ ระบุหลักประกันขั้นต่ำที่เชลยศึกทุกคนจะต้องได้รับไม่ว่าประเทศที่คุมขังนั้น ๆ จะปฏิบัติเช่นใดต่อบุคลากรทางทหารของตน (วรรค 36)

ขั้นตอนก่อนการพิจารณาและสอบสวน

ข้อกำหนดของการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมและถูกต้องตามระเบียบเริ่มต้นขึ้นระหว่างขั้นตอนก่อนการพิจารณาและสอบสวน (วรรค 4027) อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ระบุว่า การสืบสวนสอบสวนของฝ่ายตุลาการที่ดำเนินขณะเกิดการสู้รบอยู่นั้นอาจมีความซับซ้อน ดังนั้น การสอบสวนดังกล่าวจึงต้องดำเนินการ ‘โดยเร็วที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย’ เอกสารคำอธิบายฉบับปรับปรุงล่าสุดของ ICRC เกี่ยวกับอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 (ต่อไปนี้จะเรียกว่าเป็นเอกสารคำอธิบายฉบับปรับปรุง) ระบุว่า ‘เพื่อประโยชน์ของเชลยศึกที่ต้องสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม การสอบสวนจะต้องดำเนินการอย่างละเอียดถี่ถ้วนและด้วยความระมัดระวังตามสมควร ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินไปในลักษณะที่สงวนสิทธิของเชลยศึกที่จะถูกไต่สวนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิพากษาขั้นสุดให้เป็นอย่างอื่น (วรรค 4028)

เสรีภาพของเชลยศึกนั้นถูกลิดรอนไปแล้ว ทำให้ลดขั้นตอนความจำเป็นที่จะต้องกักกันตัวไว้ก่อนการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม เชลยศึกอาจถูกกักกันตัวไว้เพื่อรอการพิจารณาคดี หากสมาชิกของกองทัพของประเทศที่คุมขังที่อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันจะต้องปฏิบัติตามมาตรการนี้ด้วย หรือหากการกักกันนั้นมีความจำเป็นอันเนื่องจากประเด็นของความมั่นคงของประเทศ ระยะเวลาการกักกันตัวไว้ก่อนพิจารณาคดีจะต้องไม่เกินสามเดือน (วรรค 4037-4041) และจำนวนระยะเวลาที่ใช้กักกันตัวไว้ก่อนพิจารณาคดีจะต้องถูกหักลบออกจากการตัดสินคดีของเชลยศึก (วรรค 4042-4046)

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ได้จัดตั้งกลไกการกำกับดูแลและควบคุมบางประการ ได้แก่ ประเทศที่คุ้มครอง และ ICRC อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ข้อ 104 ระบุไว้ว่า ประเทศที่คุมขังจะต้องแจ้งให้ประเทศที่คุ้มครองทราบถึงการพิจารณาคดีของฝ่ายตุลาการใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับเชลยศึก การแจ้งให้ทราบจะประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับเชลยศึก ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่กักกัน ข้อหาการฟ้องร้อง รวมถึงสถานที่และวันเวลาของการพิจารณาคดีด้วย การแจ้งให้ทราบจะต้องเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนจะมีการพิจารณาคดีของเชลยศึก เพื่อให้ประเทศที่คุ้มครองได้จัดการเรื่องการนำอนุสัญญาฯ มาใช้ แนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้นั้นคือ รัฐต่าง ๆ ไม่ได้แต่งตั้งประเทศที่คุ้มครอง และ ICRC ก็ทำหน้าที่ของประเทศที่คุ้มครองโดยความคิดริเริ่มของตนเอง (วรรค 45-51 และวรรค 1296-1302)

นอกจากนี้ ICRC มีสิทธิ์เข้าถึงบุคคลทุกคนที่ถูกคุมขังอันเนื่องจากการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ รวมถึงพลเรือนที่ถูกคุมขังและเชลยศึก สำหรับการควบคุมดูแลการเคารพสิทธิของผู้ถูกคุมขังนั้น ICRC จะต้องสามารถเข้าเยี่ยมเยือนเชลยศึกทุกคน รวมถึงผู้ที่กำลังถูกพิจารณาคดี ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด (ข้อ 126)

ขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาล

ข้อ 105 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ระบุข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตามในระหว่างการพิจารณาคดีเชลยศึก ข้อนี้ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่ให้รายละเอียดลงลึกมาก โดยระบุว่า เชลยศึกที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือโดยเพื่อนเชลยศึก และมีสิทธิต่อสู้คดีหรือแก้ต่างโดยทนายความที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่แต่งตั้งโดยเชลยศึกเองหรือโดยประเทศที่คุ้มครอง หากเชลยศึกและประเทศที่คุ้มครองไม่อาจทำหน้าที่เป็นทนายฝ่ายจำเลยได้ ประเทศที่คุมขังจะต้องจัดหาทนายความให้กับเชลยศึก นอกจากนี้ เชลยศึกจะต้องสามารถเรียกพยานมาให้การได้ด้วย (หมวด C และ D)

ทนายความที่ดำเนินการในนามของเชลยศึกจะต้องมีเวลามากพอและมีสถานที่ตามความจำเป็นเพื่อทำหน้าที่ว่าความได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งรวมถึงการมีสิทธิพูดคุยสนทนาเป็นการส่วนตัวกับเชลยศึก และการหารือกับพยานด้วย (วรรค 4114-4124) ข้อกล่าวหาที่จะนำตัวเชลยศึกมาขึ้นศาลนั้นจะต้องแจ้งสื่อสารไปยังเชลยศึกและทนายความที่ทำหน้าที่ว่าความให้รับทราบภายในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีเพื่อให้ทั้งเชลยศึกและทนายความมีเวลาได้เตรียมตัว (วรรค 4126-4132)

เพื่อให้เชลยศึกมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาได้อย่างเต็มที่ เชลยศึกจะต้องมีสิทธิขอใช้บริการล่ามแปล (วรรค 4096-4100) ประการสุดท้าย ผู้แทนของประเทศที่คุ้มครอง (หรือหากไม่มีการแต่งตั้ง แทนของ ICRC) จะต้องสามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีของเชลยศึก เว้นแต่การพิจารณาคดีจะมีการ ‘บันทึกภาพถ่าย’ อันเนื่องจากเหตุผลของความมั่นคงปลอดภัยแห่งรัฐ (วรรค 4133-4137)

ข้อ 106 ระบุว่า เชลยศึกจะต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์คำพิพากษาครั้งแรก หรือขออภัยโทษหรือชะลอการลงโทษ สิทธิของเชลยศึกตามที่ระบุไว้ในข้อ 105 มีผลบังคับใช้จนกว่าจะสิ้นสุดการอุทธรณ์หรือคำร้อง (วรรค 4125 และ 4149)

สำหรับคำพิพากษาและคำตัดสินจะต้องรายงานให้ประเทศที่คุ้มครอง ผู้แทนของเชลย และเชลยศึกที่เป็นผู้ต้องหารับทราบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 107 หากไม่ได้กำหนดประเทศที่คุ้มครองไว้ ให้ทำเรื่องแจ้งไปยัง ICRC (วรรค 4190-4192)

การพิจารณาคดีและขั้นตอนหลังการพิจารณาคดี

เชลยศึกอาจถูกพิพากษาลงโทษเฉพาะโทษที่สมาชิกกองทัพของประเทศที่คุมขังอาจได้รับสืบเนื่องจากการกระทำเดียวกัน การลงโทษบางประการนั้นห้ามโดยสิ้นเชิง ได้แก่ การลงโทษแบบกลุ่มเหมารวม การลงโทษทางร่างกาย การจำคุกให้อยู่ในสถานที่โดยไม่มีแสงแดด และการทรมานหรือการทารุณทุกรูปแบบ (หมวด E) และห้ามไม่ให้กีดกันเชลยศึกจากยศหรือจากการสวมใส่ตราเครื่องหมายทางการทหาร (หมวด F)

ขณะพิพากษาลงโทษเชลยศึก เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพิจารณารายละเอียดให้ครบถ้วนว่าเชลยศึกไม่ได้ผูกพันตามหน้าที่แห่งความสวามิภักดิ์ และอยู่ในอำนาจของประเทศที่คุมขังอันเป็นผลมาจากพฤติการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตัวเอง เจ้าหน้าที่จะต้องไม่บังคับใช้บทลงโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดทางอาญา และอาจลดหย่อนโทษลงได้เพื่อช่วยเหลือเชลยศึก นอกจากนี้ อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ยังกำหนดให้ประเทศที่คุมขัง “ดำเนินการผ่อนปรนขั้นสูงสุด” และเลือกใช้การลงโทษทางวินัยแทนมาตรการพิจารณาคดีของฝ่ายตุลาการ ในกรณีที่ทำได้ (หมวด D)

เชลยศึกจะต้องรับโทษในสถานคุมขังเดียวกันและอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับสมาชิกกองทัพของประเทศที่คุมขัง (วรรค 4201-4205) อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านสุขภาพและความมีมนุษยธรรม (4206-4208) ในทุกกรณี เชลยศึกผู้หญิงจะต้องถูกคุมขังแยกออกจากผู้ชายและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยผู้คุมที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน (หมวด D) ขณะรับโทษอยู่นั้น เชลยศึกจะต้องสามารถส่งและรับจดหมาย พัสดุบรรเทาทุกข์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับการรักษาพยาบาลและความช่วยเหลือตามความเชื่อทางศาสนา (หมวด E)

แม้จะถูกตัดสินว่าผิด แต่พวกเขายังมีสถานะเป็นเชลยศึกและยังคงได้ประโยชน์จากของข้อบัญญัติตามอนุสัญญาฯ ภายใต้ขอบเขตที่ว่าข้อบัญญัติดังกล่าวนั้นไม่อาจปฏิบัติได้จริงสืบเนื่องจากการคุมขังหรือการตัดสินลงโทษ (ข้อ 85)

โทษประหาร

อนุสัญญาฉบับที่ 3 ระบุหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่ใช้กับโทษประหารชีวิต (ดูได้ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่) ว่า เชลยศึกจะต้องไม่ถูกตัดสินประหารชีวิต เว้นแต่ศาลจะพิจารณาเป็นพิเศษดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเชลยศึกคนดังกล่าวไม่ได้มีความจงรักภักดีต่อประเทศที่คุมขัง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่พวกเขานั้นเป็นผลมาจากสภาวการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และการตัดสินโทษประหารชีวิตทุกครั้ง จะต้องแจ้งต่อประเทศที่คุ้มครองหรือ ICRC รับทราบ และจะต้องไม่ดำเนินการลงโทษได้จนกว่าจะครบหกเดือนหลังจากที่ได้แจ้งข่าวดังกล่าว (วรรค 3996-4002)

การโยกย้ายครบกำหนดการลงโทษ

เชลยศึกจะต้องถูกโยกย้ายส่งตัวไปยังภาคีอื่นของอนุสัญญาฉบับที่ 3 เท่านั้น ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประเทศคุมขังได้กำหนดไว้แล้วว่าประเทศที่รับการส่งตัวมีความเต็มใจและมีศักยภาพที่จะปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ เอกสารคำอธิบายฉบับปรับปรุงนี้แม้ว่าจะไม่ได้ตัดสิทธิ์การโยกย้ายเชลยศึกไปยังศาลระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมเพื่อให้รับผิดชอบต่อการกระทำของตน แต่ก็ได้ระบุไว้ว่า ‘ศักยภาพและความเต็มใจของศาลหรือศาลระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมที่เป็นผู้รับตัวเชลยศึกในการประกันถึงมาตรฐาน อย่างน้อยก็ให้ความคุ้มครองตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการคุมขังก่อนการพิจารณาความและหลักประกันถึงการพิจารณาที่เป็นธรรม จะถือเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญประการหนึ่ง’ (วรรค 1532)

หลังการสู้รบสิ้นสุดลง เชลยศึกจะต้องได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ชักช้า (ข้อ 118) ทั้งนี้นั้น ประเทศที่คุมขังอาจยังคงคุมขังตัวเชลยศึกที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของฝ่ายตุลาการหรือรับโทษทางอาญาอยู่ได้ต่อไป (ข้อ 115) อย่างไรก็ตาม ประเทศที่คุมขังอาจตัดสินใจส่งตัวเชลยศึกคนดังกล่าวกลับประเทศ หรือประสานให้ไปอยู่ประเทศที่เป็นกลางก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาคดีหรือการตัดสินลงโทษได้ด้วย

ภาระผูกพันในยามสงบ

เพื่อให้เชลยศึกมีหลักประกันความเป็นธรรมของการพิจารณาคดีขณะที่การสู้รบยังดำเนินอยู่นั้น ในห้วงยามสงบ รัฐต่าง ๆ จะต้องทบทวนองค์ประกอบด้านหลักเกณฑ์ทางการทหารของตนที่จะนำมาใช้กับเชลยศึกผ่านหลักการของการกลืนกลาย ตัวอย่างเช่น ในประเทศที่มีการพิจารณาคดีของบุคลากรทางการทหารโดยศาลทหารนั้น ประเทศดังกล่าวจะต้องพยายามดำเนินการให้หน่วยงานที่ว่าจะพิจารณาคดีของเชลยศึกในชั้นศาลได้อย่างอิสระและเป็นกลาง และยังจะต้องหาทางออกด้วยว่าเชลยศึกที่เป็นพลเรือนจะถูกพิจารณาคดีในศาลทหารได้หรือไม่ เนื่องจากหลายประเทศมีข้อจำกัดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าไม่ให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด การขัดกันทางอาวุธที่มีลักษณะระหว่างประเทศเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย อาจทำให้รัฐต่าง ๆ หลายรัฐอาจไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะจัดการกับเชลยศึกใดๆ ที่จับตัวมา หรือคู่ส่งครามอาจจับตัวส่งมาให้

สรุป

หลักเกณฑ์การพิจารณาคดีของฝ่ายตุลาการตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 นั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุความยุติธรรม หลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นการแสวงหากระบวนการยุติธรรมและถูกต้องตามระเบียบให้แก่เชลยศึก ซึ่งช่วยให้เชลยศึกได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม จุดมุ่งหมายของหลักเกณฑ์คือเพื่อป้องกันไม่เกิดความอยุติธรรมอันสืบเนื่องการดำเนินคดีและการตัดสินคดีที่ไม่เป็นธรรม การได้รับรู้ว่า หากใครถูกดำเนินคดีในชั้นศาล คนนั้นจะมีสิทธิต่อสู้คดีให้ตัวเองจากข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ทั้งเชลยศึกและบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้ซึ่งเผชิญกับชะตากรรมชีวิตที่คลุมเครือไม่แน่นอนอยู่แล้วนั้น ได้รู้สึกอุ่นใจขึ้นมาบ้าง

ดูเพิ่มเติม

Reference แปลและเรียบเรียงจาก On trial: the Third Geneva Convention and judicial guarantees for prisoners of war บทความโดยอีเวตต์ อิซซาร์ ที่ปรึกษากฎหมาย ICRC

Tags: CommentariesGCIII CommentaryGeneva ConventionsPOWsprisoners of warThird Geneva ConventionUkraine