งานคอลลาจแสนละเอียดที่แฝงไปด้วยเรื่องราวจากอดีต นำมาร้อยเรียงใหม่เพื่อสื่อสารกับคนในปัจจุบัน ดูจะเป็นลายเซ็นที่สุดแสนจะเป็นเอกลักษณ์ของนักรบ มูลมานัส ศิลปินภาพประกอบชื่อดังที่มีทั้งผลงานศิลปะ หนังสือขายดี และนิทรรศการซึ่งเป็นที่รู้จักกันอีกมาก เมื่อได้ยินว่านักรบตอบรับคำชวนและจะร่วมขบวนเพื่อตามหางานมนุษยธรรมในอีกร้อยปีข้างหน้า เราก็สนใจว่านักรบมีความคิดเห็นอย่างไรกับโครงการประกวดออกแบบภาพประกอบครั้งแรกของกลุ่มองค์กรกาชาด และจะมีไอเดียแบบไหนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานภายใต้โจทย์ยากๆ อย่าง “Designing Humanity in the 21st Century”

ทำความรู้จักนักรบ มูลมานัส ศิลปินร่วมโครงการของเรา

เราเป็นศิลปิน ทำงานภาพประกอบแล้วก็เป็นนักเขียนด้วย สำหรับงานภาพ ก็จะเป็นงานที่ใช้เทคนิคการตัดปะ หรือที่เรียกกันว่าคอลลาจ โดยหยิบจับองค์ประกอบภาพจากทั้งตะวันตกและตะวันออก นำมาผสมผสานกัน เช่น เอาองค์ประกอบที่เป็นไทยมาจัดไว้ให้อยู่ในบริบทแบบใหม่ๆ

ทำไมถึงเลือกใช้วิธีการสื่อสารด้วยการทำงานคอลลาจ

ที่จริงเราอยากวาด อยากระบายสี อยากปั้น แต่ทำสิ่งเหล่านั้นไม่สำเร็จสักทีเพราะทักษะมีไม่มากพอ ก็เลยกลับไปคิดว่าตัวเองเป็นคนชอบสะสมสิ่งพิมพ์เก่าๆ รูปเก่า โปสการ์ด แล้วก็มีคลังข้อมูลของสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่บ้าง เราเลยเริ่มจากการนำสิ่งนั้นมาตัด สิ่งนี้มาแปะ ประกอบกันเป็นรูปใหม่ แล้วก็คิดว่า เหย มันสื่อสารได้โดยไม่ต้องวาด มันอาจจะเรียบง่าย แต่เราก็ขยับขยายมาจากตรงนั้น ว่าการตัดปะมันสามารถนำไปสู่อะไรหลายๆ อย่าง เราสามารถหยิบความรู้สึกในโลกเก่า มาบอกเล่าในโลกปัจจุบัน ให้มันนำเสนอเรื่องราวที่ร่วมสมัย

เคยได้ยินชื่อกาชาดมาก่อนหรือเปล่า

รู้จัก แต่จะรู้ในบริบทไทยมากกว่า เคยได้ยินคำว่า ‘กาชาด’ ‘งานกาชาด’ มาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นเพิ่งเห็นว่ามีคอนเซ็ปต์แบบนี้อยู่ในเกือบทุกประเทศในโลก เมื่อก่อนเรานึกว่ามันเป็นอะไรที่ไทยมากๆ เพิ่งมาเข้าใจว่าเป็นคอนเซ็ปต์สากลมีเรื่องการบรรเทาสาธารณภัย งานสาธารณสุข และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในบริบทต่างๆ

แล้วตอนเราติดต่อมา นักรบรู้สึกอย่างไร

ตอนแรกก็คิดว่าจะชวนไปบริจาคเลือดหรือเปล่า (ขำ) แต่รู้สึกดีนะเพราะเป็นองค์กรที่มีความเป็นสากล มีพันธกิจเพื่อมนุษยชาติ ซึ่งงานศิลปะที่เราทำอยู่ ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะสื่อไปถึงสังคมอยู่แล้ว เลยรู้สึกดีใจที่จะได้ร่วมงานกัน ตอนได้รับการติดต่อมาเราก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำงานสไตล์ไหน เป็นโปรเจกต์ที่ลุ้นๆ และท้าทาย ว่าสุดท้ายในตัวพันธกิจของกาชาด เราจะสามารถทำออกมาทำเป็นภาพได้อย่างไร

แล้วในโจทย์ข้อนี้ Designing Humanity in the 21st Century ออกแบบงานมนุษยธรรมในศตวรรษที่ 21 คิดว่าเป็นหัวข้อที่ยากหรือง่าย มีความท้าทายอย่างไร

ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายนะ เพราะเป็นนามธรรม มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก คนตีความออกมาได้ต่างกัน แต่คิดว่าไม่ยากเกินไปเพราะแต่ละคนมีวิธีการตีโจทย์และวิธีการสื่อสารเป็นของตัวเอง เราว่าโจทย์แบบนี้สามารถตีความได้หลากหลาย เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง ในความยากมันก็มีอิสระในการดีไซน์มนุษยธรรมของแต่ละคน ว่าโลกในอุดมคติของแต่ละคนมันเป็นแบบไหน ซึ่งอาจจะต่างกันไปในรายละเอียด แต่คิดว่าภาพรวม เช่น พันธกิจของความเป็นมนุษยธรรม สิ่งที่สื่อในงาน ก็น่าจะยังมีความยึดโยงเกี่ยวข้องกันอยู่

จุดไหนที่คิดว่ายากที่สุดในการตีโจทย์ข้อนี้

การตีความนี่แหละ จะออกแบบมนุษยธรรมขึ้นมาอย่างไร เพราะคำนี้ค่อนข้างมีเฉดความหมายหลากลาย งานของเราจะเริ่มจากการรีเสิร์ชก่อน เราต้องไปดูว่าพันธกิจ และต้นกำเนิดของกาชาดมีที่มายังไง ความเป็นองค์กรระหว่างประเทศ การที่มีคอนเซ็ปต์แบบนี้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกมันเริ่มมาจากสิ่งไหน พันธกิจจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จะเป็นอะไรและมันจะตอบรับกับวิถีชีวิตในโลกปัจจุบันได้แค่ไหน ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน เราถึงจะตีความออกมาเป็นภาพ

แล้วเท่าที่ได้สัมผัสมา นักรบมีไอเดียหรือจุดไหนที่สนใจแล้วหรือยัง

เรารู้สึกว่าคนที่อยู่ในสังคมโลกร่วมสมัยคงได้เห็นวิกฤตต่างๆ ทั้งวิกฤตด้านมนุษยธรรมและสาธารณะสุข แต่ละประเทศล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกัน น่าจะเป็นความท้าทายที่ว่า เราจะสามารถออกแบบงานมนุษยธรรมแบบไหนให้เปิดกว้างและแข็งแกร่งพอสำหรับทุกคน ภาพของเราก็จะสะท้อนทั้งปัญหาและความหวัง เพราะเรารู้สึกว่างานศิลปะ ถ้ามันพูดถึงปัญหาอย่างเดียวก็คงหม่นหมองไป แต่ถ้าเชิดชูความหวังแบบไม่มองความจริงก็อาจจะโลกสวยเกินไป ต้องผสานสองอย่างนี้ มองเห็นปัญหาแต่ก็มีความหวังว่าจะจัดการปัญหาเหล่านี้ให้เป็นความหวังของคนในรุ่นของเรา และในรุ่นต่อไปได้อย่างไร

ถ้าให้คิดเร็วๆ ตอนนี้ คิดว่างานมนุษยธรรมในอีก 100 ปี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

คิดว่าคงเปลี่ยนไปเยอะมาก ตอนนี้ปี 2022 ถ้าลบไปร้อยปี ก็คือปี 1922 ปัญหาในโลกตอนนั้นกับโลกตอนนี้มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าอีกร้อยปีในอนาคต เราคิดว่าการอยู่ร่วมกันก็ต้องมีข้อขัดแย้ง ข้อพิพาท มีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ปัญหาที่จะเกิดในอีกร้อยปี ก็คงท้าทายมากขึ้น อาจจะเป็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึงเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI สภาพแวดล้อมต่างๆ คงเป็นเรื่องท้าทายที่จะคิดว่าอีกร้อยปีโลกใบนี้จะมีอยู่ในรูปแบบไหน การขาดแคลนน้ำ ขาดแคลนอาหารจะเป็นประเด็นหรือไม่ จะยังมีสิ่งที่เรียกว่าพรมแดนอยู่หรือเปล่า เราเห็นแล้วว่าในมุมสาธารณสุข โรคภัยต่างๆ ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมากขึ้นหรือน้อยลง และที่สำคัญ โลกใบนี้จะยังเป็นที่ที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้หรือไม่ เรารู้สึกว่ามันท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การจะไปถึงจุดนั้นก็อยู่ที่ปัจจุบันด้วย ถ้าเราวางรากฐานไว้ดี มีภูมิคุ้มกันทางมนุษยธรรม ก็อาจจะชะลอปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

สุดท้ายนี้ อยากให้นักรบชวนผู้อ่านทางบ้านมาร่วมสนุกกับเรา

เราคิดว่าสิ่งนี้น่าสนใจมากนะ เราอาจจะคิดว่าโจทย์มันนามธรรมเหลือเกิน แต่ความนามธรรมก็เปิดโอกาสให้ทุกคนตีความ ด้วยความที่ตัวโจทย์มันไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เป็นเรื่องของอนาคต การออกแบบที่เราแต่ละคนตีความคงไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนส่งมาเถอะ จินตนาการในแบบของตัวเองแล้วร่วมจินตนาการถึงปัญหาในปัจจุบันที่มันอาจจะสะท้อนไปถึงอนาคต บางคนอาจจะเลือกนำเสนอด้วยภาพคอลลาจ บางคนอาจจะถนัด Digital Painting บางคนอาจจะสนใจงานมือ ตัวโจทย์ก็เปิดกว้างให้กับทุกความเป็นไปได้ ถือว่าเราได้มาร่วมตีความ นิยามความเป็นไปได้ในการออกแบบโลกมนุษย์ของเราในปัจจุบันและในอนาคต

—————————

กลุ่มองค์กรกาชาดเปิดรับสมัครผลงานภาพประกอบในหัวข้อ “Designing Humanity in the 21st Century” ออกแบบงานมนุษยธรรมในศตวรรษที่ 21 เพื่อชิงเงินรางวัลและโอกาสจัดแสดงผลงานร่วมกับศิลปินชื่อดัง

อย่าลืมสมัครและส่งผลงานมาร่วมสนุกกับเรา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางนี้เลย

อ่านแนวคิดน่าสนใจจากศิลปินอีกท่าน คุณใหม่-มานิตา ส่งเสริม