#มาแชร์กัน ใหม่–มานิตา ส่งเสริม กับการออกแบบงานมนุษยธรรมในอีก 100 ปี ข้างหน้าที่ไม่ว่าโลกจะหมุนไปทางไหน คุณค่าความเป็นคนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

บทความ

#มาแชร์กัน ใหม่–มานิตา ส่งเสริม กับการออกแบบงานมนุษยธรรมในอีก 100 ปี ข้างหน้าที่ไม่ว่าโลกจะหมุนไปทางไหน คุณค่าความเป็นคนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ใหม่–มานิตา ส่งเสริม นอกจากจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคุ้นตากันดีในแวดวงนักออกแบบกราฟิก เธอยังเป็นศิลปินที่อยู่เบื้องหลังโปสเตอร์มากมายของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้าของลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์บนหน้าปกหนังสือชื่อดังอีกหลายเล่ม วันนี้ทีมงาน ICRC ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณใหม่ถึงในห้องทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแรงบันดาลใจหลังได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประกวดออกแบบภาพประกอบครั้งแรกของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ “Designing Humanity in the 21st Century”

ทำความรู้จักคุณใหม่ ศิลปินร่วมโครงการของเรา

“สวัสดีค่ะ ใหม่นะคะ จริงๆ เป็นนักออกแบบกราฟิกนี่แหละ ไม่ค่อยแทนตัวเองเป็นศิลปินเท่าไหร่ เพราะใหม่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็น pure art ขนาดนั้นในกระบวนการคิดงาน เราทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่หอศิลปฯ มาจนถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งหน้าที่ของใหม่คือการดูโปรเจกต์ในส่วนของงานนิทรรศการ ทำงานร่วมกันกับภัณฑารักษ์ของหอศิลปฯเวลาภัณฑารักษ์คิดคอนเซ็ปต์ขึ้นมา หน้าที่ของเราคือนำคอนเซ็ปต์เหล่านี้มาแปลงเป็นโปสเตอร์ เป็น text ต่างๆ ความสนุกของงานอยู่ที่การได้เจอศิลปินมากหน้าหลายตา ได้เจอนักเขียน พอคนเห็นงานเราแล้วชอบ ก็สามารถต่อเป็นคอนเนคชั่นไปได้เรื่อยๆ”

ทำงานกับผู้คนหลากหลาย แบบนี้คุณใหม่เคยได้ยินชื่อกาชาดบ้างหรือเปล่า

“เคยค่ะ ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ที่คุ้นหูหน่อยก็คือสภากาชาดไทย เราได้ยินชื่อ แต่ไม่ได้มีความเข้าใจกับมันลึกซึ้งขนาดนั้น มาช่วงได้ยินบ่อยขึ้นเพราะมีสถานการณ์ในประเทศยูเครน ถือว่าเป็นองค์กรที่ผ่านมาบ่อยๆ นี่แหละ”

อะไรที่ทำให้คุณใหม่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับเรา

“อยากร่วมนะคะ เพราะช่วงหลังๆ ใหม่อยากทำงานกับคนที่ไม่ใช่สายตัวเอง อยากรู้ว่าคนนอกสายงานเขาคิดอะไร เราเคยไปสอน หรือถ้ามีคนชวนให้ไปพูดให้สำนักพิมพ์เราก็ไป จากที่เป็นคนเก็บตัว อินโทรเวิร์ตมากๆ การได้ทำงาน ได้คุยกับคนอื่นทำให้เรามีโอกาสแชร์สิ่งที่เรามี และได้ยินสิ่งที่คนอื่นคิด ซึ่งที่จริงการทำงานกับศิลปิน มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว แต่มนุษย์ที่ถูกสื่อผ่านงานศิลปะ มักจะเป็นการตีความของศิลปิน เป็นการมองสังคมผ่านโลกทัศน์ของเขา ซึ่งความต่างคืองานเกี่ยวกับมนุษย์ของกาชาดดูจะมีความสมจริงมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน สามารถมองเห็นได้

ใหม่มองว่ามันคือการทำงานร่วมกัน เวลามีคนชมว่างานออกมาดี ใหม่จะชมไปถึงคนที่ให้งานชิ้นนี้ผ่านเลยนะ กลับกันเวลางานออกมาไม่ดี เราก็จะไม่ตำหนิดีไซเนอร์อย่างเดียว เพราะการทำงานร่วมกันมีบุคคลเบื้องหลังอีกมากที่ผลักดันให้งานชิ้นหนึ่งปรากฏสู่สายตาออกมาได้”

ทั้งออกแบบปก ทำโปสเตอร์ คิดรูปแบบ typography คุณใหม่มีสไตล์งานที่ถนัดและสนใจเป็นพิเศษหรือเปล่า

“เป็นคนไม่ยึดติดกับสไตล์นะคะ แต่ชอบการทำ typography การใช้ตัวอักษร เป็นคนใส่ใจเรื่องการใช้ฟอนต์กับสเปซต่างๆ สมมติว่าเราเห็นภาพนึงสวย แต่ถ้าตัวอักษรไม่ไปด้วยกันมันจบเลยนะ มีความคิดตั้งแต่เด็กๆ ว่างานบางชิ้นสวยแล้ว แต่ยังเหลืออีกนิดนึง ซึ่งการจัดวางตัวอักษรให้เหมาะสเปซ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราเคยออกแบบฟอนต์เอง เพราะตัวอักษรในภาษาไทยมันมีข้อจำกัด แล้วพบว่ามันยากเหมือนกันเพราะอักษรไทยไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกันแบบในภาษาอังกฤษ แต่มีทั้งสระและวรรณยุกต์ซ้อนกันทำให้การจัดวางต้องห่างมากกว่าปกติ

“ที่จริงมันถือเป็นความท้าทายของเรา เช่นว่างานนี้ชื่อภาษาไทยต้องเด่นนะ แล้วเราจะทำยังไงกับโจทย์นี้ พอลองมาออกแบบฟอนต์จริงๆ ก็คิดว่าคนที่ทำเขาเก่ง สามารถคิดรูปแบบตัวอักษรออกมาได้ เพราะมันมีเรื่องของการกำหนดเคิร์นนิ่ง – หมายถึงการกำหนดระยะตัวอักษร เช่น เราจะเอาสระอา มาวางข้าง ก.ไก่ ก็ต้องคิดว่าจะให้สระอยู่ห่างจากตัวอักษรเท่าไหร่ ซึ่งในทุกวันนี้ใหม่เองไม่ได้มีฟอนต์ที่ชอบเป็นพิเศษ แต่จะเลือกให้เข้ากับโจทย์แต่ละข้อ”

แล้วโจทย์ของงานรอบนี้ล่ะ Designing Humanity in the 21st Century คิดว่าเป็นโจทย์ที่ยากหรือง่าย และมีความท้าทายอย่างไร

“ยากนะ แต่ก็มีพื้นที่ให้ตีความ อ่านครั้งแรกเหมือนเป็นการมองไปในอนาคต ว่าเรามองมนุษยธรรมกับโลกจะเป็นไปด้วยกันแบบไหน หรือมองได้สองแบบคือเราจะเอางานมนุษยธรรมไปแก้ปัญหาในอนาคต ช่วยเหลือผู้คนได้อย่างไร ส่วนที่ยากสำหรับใหม่ น่าจะเป็นเรื่องการคิดถึงอนาคตมากกว่า เพราะส่วนตัวไม่ใช่คนมองข้ามไปไกลขนาดนั้น ใหม่คิดว่าในอนาคตงานมนุษยธรรมอาจไม่ได้เปลี่ยนไปจากนี้เท่าไหร่ เทคโนโลยีที่นำมาใช้อาจจะเปลี่ยน แต่ความเป็นมนุษย์ การช่วยเหลือกันมันยังคงหมุนเวียนอยู่”

สำหรับโจทย์ข้อนี้ คุณใหม่มีไอเดียในใจแล้วหรือยัง

“ยังไม่ได้คิดขนาดนั้น ตอนแรกมองเป็น typography นี่แหละ อาจจะเป็นการจัดวางตัวอักษรให้ออกมาเป็นคาแรคเตอร์ แล้วก็ต้องสื่อความเป็นเราด้วย แต่ว่าคงต้องขอใช้เวลาอยู่กับข้อมูลอีกสักพัก เรามองฟอนต์เป็นเหมือนภาพ มันมีหน้าตาและการรับรู้เป็นของตัวเอง ขนาดแค่เปลี่ยนฟอนต์ ความรู้สึกก็ยังต่างไป แล้วถ้าเราดีไซน์เป็นคาแรคเตอร์ขึ้นมาใหม่ก็คงจะน่าสนใจดี อาจจะมีประโยคที่เราคิดว่าสื่อความหมายสักคำ ใหม่เป็นคนชอบเอาคำมาเล่น ทำให้ฟอนต์มันพิเศษขึ้น”

คิดตอนนี้เร็วๆ คิดว่างานมนุษยธรรมในอีก 100 ปี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ยังไม่แน่ใจว่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า แต่คิดว่างานมนุษยธรรมก็คงยังมีต่อไป แม้จะอีก 100 ปีข้างหน้าก็ตาม เพราะถ้าไม่มีความช่วยเหลือก็แสดงว่าโลกต้องสงบแล้ว แม้แต่หนังสือที่เราอ่าน ย้อนหลังไปหลายๆ ร้อยปี เรื่องที่เกิดมาแล้วก็ยังวนมาอีก ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีมาคู่มนุษยชาติ ใหม่คิดว่างานมนุษยธรรมและองค์กรมนุษยธรรมก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องการอยู่

ฝากคุณใหม่เชิญชวนผู้อ่านทางบ้านให้เข้ามาร่วมส่งผลงานประกวดออกแบบภาพประกอบ“Designing Humanity in the 21st Century” หน่อยค่ะ

คิดว่าเป็นการนำผลงานมาแชร์กันดีกว่าค่ะ เพราะเหตุผลหนึ่งที่ใหม่มาร่วมเป็นกรรมการก็เพราะอยากเห็นมุมมองของทุกคน แต่ละคนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับงานมนุษยธรรมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ยังไง มาแชร์กันนะคะ

—————————

กลุ่มองค์กรกาชาดเปิดรับสมัครผลงานภาพประกอบในหัวข้อ “Designing Humanity in the 21st Century” ออกแบบงานมนุษยธรรมในศตวรรษที่ 21 เพื่อชิงเงินรางวัลและโอกาสจัดแสดงผลงานร่วมกับศิลปินชื่อดัง

อย่าลืมสมัครและส่งผลงานมาร่วมสนุกกับเรา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางนี้เลย

อ่านแนวคิดน่าสนใจจากศิลปินอีกท่าน คุณนักรบ มูลมานัส 

 

 

แบ่งปันบทความนี้