หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าการทำงานเป็นแพทย์ในสถานที่ที่มีการสู้รบหรือถิ่นทุรกันดารนั้น ในสภาพความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคุณหมอมาร์ค สไตน์เบค ศัลยแพทย์ที่ทำงานให้กับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี มาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน

คุณหมอจะมาแบ่งปันบอกเล่าประสบการณ์ที่ยังคงจดจำได้จากการทำงานภาคสนามในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก อินเดีย เนปาล และ ภูฐาน ซึ่งคุณหมอยอมรับว่าเต็มไปด้วยความกดดันและความเครียด เพราะทุกวินาทีหมายถึงชีวิตของผู้คน

คุณหมอมาร์คขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลที่เมือง Lokichokio ประเทศเคนยา

คุณหมอมาร์คขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลที่เมือง Lokichokio ประเทศเคนยา

-เหตุการณ์ไหนจากการทำงานภาคสนามที่คุณหมอยังคงจดจำได้จนถึงวันนี้

ผมเคยมีคนไข้คนหนึ่งเป็นหญิงสาววัยรุ่นในชนเผ่าเร่ร่อน เธอถูกงูกัดจนมือของเธอกลายเป็นเนื้อตายแห้งๆ ซึ่งก็ชัดเจนเลยว่าผมต้องตัดมือข้างขวาของเธอทิ้ง แต่หญิงสาวคนนี้อาศัยอยู่ในชุมชนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน เธอจึงจำเป็นต้องใช้มือทั้งสองข้างในการดำรงชีวิต นอกจากนั้นแล้ว ในชุมชนนี้เพศหญิงมีสถานะด้อยกว่าเพศชาย ซึ่งหากเธอเป็นอย่างผู้หญิงในสังคมทั่วไปที่ไม่ต้องทำงานใช้แรงงานแบบนี้ ชีวิตของเธอคงจะดีกว่านี้มาก

หลังจากที่เธอถูกตัดแขนตั้งแต่ช่วงศอกออกไป ผมว่าเธอคงจะมีอาการซึมเศร้า ผมเห็นใจเธอ แต่ผมก็ไม่มีทางเลือกอื่น ผมจำเป็นต้องพูดกับเธอตรงๆ ผมบอกเธอไปว่าถ้าเธอไม่ลุกขึ้นมาสู้ก็จะไม่มีอนาคต เธอค่อยๆคิดตามที่ผมพูด หลังจากนั้นทุกวันเธอก็จะเริ่มเข้ามาอยู่ใกล้ชิดผมและคอยแสดงให้เห็นว่าเธอสามารถทำอะไรได้หลายๆอย่าง ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีมาก

ห้องผ่าตัดขนาดสามเตียงที่โรงพยาบาลในเมือง Lokichokio ประเทศเคนยา

ห้องผ่าตัดขนาดสามเตียงที่โรงพยาบาลในเมือง Lokichokio ประเทศเคนยา

-คุณหมอเคยรู้สึกเสียดายบ้างไหมที่ไม่สามารถรักษาคนไข้ได้อย่างที่ตั้งใจ

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกเสียดายมาก ตอนนั้นมีคนไข้ของผมคนหนึ่งเป็นคนในชนเผ่า“ดินก้า” โดยปกติชนเผ่านี้จะมีรูปร่างสูงใหญ่ บางคนสูงกว่าเจ็ดฟุต เพราะฉะนั้นเราต้องมีเตียงคนไข้ที่ยาวมากๆ แต่คนไข้คนนี้มีลักษณะผิดปกติ เธอมีแขนขาสั้นในขณะที่ศีรษะและลำตัวมีขนาดปกติ เหมือนกับคนแคระที่เราเห็นในละครสัตว์ เธอตั้งครรภ์ สามีของเธอเป็นดินก้าปกติ ตอนนั้นผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าถ้าแม่สูงเพียงสามฟุตครึ่งแล้วพ่อสูงถึงเจ็ดฟุตแล้ว ลูกที่ออกมาจะมีขนาดตัวเท่าไหร่ แต่ผมก็คิดไว้ว่ากรณีนี้ต้องทำคลอดโดยการผ่าออกเท่านั้น

แม้เราจะพูดกันคนละภาษา แต่ทุกวันผมจะไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาล แล้วผมจะหัวเราะออกมาหลังจากใช้หูฟังฟังเสียงที่ท้องของเธอ เจ้าหน้าที่ภาคสนามบอกคนไข้ของผมว่าเด็กในท้องของเธอเล่าเรื่องตลกให้ผมฟังทุกเช้า จากนั้นเป็นต้นมา ทุกเช้าเธอจะเปิดท้องให้ผมฟัง แล้วเราก็แตะมือกันก่อนจะแยกย้ายไปทำภารกิจของตัวเอง แต่ในที่สุดผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอหลังจากนั้น เพราะตอนนั้นหมอผ่าตัดจิ้มเข็มจากคนไข้คนหนึ่งที่มีเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบบีพลาดมาโดนผม ผมจึงต้องทานยาและถูกส่งตัวกลับ ผมก็ได้แต่หวังว่า เธอจะได้รับการผ่าตัดเอาลูกออกและมีสุขภาพแข็งแรงดีทั้งแม่และลูก

คุณหมอมาร์ค สไตน์เบค ในห้องทำงานที่สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ

คุณหมอมาร์ค สไตน์เบค ในห้องทำงานที่สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ

-คุณหมอใช้หลักคิดอะไรในการทำงานเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกกดดัน

อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตผมไว้ตลอด มันทำให้ผมไม่กดดันกับสิ่งที่ต้องเจอ การได้มาฝึกเป็นศัลยแพทย์ทำให้เวลามีปัญหาก็ต้องค่อยๆแก้กันไป เช่น มีปัญหาแรกก็ต้องหาวิธีมาแก้ปัญหาแรก มีปัญหาที่สองก็ต้องหาวิธีมาแก้ปัญหาที่สอง ปัญหาจะมีมาตลอด ถ้าผมมัวแต่มองย้อนกลับไปคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาตลอดเวลาก็คงจะแย่ เพราะว่าบางทีในสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นคุณจะไม่สามารถทำสิ่งที่คุณคิดว่าดีที่สุดได้