นครเจนีวา – ประชากรในพื้นที่สู้รบและสงครามมีความเสี่ยงจะเป็นกลุ่มสุดท้ายในโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยจากสถิติปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในโลกจำนวน 25 ประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีการสู้รบและความรุนแรง

เนื่องในโอกาสที่การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) จะเริ่มต้นขึ้นปลายเดือนนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) จึงได้เปิดตัวแคมเปญรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรในพื้นที่ขัดแย้ง ภายใต้แฮชแท็ก #TheLastMile และปล่อยวีดีโอสั้นเรื่อง “Their journey didn’t have to end like this” เกี่ยวกับพยาบาลที่ทำงานในพื้นที่ชนบทห่างไกล เพื่อสะท้อนให้เห็นชะตากรรมของประชากรหลายสิบล้านคนที่อาจตกหล่นจากแผนการกระจายวัคซีนของหลายประเทศ เนื่องจากศักยภาพหรือความมุ่งมั่นทางการเมืองของประเทศนั้นๆ ยังมีไม่เพียงพอ ประชากรเหล่านี้รวมไปถึงผู้ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ผู้ต้องถูกกักขัง หรืออยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐด้วย โดยไอซีอาร์ซีประเมินว่า ปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 50 ล้านคนในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังติดอาวุธ และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

นาง โซเฟีย ซูทริช (Sophie Sutrich) หัวหน้าทีมบริหารโครงการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของไอซีอาร์ซี กล่าวว่า “สองปีมาแล้วที่เราทุกคนต้องเหน็ดเหนื่อยกับสถานการณ์โรคระบาด โดยไม่อาจหนีความจริงที่ว่า จนถึงทุกวันนี้การระบาดก็ยังไม่จบสิ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ร้ายแรงนี้ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการกลับสู่ชีวิตปกติและยังเป็นภัยคุกคามชีวิตของเราทุกคน การเกิดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนแสดงให้เห็นแล้วว่า การที่ประชากรจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนนั้น ได้นำไปสู่การแพร่กระจายของไวรัสอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสสูงขึ้นที่จะเกิดไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งการควบคุมทั้งไวรัสนี้และไวรัสชนิดอื่นในอนาคต ล้วนต้องอาศัยการลงทุนในระบบรักษาพยาบาลและความมุ่งมั่นที่จะให้ประชากรทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน รวมถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งอันยากจะเข้าถึงด้วย”

ในหลายประเทศ ไอซีอาร์ซีอาศัยการทำงานด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลางในการช่วยประสานให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนสามารถฝ่าแนวปะทะไปถึงพื้นที่ชนบทห่างไกล รวมถึงช่วยเหลือด้านการขนส่งและระบบควบคุมอุณหภูมิ ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนในประเทศที่มีความขัดแย้งมักต้องประสบกับความท้าทาย เช่น การขาดแคลนศักยภาพในเรื่องระบบควบคุมอุณหภูมิและระบบจัดเก็บวัคซีน กระแสไฟฟ้า ศักยภาพด้านสาธารณสุข บุคลากรด้านการแพทย์ และการมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่อ่อนแอ อันรวมไปถึงถนนหนทางที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ขัดแย้งบางแห่งยังประสบปัญหาการยอมรับหรือถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ เมื่อแพทย์และพยาบาลในคลินิกและโรงพยาบาลไม่ได้รับการปกป้องจากทุกฝ่ายในความขัดแย้ง ชุมชนทั้งหมดละแวกนั้นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งในหลายกรณีหมายถึงประชากรทั้งหมดในชุมชนที่ต้องขาดที่พึ่งด้านการรักษาพยาบาลโดยรวม

ปัจจุบัน ไอซีอาร์ซียังคงเร่งทำงานเพื่อช่วยให้วัคซีนสามารถไปถึงประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการขัดกันทางอาวุธ ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงทั่วโลก