การเข้าถึงน้ำ เป็นเรื่องความเป็นความตายในพื้นที่ขัดแย้ง

บทความ

การเข้าถึงน้ำ เป็นเรื่องความเป็นความตายในพื้นที่ขัดแย้ง

วันที่ 22 มีนาคม เป็นวันน้ำโลก (World Water Day) ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะ ‘น้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ราว 3 สัปดาห์หากขาดอาหาร แต่สามารถมีลมหายใจได้เพียง 3-4 วัน หากปราศจากน้ำดื่ม อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ด้วยภาวะสงครามและความขัดแย้ง การเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นเรื่องจำเป็นถึงชีวิตที่เราอยากหยิบมาบอกเล่าในวันสำคัญนี้

วิกฤตน้ำสะอาดเมื่อสงครามกระจายตัวสู่พื้นที่เมือง

สงครามในพื้นที่เมืองเป็นสิ่งที่พบเห็นมากในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่นสถานการณ์ที่เราเห็นกันในเมืองมารีอูปอล ประเทศยูเครน ประชาชนติดอยู่ในการต่อสู้ที่รุนแรง ต้องหนีไปหลบภัยในชั้นใต้ดินที่ไม่มีน้ำประปา ด้วยอากาศที่หนาวจัด หลายบ้านหันไปใช้วิธีละลายหิมะ หรือนำน้ำจากเครื่องทำความร้อนมาดื่มเพื่อประทังชีวิต

เมื่อการต่อสู้เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่เมือง เป็นเรื่องคาดเดาได้ว่าระบบสาธารนูปโภคขั้นพื้นฐานจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยง หลายครั้งที่ระบบเหล่านี้ถูกลูกหลงจากระเบิดทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่การใช้อาวุธระเบิดทำลายล้างสูงจะต้องถูกงดเว้น สิ่งนี้ถูกระบุชัดในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

การจำกัดการเข้าถึงน้ำถือเป็นการคุกคามพลเรือน

ในบางกรณี การควบคุมแหล่งจ่ายน้ำ ถูกใช้เป็นกลยุทธิของการทำสงคราม คู่ขัดแย้งอาจยึดครองแหล่งน้ำที่มีความจำเป็นต่อการเพาะปลูก ทำลายท่อจ่ายน้ำ แหล่งบำบัดน้ำเสีย หรือแหล่งกำเนิดไฟฟ้า การกระทำเหล่านี้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงและยาวนาน มันเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งกับปัญหาสุขภาพ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชากรจำนวนมากกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

ขอย้ำอีกครั้งว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้การปกป้องวัตถุพลเรือน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การโจมตี เคลื่อนย้าย หรือทำลายวัตถุพลเรือนที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่เคยเป็นสิ่งยอมรับได้ และยังถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซ้ำเติมผู้ได้รับผลกระทบ

ในจำนวน 25 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหนักที่สุดในโลก มีถึง 14 ประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง

แม้ว่าการเข้าถึงน้ำ จะไม่ได้เป็นเหตุผลหลักของความขัดแย้ง (อย่างน้อยก็ในประสบการณ์ของเรา) แต่การขาดแคลนน้ำ หรือการขาดระบบการจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี ก็อาจเป็นเหตุผลให้ความรุนแรงยกระดับ นำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงในระดับโครงสร้างทางสังคม

ในภูมิภาคซาเฮลของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อบริเวณกึ่งทะเลทรายของทะเลทรายสะฮารา ทำหน้าที่แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นเหนือและใต้ กินพื้นที่ลากยาวตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนทะเลแดง เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากจากสถานการณ์โลกร้อน ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์กำลังหดตัวในอัตราที่น่าตกใจ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างชุมชนเพราะขาดปัจจัยการเข้าถึงน้ำอันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

ในพื้นที่ที่ระบบจัดการน้ำทำงานได้ไม่ดีนัก การขาดแคลนน้ำ อาจเป็นเชื้อไฟที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ การจัดตั้งระบบน้ำที่ดี จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในประเทศที่ต้องเผชิญทั้งความรุนแรงและปัญหาโลกร้อน

ปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในทุกกรณี

การเข้าถึงน้ำ เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่เราต้องการแก้ไข เป็นที่คาดการณ์กันว่า ภายในปี 2050 ประชากรที่ขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันเป็นจำนวนมากถึง 30% จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่องค์กรมนุษยธรรมจะต้องทำความเข้าใจและเรียกร้องในประเด็นสำคัญสามประการ ได้แก่

1.การเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลักการครอบคลุมถึงการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ การละเว้นวัตถุพลเรือนเช่นโรงกลั่นน้ำประปาและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน

2.สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ร่วมไปถึงองค์กรมนุษยธรรมต่างๆ ในการดูแลคุ้มครองระบบน้ำให้สามารถทำงานต่อไปได้ในช่วงเวลาวิกฤต

3.เพิ่มพูนความสามารถของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประชาคมโลกจะต้องหันมาให้ความสนใจ และให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่เปราะบางเหล่านี้ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งจากภาวะสงครามและปัญหาโลกร้อน

แบ่งปันบทความนี้