ข่าวประชาสัมพันธ์
19 พฤศจิกายน 2021
กาชาดสากลเรียกร้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้อพยพแนวชายแดนเบลารุส โปแลนด์ ลิธัวเนีย
สหพันธ์กาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies – IFRC) และ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ผู้อพยพตามแนวชายแดนประเทศเบลารุส โปแลนด์ ลิธัวเนีย และประเทศข้างเคียง โดยแถลงการณ์ได้แสดงความวิตกกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าว ที่ล่าสุดมีผู้ต้องเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 10 ราย ซึ่งรวมถึง เด็กชายวัย 14 ปีที่เสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ โดยสถานการณ์มีแนวโน้มไปในทางที่แย่ลงท่ามกลางฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
ในการนี้ ไอเอฟอาร์ซีได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1 ล้านฟรังก์สวิส แก่สภากาชาดเบลารุส โปแลนด์ และลิธัวเนีย โดยสภากาชาดของทั้งสามประเทศได้กระจายอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้อพยพที่ขาดแคลนอาหาร น้ำ ผ้าห่ม และ ยารักษาโรคที่จำเป็น ส่วนไอซีอาร์ซีคอยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการให้ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมถึงการช่วยให้ผู้อพยพกับญาติได้สื่อสารถึงกัน
นาง เบียกิเท เอบบีเซน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปของไอเอฟอาร์ซี กล่าวว่า “ตอนนี้มีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนตามแนวชายแดน ซึ่งรวมถึงผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอีกหลายร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องอยู่ด้วย คนเหล่านี้ต้องหลับนอนท่ามกลางสภาพอากาศที่เย็นยะเยือกเป็นเวลาหลายวันมาแล้ว เจ้าหน้าที่อาสาสมัครของเราได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือได้บ้าง แต่ก็ยังไปไม่ถึงอีกหลายคนที่ต้องนอนหนาวและหิวโหย คนเหล่านี้อาจจะเป็นแม่ พี่น้อง ลูก ของใครสักคน ชีวิตของพวกเขาจึงมีความสำคัญมาก พวกเขาควรได้รับการปกป้องและปฏิบัติด้วยความเมตตาและอย่างมีศักดิ์ศรี”
นาย มาร์ติน ชูเอ็พ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางของไอซีอาร์ซี กล่าวว่า “กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง รวมถึงองค์กรด้านมนุษยธรรมอื่นๆ จำเป็นต้องได้รับความสะดวกในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพทุกคนซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่แนวชายแดนได้อย่างไม่มีข้อจำกัดโดยทันที เพื่อจะได้ปกป้องชีวิต สุขภาพ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้ รวมถึงบรรเทาความทุกข์ทรมานและป้องกันโศกนาฏกรรมอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต”
ทั้งนี้ ผู้อพยพทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายเช่นไร ควรสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและทางการแพทย์ รวมถึงการคุ้มครองด้านมนุษยธรรม สิทธิของผู้อพยพควรได้รับการเคารพตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการอพยพด้วยสถานการณ์ระหว่างประเทศหรือการเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความสมัครใจ โดยเจ้าหน้าที่รัฐควรหลีกเลี่ยงการทำให้สมาชิกครอบครัวต้องพลัดพรากจากกันและมีความเสี่ยงในชีวิตและร่างกายด้วย