วันผู้สูญหายสากล ความหวังของคนที่อยู่ข้างหลัง

บทความ / บล็อค

วันผู้สูญหายสากล ความหวังของคนที่อยู่ข้างหลัง

“ฉันตื่นขึ้นกลางดึกใต้ต้นมะม่วง ได้แต่ร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำอีก”

“เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้า ฉันจึงกลับเข้าบ้านอีกครั้ง”

“ฉันใช้ชีวิตซ้ำๆ เช่นนี้เป็นวลา 2 ปี”

“หลายคนสงสัย ฉันไปนอนทำไมใต้ต้นมะม่วง”

“ทุกๆ คืน ฉันได้แต่ภาวนา ‘พระเจ้า ถ้าลูกชายของลูกยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ลูกมะม่วงตกลงมา ลูกจะได้รู้ว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร’”

คลีเมนติน่า มูซ่า คุณแม่จากอเมริกาใต้ เล่าให้เราฟังถึงความหวังเล็กๆ ที่จะได้พบลูกชายหลังสูญหายไร้การติดต่อเป็นเวลากว่าสามสิบปี ทุกวันนี้ หลายคนคงรู้สึกว่าการติดต่อหาครอบครัวไม่ใช่เรื่องยาก เรามีทั้งโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงแอปพลิเคชันอีกมากมาย หลายคนจำเบอร์โทรศัพท์ของคนในครอบครัวไม่ได้ด้วยซ้ำ ลองจินตนาการว่า หากวันหนึ่งเราอยู่ในที่ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีแม้กระทั่งระบบไปรษณีย์ การรอคอยให้ลูกมะม่วงหล่นจากต้น อาจเป็นหนทางเดียวที่ใครหลายคนพอจะให้กำลังใจตัวเองได้ว่าบุคคลอันเป็นที่รักยังมีชีวิตอยู่

ปัจจุบันมีบุคคลสูญหายทั่วโลกเป็นจำนวนหลายแสนคน บ้างจากลาเพราะเหตุความไม่สงบ บ้างสูญหายจากภัยธรรมชาติ หลายคนจำใจจากเพราะปัญหาเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ เป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนผู้สูญหายอย่างชัดเจน เพราะแค่จำนวนที่ถูกลงทะเบียนกับกาชาดจากทั่วโลก ก็มีมากกว่า 210,000 คน ตัวเลขนี้ เป็นมากกว่ารายงานทางสถิติ เพราะทุกๆ หนึ่งชีวิตที่สูญหาย มีผู้คนมากมายรอคอยการกลับมาของพวกเขา การรอคอยนั้น อาจยืนยาวหลายสิบปี หรือบางครั้งอาจเป็นการรอคอยชั่วชีวิต

มีคำกล่าวว่าเวลาจะเยียวยาความเจ็บปวด ประโยคนี้ใช้ไม่ได้กับครอบครัวของผู้สูญหาย ฮาจรา ซาทิส คุณแม่ชาวบอสเนีย ใช้เวลากว่า 25 เพื่อติดตามข่าวสารของลูกชายที่สูญหายไปในระหว่างความขัดแย้งในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเมื่อปี 1995 ลูกชายของเธอเขียนกลอนทิ้งไว้แผ่นหนึ่ง มันเป็นของดูต่างหน้าอย่างสุดท้ายที่เธอรักสุดหัวใจ สิ่งที่ผู้เป็นแม่กลัวยิ่งกว่าการพลัดพราก คือการไม่มีแม้แต่โอกาสได้ฝังร่างของลูกชายผู้เป็นที่รัก สำหรับครอบครัวที่เฝ้ารอ มีเพียงคำตอบเท่านั้นที่สามารถเยียวยาหัวใจของพวกเขา – ไม่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นข่าวร้ายหรือข่าวดี

“พวกเราสูญเสียทุกอย่าง แต่นั่นเทียบไม่ได้กับการเสียลูกไป” ครอบครัวของไซบู หนูน้อยจากไนจีเรียกล่าว ไซบูพลัดพรากจากครบครัวในระหว่างการโจมตี ตอนนั้นเขามีอายุแค่ 9 ปีเท่านั้น หากไซบูยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ตอนนี้เขาจะเติบโตเป็นหนุ่มน้อยวัย 16 ไซบูเป็นหนึ่งในผู้สูญหายกว่า 22,000 ชีวิตที่เพื่อนร่วมงานของเรากำลังติดตามหาตัวที่ประเทศไนจีเรีย แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้การติดตามหาผู้สูญหายเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมาตรการต่างๆ ที่ทำให้การเดินทางระหว่างพื้นที่ต้องถูกจำกัด แต่ทีมงานของเราก็ยังพยายามให้ความช่วยเหลือครอบครัวของบุคคลสูญหาย ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือแม้แต่การส่งข้อความผ่านรายการวิทยุ

โศกนาฎกรรมเหล่านี้ป้องกันได้ ทุกความพยายามควรเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลแม้เพียงคนเดียวต้องสูญหาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามสมาชิกในครอบครัว ไม่ให้ขาดการติดต่อกับบุคคลทางบ้านตั้งแต่ต้น รวมไปถึงการจัดการร่างผู้เสียชีวิตอย่างเหมาะสมเพื่อนำร่างผู้สูญหายกลับคืนสู่ครอบครัว ในพื้นที่ขัดแย้ง การปรับปรุงและกำหนดกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามหาบุคคลสูญหายเป็นเรื่องจำเป็น เช่น การจัดตั้งสำนักงานข้อมูลแห่งชาติในระหว่างเกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องไปกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ผู้สูญหาย รวมทั้งผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในยามสงคราม และได้รับการคุ้มครองผ่านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในยามสงบ รัฐ และกลุ่มติดอาวุธ ล้วนมีความรับผิดชอบที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลต่างๆ ต้องสูญหายไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด รวมไปถึงการติดตามหาผู้สูญหายกลับคืนสู่ครอบครัว และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวของผู้สูญหายให้ได้ทราบชะตากรรมของบุคคลอันเป็นที่รัก

ทุกวันที่ 30 สิงหาคม เป็นวันผู้สูญหายสากล มาร่วมกันรำลึกถึงบุคคลสูญหาย และครอบครัวที่ยังรอคอยการกลับมาของพวกเขา… ไม่ว่าเป็นหรือตาย ครอบครัวมีสิทธิ์ทราบชะตากรรมของสมาชิกในครอบครัว

Photo: คุณแม่ท่านหนึ่งนำรูปของลูกชายที่สูญหายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มาติดตามถามบรรดาเชลยสงครามที่ถูกปล่อยตัวกลับบ้านในปี 1947

แบ่งปันบทความนี้