การให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง การบิดเบือนข้อมูล และการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (MDH) ได้กลายเป็นลักษณะสำคัญที่แพร่หลายของยุคนี้ที่เรียกว่าเป็นยุค “ข้อมูล” หรือยุค “ดิจิทัล” และในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น “ข่าวปลอม” อาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนต้องสูญเสียซึ่งชีวิต บาดเจ็บ จำคุก ถูกเลือกปฏิบัติ หรือพลัดถิ่นฐาน อีกทั้งเป็นสิ่งกระตุ้นไม่เพียงวงจรปัญหาความรุนแรง แต่ยังรวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะทั้งทางตรงและทางอ้อม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายแห่ง แม้กระทั่งพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งก็ตาม ก่อนที่เราพูดคุยกันเรื่อง ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร ที่เกิดขึ้นในภาคส่วนงานด้านมนุษยธรรมนั้น ซานดรีน ทิลเลอร์ ที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เพียร์ริก เดวิดาล ที่ปรึกษานโยบายของ ICRC และ เดลฟีน วาน โซลินจ์ ที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านดิจิทัลของ ICRC ร่วมกันพูดคุยถึงภาวะอันตรายของข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์หรือ MDH ที่แพร่ขยายไปทั่วแต่ทว่าหลายคนมองข้ามไป ว่ามีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อสถานการณ์การทำงานด้านมนุษยธรรมอย่างไรบ้างในบทความนี้ และแม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องผลกระทบของ MDH ในพื้นที่ทีมีการทำงานด้านมนุษยธรรม แต่ทว่าผลกระทบที่เกิดจาก MDH เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เช่นเดียวกัน

ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็ตาม สิ่งที่ผู้คนทั่วไปเผชิญบนพื้นที่โลกออนไลน์อยู่เป็นประจำ คือคำถามสำคัญที่อาจเปลี่ยนชีวิตพวกเขา รวมทั้งปัญหาดิจิทัล จำนวนมากแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวลือบน Facebook ที่บอกว่าจะมีการทิ้งระเบิดโจมตีเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ตอนนี้เราควรพากันอพยพออกจากเมืองไปอยู่ที่ปลอดภัยได้แล้วหรือเปล่า แล้ววิดีโอ YouTube ที่มีคนซุ่มยิงพลเรือนจำนวนมากเป็นเรื่องจริงหรือหลอก เราเชื่อข้อความที่ส่งต่อกันทางกลุ่ม WhatsApp ที่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเป็นคนจัดการได้หรือไม่ แล้วองค์กรเอ็นจีโอที่เสนอให้เราใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อกับญาติและเพื่อนฝูงโดยอ้างว่า “ปลอดภัย” พวกเขาเอาข้อมูลของเราไปใช้ต่อจริงไหม การที่พวกเขาเรียกร้องให้คนมาลงทะเบียนจะเป็นกับดักหลอกเอาข้อมูลหรือเปล่า แล้วจริงหรือไม่ที่คนต่างชาติเป็นคนนำเอาโรค COVID-19 เข้ามาในชุมชนของเรา

ความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสาร” ที่ก่อตัวหนาแน่นขึ้น

เดิมทีแล้วนั้น คำว่า ‘ความไม่ชัดเจนของสถานการณ์สงคราม’ หมายถึง สภาวะความยากลำบากที่เกิดขึ้นในสนามรบที่ทำให้บรรดานักรบมองเห็นภาพและเข้าใจถึงภาวะกำลังและสถานการณ์ที่แท้จริงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายตนเองและของฝ่ายตรงข้าม แต่การทำงานด้านมนุษยธรรมในปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการสื่อสารที่แพร่หลายอยู่ทั่วทุกหนแห่งทำให้ ‘ความไม่ชัดเจนของสถานการณ์สงคราม’ วิวัฒน์ไปสู่ ‘ความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสาร’ ที่เกิดขึ้นกับประชากรผู้เดือดร้อน ความไม่ชัดเจนเวอร์ชันคริสต์ศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ทำให้ประชากรและชุมชนต่าง ๆ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน ไม่แน่นอน และสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

การให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง การบิดเบือนข้อมูล และการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (MDH) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการดำเนินการด้านข้อมูลข่าวสารเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการขัดกันทางอาวุธมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตก็คือ วิธีการสร้าง การแพร่กระจาย และการรับข้อมูลข่าวสารที่มีความรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลกที่มีการนำมาใช้โดยทั้งฝ่ายที่ถือครองอาวุธและบุคคลทั่วไปด้วย และดูเหมือนว่า การให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง การบิดเบือนข้อมูล และการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในรูปแบบดิจิทัลจะขยายขอบเขตขนาดและก้าวไปไกลจนยากที่จะตามทัน ทำให้การแยกแยะระหว่างความจริงกับความลวงในสภาพแวดล้อมที่ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัลเช่นนี้ทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ และในสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วนั้น การตัดสินใจใดก็ตามที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารเช่นนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสวัสดิภาพของเราได้เช่นกัน

จุดมืดบอดที่ขยายตัวโตขึ้น

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกให้ความสนใจและทำวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจาก การระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง และ “ภาวะข้อมูลข่าวสารอันท่วมท้น”” ที่ส่งผลต่อสังคมและสิทธิกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเรา มีการริเริ่มโครงการ การจัดสัมมนาออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ไปจนถึงการจัดทำแนวทางต่าง ๆ หลายร้อยโครงการเกี่ยวกับปัญหา MDH ที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะ MDH มีส่วนทำให้สถานการณ์การรับมือกับการระบาดของ COVID-19 แย่ลง เป็นสาเหตุกระตุ้นให้ผู้คนไม่ไว้วางใจกระบวนการเลือกตั้งและหน่วยงานรัฐ ทำให้ระบบการเงินไม่มีความเสถียร ไปจนถึงกดดันส่วนต่าง ๆ ของสังคม จนส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์และดูแลซึ่งกันและกันในสังคมของเราได้

นี่เป็นเรื่องที่ควรกังวลอย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องนี้คล้ายกับการที่ ‘ข่าวปลอม’ ได้บ่อนทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่คนไทยด้วยกันเองเป็นต้น และในบริบทอื่น ๆ ที่องค์กรด้านมนุษยธรรมดำเนินงานอยู่นั้น ความเสี่ยงหรืออันตรายเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้เด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่น ประเทศเมียนมาร์ เอธิโอเปีย ซีเรีย และนากอร์โน-คาราบัค ประเทศเหล่านี้นั้น ความพร้อมที่จะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งของโครงสร้างทั้งทางสังคมและประชาชนหลังเผชิญกับความเสี่ยงและภัยคุกคามอยู่ในระดับต่ำสุด อีกทั้งความน่าจะเป็นและความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบร้ายแรงตามมาก็อยู่ในระดับสูงสุดอีกด้วย

การที่จะเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์ออนไลน์ดังกล่าวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เนื่องจากสิ่งที่เราเห็นเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศเมียนมาร์ไปจนถึงเอธิโอเปีย ซีเรีย และนากอร์โน-คาราบัค ไม่ได้ทำให้เราคลายความกังวลลงแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงแค่ปลายเหตุเท่านั้น

เมื่อปี 2019 ICRC ได้ทำวิจัยภาคสนามที่ประเทศศรีลังกาและเอธิโอเปียเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ความท้าทายสำคัญที่เกิดจาก MDH ในการดำเนินงานด้านมนุษยธรรม สิ่งที่ค้นพบก็คือ ประการแรกนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบดิจิทัลที่วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วกำลังเปลี่ยนให้ MDH กลายเป็นตัวขับเคลื่อนพลวัตของความขัดแย้ง ความรุนแรง และอันตรายที่รุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลตามมาต่อความต้องการช่วยเหลือและการตอบสนองด้านมนุษยธรรม และประการที่สอง ช่องว่างระหว่างการวิจัยกับความรู้เชิงหลักฐานยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าผลกระทบเหล่านี้มีอะไรบ้าง ส่งผลต่อประชากรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมากน้อยเพียงใด และทางเลือกที่เป็นไปได้ในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง เป็นต้น

นับตั้งแต่ทำการศึกษานี้มา การระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดข้อมูลข่าวสารผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขมากขึ้น จนเป็นสาเหตุให้หน่วยงานผู้ให้บริการด้านสาธารสุข เช่น องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ต้องตกเป็นจุดสนใจของผู้คน และในบริบทที่มีการสู้รบกันที่ผู้คนไม่ไว้วางใจหน่วยงานรัฐนั้น การตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแรงจูงใจของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ปลุกระดมให้เกิดการโจมตีบุคลากรและสถานบริการทางการแพทย์ได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมาก่อนเมื่อปี 2020 นั่นเอง

ข่าวลือและข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่แพร่กระจายบนโลกอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนวิตกกังวลว่า เบื้องหลังการฉีดวัคซีนมีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่หรือไม่ ไปจนถึงเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย ซึ่งบ่อนทำลายสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขยากอยู่แล้วได้ด้วย

ในบริบทที่มีการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังเกิดขึ้นนั้น ฝ่ายที่ประสงค์ร้ายที่ต้องการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มผู้เปราะบาง อาจโจมตีหรือปล่อยข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นข้อมูลละเอียดอ่อนและจัดเก็บไว้บนฐานข้อมูลออนไลน์ให้รั่วไหล เจ้าหน้าที่และองค์กรด้านสาธารณสุขที่ทำงานในพื้นที่ขัดแย้งจึงต้องปรับปรุงระบบป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลและไม่ให้ข้อมูลถูกเจาะ รวมทั้งจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ด้วย ในส่วนของการส่งข้อความข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพทางออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพนั้น ควรเสริมให้สมาชิกชุมชนหรือสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อเป็นการจัดการกับความหวาดกลัวของผู้คนอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น ผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์ความขัดแย้งจึงควรเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ รวมทั้งร่วมสนทนาบนโลกสื่อสั่งคมออนไลน์ได้โดยไม่ถูกโจมตี

เริ่มลงมือก่อนใคร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะปัญญาประดิษฐ์และผลประโยชน์ในแง่ของภูมิศาสตร์ การเมือง และเศรษฐกิจ จะยังคงเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ MDH เกิดขึ้นอยู่ต่อไป และยังไม่ชัดเจนว่า โซลูชันหรือแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ จะปรับขนาดหรือปรับสับเปลี่ยนได้กับทุกบริบทหรือไม่ แต่หากไม่มีใครทำอะไร แทนที่เราจะมัวแต่กุมมือคอยกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เราจะต้องลงมือดำเนินการได้แล้ว แม้ว่าหน่วยงานด้านมนุษยธรรมจะมุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีของประชากรผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่เราก็ต้องสร้างความตระหนักรู้และหาหนทางบรรเทาผลกระทบอันสุดเลวร้ายเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ แต่เราลงมือดำเนินการเรื่องนี้เพียงลำพังไม่ได้

ดังนั้น ข้อเสนอที่เราเรียกร้องเพื่อให้เกิดการตอบสนองและลงมือปฏิบัติมีดังนี้

  • เราจะต้องทำให้การสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับ “ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร” หรือ MDH ในระดับกว้างมีการกล่าวถึงมิติของสถานการณ์ความขัดแย้งด้วย ได้แก่ สังคมและชุมชนที่มีความเสี่ยงมากสุด หากไม่มีการคำนึงถึงและจัดการกับกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษกลุ่มนี้ ภารกิจที่ทั่วโลกพยายามดำเนินการก็จะยังคงไม่สมบูรณ์และกลุ่มผู้เปราะบางจำนวนมากก็จะไม่ได้รับการเหลียวแล ดังนั้นจึงต้องมีการวิจัยและค้นคว้าหาหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลที่ตามของ MDH ที่เกิดขึ้นกับการดำเนินงานด้านมนุษยธรรม
  • เราต้องกระตุ้นให้ภาคส่วนด้านมนุษยธรรมเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขประเด็นเหล่านี้ เนื่องจากประเด็นเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องสำคัญต่อภารกิจการดำเนินงานของเรา สภาพแวดล้อมที่เราทำงานอยู่ และศักยภาพของเราในการช่วยให้ชีวิตของผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราจำเป็นต้องคุ้มครองปกป้องการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมให้รอดพ้นจากพลวัตของความขัดแย้งที่เกิดจาก MDH บนโลกออนไลน์ เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้การสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้คำนึงถึงผู้เดือดร้อนและหาวิธีปกป้องคุ้มครองพื้นที่ออนไลน์ที่ใช้ในการดำเนินงานเพื่อมนุษยธรรม
  • เราต้องทำให้งานการวิจัยและการกระตุ้นส่งเสริมของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีเอกชนไปจนถึงผู้บริจาค รัฐบาล และผู้มีบทบาทในภาคประชาสังคม มีการต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน เพราะหน่วยงานด้านมนุษยธรรมอาจไม่มีทักษะหรือทรัพยากรที่จำเป็นที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้ แต่เราอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะให้ข้อมูลและกระตุ้นให้คนสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้เรายังอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการและข้อสมมติฐานที่นำมาใช้การถกเถียงด้วย ข้อสันนิษฐานที่ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลในบางสถานการณ์นั้น โดยธรรมชาติแล้ว เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชากรที่ได้รับผลกระทบ และเราอาจทำได้แค่บรรเทาความเสี่ยงบางส่วนที่เทคโนโลยีดิจิทัลอาจทำให้เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ข้อสันนิษฐานนี้เราอาจต้องกลับมาทบทวนกันใหม่อีกครั้ง

เราพร้อมที่จะทำหน้าที่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการทดลองแนวทางใหม่ ๆ ในการดำเนินงานของเรา การวิจัยเพิ่มเติม ไปจนถึงร่วมเจรจากับผู้มีส่วนได้เสียทุกส่วนในประเด็นเหล่านี้ แล้วคุณล่ะ คุณจะร่วมกับเราไหม

ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่