ในการร่วมกันรับมือของเราต่อสถานการณ์ COVID-19 ในเขตการสู้รบนั้น การปฏิบัติตามบทบัญญัติสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือสิ่งสำคัญจำเป็น เพื่อให้ความต้องการของชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และหน่วยงานรัฐ ในห้วงเวลาอันยากลำบากเป็นประวัติการณ์นี้ ได้รับการสนองตอบอย่างเพียงพอและเหมาะสม
เราทุกคนต่างกำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตร่วมกันทั่วโลก และ COVID-19 ไม่ได้สนใจเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศหรือคำนึงถึงผู้มีอำนาจหรือความมั่งคั่ง แต่กระนั้น แม้ไวรัสจะเดินทางไปแพร่เชื้อให้ทุกคนในทุกหนแห่งโดยไม่เลือกหน้า แต่ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของไวรัสชนิดนี้กลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน
พลเรือนที่ติดอยู่ท่ามกลางการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก รวมทั้งผู้พลัดถิ่นจากสถานการณ์ความรุนแรงและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ จากการสู้รบ การทำลายล้าง การพังทลายลงของงานบริการขั้นพื้นฐานมาเป็นเวลาหลายปีทำให้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เหล่านี้ คือกลุ่มผู้ที่อยู่สภาวะเปราะบางสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ในปัจจุบันมากที่สุด โดยสถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง และภัยพิบัติ เป็นสาเหตุทำให้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกเกือบ 168 ล้านคนในขณะนี้จำต้องพึ่งพาการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ แม้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ สังคม จิตใจ และเศรษฐกิจจะน่าสะพรึงกลัวเท่าใด แต่ไวรัสโคโรนานี้ก็ไม่ได้เป็นแค่เพียงหายนะหนึ่งเท่านั้น แต่ทว่าเป็นอีกหายนะที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้ต่างหาก
เหตุใดเขตการสู้รบจึงถูกมองว่าเป็นดั่งถังบรรจุดินประสิวที่รอ COVID-19 มาจุดชนวนให้ระเบิด แน่นอนว่าปัญหาส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการสู้รบหรือการขัดกันทางอาวุธ เพราะผลที่ตามมาของสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธหรือความขัดแย้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขัดกันทางอาวุธที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานนั้น เป็นต้นตอสาเหตุทำให้เกิดผลมากกว่าการล้มตายและบาดเจ็บในทันที ความยากจน การพลัดถิ่น รวมทั้งการเข้าไม่ถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นด้วย แม้ในสถานการณ์ที่มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบก็ตาม การทำสงครามก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายอันใหญ่หลวงและส่งผลกระทบในด้านมนุษยธรรมที่สำคัญในระยะยาว เช่น การพลัดถิ่นที่ยืดเยื้อ การสูญเสียการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน และการพังทลายของกลไกการจัดการบุคคลและชุมชน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสาเหตุของการพังทลายลงของการให้บริการที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการด้านสาธารณสุขในสถานการณ์การสู้รบ จะมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่ ICRC ได้เน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่า การเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) จะช่วยลดความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับประชากร รวมทั้งผลลัพธ์ที่ตามมาของความขัดแย้งในทางมนุษยธรรม ดังนั้น การให้ความคุ้มครองต่อการให้บริการที่จำเป็น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้น จะต้องเริ่มต้นขึ้นก่อนใคร โดยฝ่ายที่อยู่ในการสู้รบจะต้องเคารพกฎแห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้วมากขึ้นกว่าเดิม
นั่นคือสาเหตุของปัญหาอีกสาเหตุหนึ่ง และมิอาจกล่าวเกินจริงได้ สภาวะความเปราะบางอันสุดขีดของผู้คนที่อยู่ในเขตการสู้รบต่อสถานการณ์ COVID-19 บริการที่จำเป็นที่เสื่อมโทรมหรือทรุดโทรมลงขั้นสุด เช่น น้ำสะอาด สุขาภิบาล และการดูแลสุขภาพ เป็นส่วนสำคัญที่เป็นผลมาจากการเพิกเฉยต่อภาระผูกพันของทั้งรัฐและผู้ทำสงครามอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ต่อประชากรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตนมานานนับหลายปี
ตอนนี้เราอยู่ตรงนี้ ตรงจุดที่เราต้องตัดสินใจเลือกทางเดินกันอีกครั้ง แต่เป็นการตัดสินใจที่เราคุ้นเคยมาก่อน ซึ่งในระยะยาวนั้น การรับมือด้านสาธารณสุขต่อการระบาดใหญ่และการเคารพต่อการคุ้มครองทางกฎหมายขั้นพื้นฐานจะต้องจูงมือไปพร้อมกัน และเพื่อแสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้ ฝ่ายกกฎหมายของ ICRC ได้จัดทำข้อเตือนใจเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบัญญัติสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในสถานการณ์ที่มีการสู้รบหรือความขัดแย้ง ซึ่งเราทุกคนจะต้องเตรียมไว้ให้พร้อมใช้เมื่อการระบาดใหญ่ระบาดถึงประเทศที่อยู่ระหว่างสงคราม
บุคลากรทางการแพทย์ อาคารสถานที่ และการลำเลียงขนส่ง
ข้อ 3 ร่วม ของอนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับ; ข้อ 19, 23-26 และ 35 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง; ข้อ 36 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; ข้อ 14(1), 15, 18, 20-21 และ 56 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่; ข้อ 12, 15-16 และ 21 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง; ข้อ 10 และ 11 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; กฎข้อ 25, 26, 28, 29 และ 35 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC
สถานอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีบุคลากรเพียงพอและมีอุปกรณ์ครบครันถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการให้การดูแลทางการแพทย์ในวงกว้าง ดังเห็นได้จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความต้องการทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนี้ บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยบริการ และการลำเลียงขนส่งที่ได้รับมอบหมายเป็นการเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ จะต้องได้รับการเคารพและคุ้มครองในทุกสถานการณ์ ซึ่งในพื้นที่ที่ถูกครอบครอง ฝ่ายที่มีอำนาจครอบครองจะต้องสร้างความมั่นใจและรักษาไว้ซึ่งสถานพยาบาลและบริการทางการแพทย์ ตลอดจนระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย นอกจากนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังช่วยทำให้มีโอกาสจัดตั้งเขตโรงพยาบาลขึ้นได้ ซึ่งอาจเป็นโรงพยาบาลที่อุทิศให้แก่การแก้ไขรับมือกับวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน
น้ำ
ข้อ 54(2) และ 57(1) ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง; ข้อ 13(1) และ 14 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; กฎข้อ 15 และ 54 ของกฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
สถานอำนวยความสะดวกด้านน้ำประปามีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตปัจจุบันนี้ ในสถานการณ์ที่มีการขัดกันทางอาวุธนั้น การติดตั้งสถานอำนวยความสะดวกด้านน้ำเหล่านี้จำนวนมากถูกการสู้รบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำลายให้ย่อยยับลง การหยุดชะงักลงจนปฏิบัติงานไม่ได้ หมายถึงการที่พลเรือนหลายพันคนจะไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันขั้นพื้นฐานอีกต่อไป เช่น การล้างมือบ่อย ๆ ซึ่งหากล้างมือบ่อย ๆ ไม่ได้ ก็อาจนำไปสู่การแพร่กระจายของไวรัสต่อไปมากขึ้น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศห้ามมิให้มีการโจมตี ทำลาย เคลื่อนย้าย หรือทำให้สิ่งของที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของประชากรพลเรือน รวมถึงสถานที่ผลิตและแหล่งเก็บน้ำดื่มเสียหายจนใช้การไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในการปฏิบัติการทางทหารนั้น จะต้องมีการดูแลอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งวัตถุสิ่งของของพลเรือน รวมถึงโครงข่ายน้ำประปาและการติดตั้ง
การบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม
ข้อ 3 ร่วม และ 9/9/9/10 ของอนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับ
การดำเนินการด้านมนุษยธรรมในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยชีวิตผู้คนในห้วงของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้น แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของประชากรภายใต้การควบคุมของตน องค์กรด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลางเช่น ICRC มีสิทธิ์ที่จะเสนอความช่วยเหลือ ทังนี้ เมื่อแผนการบรรเทาทุกข์ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายที่อยู่ในการสู้รบ รวมทั้งรัฐที่สาม จะต้องอนุญาตและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับช่องทางการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมอย่างรวดเร็วและปราศจากการกีดขวาง โดยอยู่ภายใต้สิทธิในการควบคุมของตน (เช่น โดยปรับข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายที่เกี่ยวกับการระบาดใหญ่เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถเข้าถึงสิ่งของและบริการด้านมนุษยธรรม)
บุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
ข้อ 3 ร่วม ของอนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับ; ข้อ 12 และ 15 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง; ข้อ 16 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่; ข้อ 10 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง; ข้อ 7 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; กฎข้อ 109, 110 และ 138 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC
กลุ่มคนบางกลุ่ม รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดด้านภาวะสุขภาพมาก่อนหน้า คือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหากได้รับเชื้อ COVID-19 กลุ่มคนอื่น ๆ รวมถึงผู้พิการ อาจเผชิญกับอุปสรรคที่หลากหลายมากมาย (เช่น ทางการติดต่อสื่อสาร ทางกายภาพ) ในการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพที่จำเป็น หรืออาจเผชิญกับความยากลำบาก โดยเฉพาะการดำเนินการตามมาตรการสุขอนามัยที่จำเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (เช่น ผู้ที่พึ่งพาการสนับสนุนจากผู้อื่นในการดำเนินงานในแต่ละประจำวันอาจจะเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้) กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้ภาคีคู่พิพาทเคารพและคุ้มครองผู้บาดเจ็บและผู้ป่วย รวมทั้งใช้มาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดในการค้นหา รวบรวม และอพยพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์เอื้ออำนวยและไม่รีรอชักช้า โดยผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์และการดูแลตามสภาพความเจ็บป่วยของพวกเขาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้และล่าช้าน้อยที่สุด โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติอื่นใดนอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ นอกจากนั้น บทบัญญัติของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังให้ความเคารพและคุ้มครองผู้สูงอายุและผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบโดยเฉพาะด้วย
ผู้ถูกคุมขัง
ข้อ 22(1), 23(1), 29-31 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สาม; ข้อ 83(1), 85(1), 91-92 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่; ข้อ 5(1)(b) และ 5(2)(c) ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; กฎข้อ 118 and 121 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC
สถานคุมขัง ซึ่งมักมีผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัดเกินไป มีสุขอนามัยไม่ดี หรือขาดการระบายอากาศที่เพียงพอ จะก่อให้เกิดเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่หากเมื่อต้องป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ รวมถึง COVID-19 ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนั้น สุขภาพและสุขอนามัยของผู้ถูกคุขังจะต้องได้รับการปกป้อง และผู้ถูกมตัวขังที่เจ็บป่วยก็จะต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์และการเอาใจใส่ตามเงื่อนไขสภาพอาการของพวกเขา โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงควรมีการตรวจสุขภาพผู้ต้องขังใหม่เพื่อดูว่าควรมีมาตรการด้านไวรัสและสุขอนามัยเพิ่มหรือไม่ (เช่น การติดตั้งสถานีล้างมือ การมอบสบู่และอุปกรณ์ซักล้างอื่น ๆ รวมทั้งสร้างหอผู้ป่วยแยก) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้อพยพ ผู้ขอลี้ภัย และผู้ลี้ภัย
กฎทั่วไปทั้งหมดที่ครอบคลุมประชากรพลเรือน ได้แก่ ข้อ 35, 44, 45 (4), 49, 70 (2), 147 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่; ข้อ 73 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง; ข้อ 17 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; กฎข้อ 105, 129 และ 131 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC
ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้อพยพ ผู้ขอลี้ภัย และผู้ลี้ภัย คือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 มากเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขามักมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายและเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงการดูแลสุขภาพอย่างจำกัด ดังนั้น พลเรือนผู้พลัดถิ่นจึงมีสิทธิ์ที่จะได้รับที่พักพิง สุขอนามัย การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และโภชนาการ และผู้ที่เผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ในค่ายที่พักพิงอาจมีเป้าหมายที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่ความปลอดภัย ทำให้ประชากรในท้องถิ่นและ/หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐต้องตอบโต้อย่างแข็งขันเพื่อควบคุมกักกันพวกเขา รวมถึงเปลี่ยนค่ายที่พักพิงให้เป็นศูนย์กักกันตัว ทั้งนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้การคุ้มครองพลเรือนทุกคนจากผลกระทบของสงครามติดอาวุธและต่อต้านการลิดรอนเสรีภาพโดยพลการ รวมทั้งให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่เลือกปฏิบัติ
เด็กและการศึกษา
ข้อ 13, 24, 50(1), 94, 108 และ 142 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่; ข้อ 4(3)(a) ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; กฎข้อ 135 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC
โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากกว่าเดิม แม้ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นมาตรการที่ทำให้ความต่อเนื่องของการศึกษาต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะยากลำบากมากขึ้นอีกขั้น เพราะการศึกษาอาจต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากการสู้รบที่เกิดขึ้นอยู่แล้วนั่นเอง การหยุดชะงักของการศึกษาก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว และเป็นสิ่งสำคัญที่ความพยายามที่จะทำให้การศึกษามีความต่อเนื่องไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงยามวิกฤต ทั้งนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ภาคีคู่พิพาทต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการศึกษา และการปฏิบัติของรัฐระบุให้มีการคำนึงถึงการเข้าถึงการศึกษาด้วยความเคารพและคุ้มครองพิเศษ โดยเด็กมีสิทธิ์ได้รับภายใต้กฎหมายจารีตประเพณี มาตรการเพื่อให้การศึกษาไม่ถูกรบกวนและเด็กสามารถเรียนรู้จากที่บ้านมีความสำคัญจำเป็นอย่างเร่งด่วน
มาตรการลงโทษและมาตรการจำกัดอื่น ๆ
ข้อ 3 ร่วม และ 9/9/9/10 ของอนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับ; ข้อ 70 และ 71 ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง; ข้อ 18(2) ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สอง; กฎข้อ 31, 32, 55-56 และ 109-110 ของการศึกษากฎหมายจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของ ICRC
วิกฤตการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการระดมทรัพยากรด้านมนุษยธรรมที่สำคัญจำเป็นซึ่งมักจะขาดแคลนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โดยมาตรการลงโทษและมาตรการจำกัดอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ดังกล่าวอย่างไม่ลำเอียงได้ เพื่อช่วยบรรเทาข์ความเดือดร้อนของผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบางมากที่สุด มาตรการลงโทษและมาตรการจำกัดอื่น ๆ ที่ขัดขวางองค์กรด้านมนุษยธรรมที่ปฏิบัติงานด้วยความไม่ลำเอียงเช่น ICRC จากการดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรมในลักษณะที่เป็นหลักการนั้นขัดกับเนื้อหาและจิตวิญญาณของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่บังคับใช้มาตรการดังกล่าวควรตรวจสอบว่ามาตรการที่ตนนำมาใช้สอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและไม่ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อการตอบสนองด้านมนุษยธรรมตามหลักการต่อ COVID-19 โดยรัฐและองค์กรระหว่างประเทศควรกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ เช่น การยกเว้นด้านมนุษยธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรด้านมนุษยธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ลำเอียง
Reference: แปลและเรียบเรียงจากบทความ COVID-19 response in conflict zones hinges on respect for international humanitarian law