หนึ่งปีให้หลังกับอนุสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์: ภาพสะท้อนจากเมืองฮิโรชิมะ

บทความ / บล็อค

หนึ่งปีให้หลังกับอนุสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์: ภาพสะท้อนจากเมืองฮิโรชิมะ

World War II, after the explosion of the atom bomb in August 1945, Hiroshima, Japan. (Photo by: Universal History Archive/UIG via Getty Images)

ภาพความทรงจำครั้งเมื่อฉันไปเยือนพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายังคงแจ่มชัด แม้ว่าในวันนั้นสภาพอากาศจะร้อนเหนอะหนะแต่ก็มีผู้คนเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อใช้เวลานึกคิดอย่างสงบนิ่ง ข้าพเจ้าสามารถสัมผัสได้ถึงความปรารถนาให้เกิดสันติภาพผ่านการกระทำของผู้คนที่ค่อยบรรจงวางดอกไม้และนกกระเรียนที่พับไว้อย่างประณีต ณ ฐานของอนุสรณ์

ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่เคยประสบเคราะห์ภัยจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ โดยมีผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์หรือที่เรียกว่า ฮิบาคุชา (Hibakusha) จำนวนหลายพันคน ทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยบาดแผลทางกายและจิตใจ บทเรียนที่โหดร้ายในเหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้ประวัติและชื่อเมืองฮิโรชิมะกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก

อนุสรณ์ ดร. มาร์เซล ยูโนด จาก ICRC แพทย์ชาวต่างชาติคนแรกที่เดินทางไปถึงเมืองฮิโรชิมะ

ดร. มาร์เซล ยูโนด จากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) เป็นแพทย์ชาวต่างชาติคนแรกที่เดินทางไปถึงเมืองฮิโรชิมะ หลังจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 เพื่อเข้าไปช่วยทำการรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ในสมุดบันทึกของเขาบรรยายไว้ว่า

“พวกเราไม่เคยพบเห็นเมืองที่มีสภาพเช่นนี้มาก่อน ใจกลางเมืองกลายเป็นลานสีขาว ทุกอย่างถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่”

เขาบรรยายเพิ่มเติมเมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาลรองรับภัยฉุกเฉินอีกว่า

“ผู้ป่วยหลายรายต้องทนทรมานจากผลของการได้รับสารกัมมันตภาพรังสีและมีอาการเลือดออกตามร่างกาย แม้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดเป็นระยะอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากปราศจากผู้บริจาคเลือดและไม่มีแพทย์กำกับการวินิจฉัยหมู่เลือดที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนถ่ายเลือด จึงทำให้ไม่สามารถทำการรักษาใด ๆ ให้กับผู้ป่วยดังกล่าวได้”

ในการเดินทางตามรอยเท้าของ ดร. ยูโนด ไปถึงเมืองฮิโรชิมะในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นการยากที่คนคนหนึ่งจะสามารถหยั่งถึงความร้ายแรงและความทุกข์ทรมานทั้งปวงที่เกิดขึ้นในอดีต ณ ที่แห่งนี้ได้ด้วยตนเอง แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลับสามารถถ่ายทอดโศกนาฏกรรมในห้วงเวลานั้นพร้อมทั้งปลุกความหวัง ด้วยการเล่าเรื่องราวผ่านวัตถุและข้อมูลต่าง ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังกินใจข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก

“พวกเราไม่เคยพบเห็นเมืองที่มีสภาพเช่นนี้มาก่อน ใจกลางเมืองกลายเป็นลานสีขาว ทุกอย่างถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่”

เป็นที่รับรู้กันว่าการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เหนือเมืองฮิโรชิมะในครั้งนั้น จุดระเบิดลูกไฟขนาดยักษ์ทำลายล้างพื้นที่กว่า 13 ตารางกิโลเมตรของเมือง โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตและสร้างความสูญเสียเหลือคณานับ พบว่าอาคารกว่าร้อยละ 63 ในเมืองถูกทำลายโดยสมบูรณ์ บ้างได้รับความเสียหาย ประมาณการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีจำนวนระหว่าง 100,000 ถึง 180,000 รายจากประชากรเมืองจำนวนทั้งหมด 350,000 ราย เมื่อรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตจากทั้งเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 340,000 ราย ทั้งที่เสียชีวิตในทันทีและภายในระยะเวลา 5 ปีหลังจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์

นอกเหนือจากบรรดาข้อมูลข้างต้นแล้ว สิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ข้าพเจ้าขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กลับเป็นรายละเอียดเล็กน้อย ข้าพเจ้าหัวใจสลายเมื่อได้เห็นสภาพบิดเบี้ยวของจักรยานสามล้อที่เด็ก ๆ ใช้ปั่น ลองนึกดูว่าขนาดโลหะยังถูกทำให้บิดเบี้ยวภายใต้แรงระเบิด แล้วร่างอันบอบบางของเด็กจะเป็นเช่นไร อีกทั้งเสื้อผ้าและเครื่องแบบนักเรียนจากผู้รอดชีวิตที่จัดแสดงไว้ปรากฏให้เห็นรอยไหม้และคราบเลือด วัตถุอื่น ๆ เช่นของใช้ในชีวิตประจำวัน กล่องใส่ข้าว นาฬิกา ขวดน้ำ ในสภาพบุบสลายกลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยหรือผิดรูปจนจำไม่ได้

รถรางที่เสียหายจากแรงระเบิด

อนุสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ได้ตระหนักถึงผลพวงทางด้านมนุษยธรรมจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งยอมรับว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นขัดต่อหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เนื่องด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างถาวร โดยต้องมีการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้และการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และสำหรับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ในความเป็นจริงมีผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์หรือฮิบาคุชาจำนวนกว่า 190,000 คน บุตรของผู้รอดชีวิตอีกว่า 200,000 คน ต่างต้องทนทุกข์กับโรคลูคีเมียและโรคมะเร็ง อีกทั้งบางส่วนยังมีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ รวมถึงอาการเครียดหลังจากเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง

นอกจากนี้อนุสัญญายังกำหนดการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ไว้อย่างครอบคลุม ตลอดจนขั้นตอนการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้สิ้นไป ด้วยผลของอนุสัญญาดังกล่าวแม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่ถูกขจัดให้หมดสิ้นไปในทันที แต่อนุสัญญาก็ยืนหยัดในหลักการประณามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และมีส่วนส่งเสริมความร่วมมือในการลดความเสี่ยงภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ ในกรณีนี้อนุสัญญาได้กำหนดพันธกรณีที่เพิ่มมากขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อ 6 แห่งอนุสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นเสาหลักที่ใช้ในการเจรจาปลดอาวุธในปัจจุบัน ในประการสุดท้ายอนุสัญญายังลดแรงจูงใจไม่ให้มีการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เพิ่มความเสี่ยงในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

เซ็ตสึโกะ เจ้าหญิงชิชิบุ น้องสะใภ้ในสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ เยี่ยมผู้ป้วยในฮิโรชิมะ

ในขณะที่อนุสัญญาฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ บรรดาประเทศที่ได้ลงนามในอนุสัญญาเมื่อปีที่ผ่านมาและบรรดาประเทศที่มีมติเห็นชอบกับอนุสัญญาฉบับนี้ กำลังดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบัน โดยขั้นตอนการให้สัตยาบันนี้จำต้องอาศัยระยะเวลา ข้าพเจ้าจึงเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้อนุสัญญาฉบับนี้จะมีประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีครบ 50 ประเทศขั้นต่ำเพื่อให้อนุสัญญาเริ่มมีผลบังคับใช้

ที่สำนักงานใหญ่ของ ICRC ในเจนีวา มีต้น Gingko Biloba หรือ ต้นแปะก๊วยแห่งเมืองฮิโรชิม่าอาศัยอยู่ ต้นไม้ที่ว่าเหลือรอดจากการทิ้งระเบิดปรมาณูในปี 1945 เป็นสัญลักษณ์ของความหวังและสันติภาพ ปัจจุบันต้นอ่อนของแปะก๊วยจากฮิโรชิม่าได้รับการนำไปปลูกต่อในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ภาพความทรงจำการเดินทางเยือนพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะในครั้งนั้นเป็นสิ่งเตือนใจให้ข้าพเจ้าอยู่เสมอมา ตลอดการดำเนินความพยายามเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ พวกเราเริ่มเรียกร้องให้มีการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1945 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงไม่นานหลังจากที่ ดร. ยูโนด (Dr Junod) และคณะทำงานทราบถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และความทุกข์เวทนาที่เกิดขึ้นกับเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ กระนั้นก็ตาม ICRC และขบวนการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศก็ยังไม่ลดละความพยายามในการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามเย็นและนับแต่นั้นเป็นต้นมา ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2018 อันเป็นวันขจัดอาวุธนิวเคลียร์สากล ได้มีการจัดพิธีลงนามระหว่างการประชุมระดับสูงของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยมีนายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ข้าพเจ้าจึงขอใช้โอกาสนี้สนับสนุนให้ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีให้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ย้ำเตือนให้ข้าพเจ้าระลึกถึงชีวิตของปุถุชนทั้งชายหญิงและเด็กที่ต้องมลายสิ้นไปด้วยพลังทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ในขณะที่พวกเขากำลังดำเนินชีวิตประจำวัน ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ยังเปี่ยมไปด้วยความหวังในอุดมการณ์ร่วมที่เชื่อในคุณค่าแห่งมนุษยชาติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ The Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons one year on: Reflections from Hiroshima

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แบ่งปันบทความนี้