ในตอนก่อนหน้า เราได้พูดถึงที่มาและความสำคัญของกิจกรรมแข่งขันความรู้ด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law หรือ IHL) กิจกรรมนี้จัดขึ้นทั้งในรูปแบบบทบาทสมมติ การว่าความศาลจำลอง ไปจนถึงการโต้วาที และมีการจัดการแข่งขันทั่วโลกร่วมทั้งในประเทศไทย ในบทนี้เราจะมาเล่าต่อ ว่าการเข้าร่วมแข่งขันในรายการที่ว่า สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้เข้าแข่งขันไปจนถึงประเทศที่ให้การสนับสนุนได้อย่างไร
เรียนรู้หลักการและคุณค่าทางมนุษยธรรมไปพร้อมกับตามหาเส้นทางอาชีพ
การแข่งขัน IHL อาศัยการจำลองสถานการณ์เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันนำความรู้จากบทเรียนมาปรับใช้กับเหตุการณ์จริง ไม่ว่าจะได้รับบทบาทสมมุติเป็นผู้แทน ICRC หรือที่ปรึกษากฎหมายของทั้งฝ่ายทหารและกลุ่มติดอาวุธ ผู้เข้าแข่งขันต้องให้เหตุผลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมเจรจาในประเด็นกฎหมายและมนุษยธรรมที่มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่การใช้หุ่นยนต์ในสงคราม ไปจนถึงการปกป้องสถานพยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ในสนามรบ
นอกจากความรู้เชิงวิชาการ การเข้าร่วมการแข่งขันยังเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้เข้าร่วมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมล้วนมีปูมหลังและมุมมองทางสังคมที่ต่างไป หลายคนอาจมาจากพื้นที่ความขัดแย้ง ทำให้การแข่งขันเต็มไปด้วยสีสัน สะท้อนภาพความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นรากฐานคุณค่าของหลักการมนุษยธรรม การจำลองสถานการณ์ในการแข่งขัน IHL ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้ในผลกระทบอย่างถาวรที่จะเกิดขึ้นหากมนุษยชาติยังคงเพิกเฉยและละเมิดต่อหลักมนุษยธรรม
การแข่งขันยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างเครือข่ายในการทำงานหรืออาจได้แรงบันดาลใจในการเข้าสู่สายงานด้านมนุษยธรรม บรรดาคณะกรรมการ ผู้ฝึกสอน และบุคลากรต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการแข่งขันส่วนมากทำงานในสายงานด้าน IHL สิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ หรือสายงานวิชาการซึ่งล้วนสามารถให้คำแนะนำและมุมมองอันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในสายงานดังกล่าว เครือข่ายที่เข้มแข็งของบรรดาศิษย์เก่ายังมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะการเปิดพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลและความช่วยเหลือสำหรับการทำงานในอนาคต
ผลสรุปของงานสำรวจสองชิ้นจากการศึกษาบรรดาผู้เข้าร่วมแข่งขันรายการ Jean-Pictet ช่วยยืนยันถึงข้อเท็จจริงตามที่อ้างไว้ข้างต้น ผลการศึกษาในปี ค.ศ.2016 แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนร้อยละ 89.6 เห็นว่าการแข่งขันดังกล่าวช่วยเปิดโลกทัศน์และเอื้อให้เกิดบรรยากาศแบบพหุวัฒนธรรม และอีกร้อยละ 68.75 เห็นว่าการแข่งขันช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่อง IHL งานสำรวจชิ้นหลังแสดงให้เห็นว่าอดีตผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนร้อยละ 92.96 ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและปรับใช้ IHL รวมถึงกฎหมายในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง อดีตผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องว่าการเข้าร่วมการแข่งขัน Pictet มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพของตน
การสร้างสังคมที่เอื้อต่อการเคารพชีวิตและศักดิ์ศรี
ในปัจจุบันเราพบเห็นวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นยืดเยื้อในความขัดแย้งทั่วโลก สาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากการเพิกเฉยและละเมิดต่อกฎหมาย บทเรียนเหล่านี้ทำให้เราตระหนักได้ว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรรม เรายังต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุด้วยการส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจใน IHL ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้ IHL ที่ผูกพันต่อรัฐ และสภากาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง ทั้งนี้ ICRC เองก็มีส่วนร่วมในพันธกิจดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ICRC ได้กำหนดพันธกิจด้านการป้องกัน โดยมุ่งสร้าง “สังคมที่เอื้อต่อการเคารพชีวิตและศักดิ์ศรี และการเคารพการปฏิบัติภารกิจของ ICRC” อาจกล่าวได้ว่าในชุมชนที่ไม่เอื้อต่อการเคารพในหลักการและคุณค่าทางด้านมนุษยธรรม การให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ทางมนุษยธรรมก็เปรียบเสมือนการเดินทวนกระแสน้ำ ทำให้ความช่วยเหลืออยู่ในวงจำกัด แต่ในทางกลับกันในชุมชนที่มีเงื่อนไขทางสังคมที่ส่งเสริมการเคารพชีวิต จารีตประเพณีและคุณค่าทางมนุษยธรรม การให้ความช่วยเหลือจะเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นทวีคูณ แน่นอนว่าการสร้างเงื่อนไขทางสังคมที่เหมาะสมเป็นเป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาวอันต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างมาก ไม่แพ้การใช้จินตนาการ
จะเห็นได้ว่าการแข่งขัน IHL ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ภูมิภาค หรือระหว่างประเทศ ต่างมีส่วนสำคัญในการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการเคารพสิทธิ ศักดิ์ศรี และการปฏิบัติภารกิจทางด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลาง อย่างไรก็ดี กิจกรรมนี้ยังมีอุปสรรคเพราะยังไม่ได้รับความสนใจและสนับสนุนมากเท่าที่ควร ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปในเชิงป้องกันการละเมิด IHL ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล ต่างจากการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เห็นผลชัดในทันที ทั้งนี้การสนับสนุนการแข่งขัน IHL จึงควรดำเนินควบคู่ไปกับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในอีกทางหนึ่ง
ในอนาคตอันใกล้ เมื่อใดที่บรรดาองค์กรมนุษยธรรม ผู้บริจาค และภาคประชาสังคมเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนกิจการด้านมนุษยธรรมทุกด้านอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อนั้นองค์กรมนุษยธรรมจะสามารถปฏิบัติหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันมนุษยชาติจากความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ Why educating students on humanitarian norms and values matters
ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย