การแข่งขันว่าความศาลจำลองกับการปลูกฝังหลักการทางมนุษยธรรมให้แก่เยาวชน (ตอนที่ 1)

บทความ / บล็อค

การแข่งขันว่าความศาลจำลองกับการปลูกฝังหลักการทางมนุษยธรรมให้แก่เยาวชน (ตอนที่ 1)

กิจกรรมแข่งขันความรู้ด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ(International Humanitarian Law หรือ IHL) เป็นกิจกรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลก ไม่ว่าจะจัดขึ้นในรูปแบบบทบาทสมมติ การว่าความศาลจำลอง หรือการโต้วาที ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ “นำตัวกฎหมายมาปรับใช้ในสถานการณ์จริง สำหรับผู้เข้าแข่งขันประโยชน์ที่ได้รับคือโอกาสในการสร้างเครือข่ายในโลกของการทำงานและเพิ่มพูนความรู้ด้าน IHL  ทว่าการจัดกิจกรรมเหล่านี้ในระยะยาวจะช่วยสร้างเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้เกิดการเคารพชีวิต ศักดิ์ศรี และการปฏิบัติภารกิจทางด้านมนุษยธรรมที่เป็นกลาง หรือแม้กระทั่งการธำรงรักษาสันติภาพได้อย่างไร

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross หรือ ICRC) ให้การสนับสนุนการแข่งขัน IHL ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรในสายงานมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็น ทหาร นักกฎหมาย ผู้พิพากษา ผู้วางนโยบาย และสมาชิกภาคประชาสังคม  การแข่งขันกว่า 30 รายการถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคแม้แต่ในประเทศที่มีสงครามหรือเหตุความไม่สงบ ยกเว้น Jean-Pictet ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ถูกแยกออกไปต่างหาก แต่ยังได้รับการสนับสนุนจาก ICRC  ทุกปีจะมีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันหลายร้อยคนจากทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา รายการแข่งขันดังกล่าว ได้มีผู้เข้าร่วมไปแล้วไม่ต่ำกว่าสามพันคน โดยบางส่วนปฏิบัติงานในสายงานด้านมนุษยธรรมและสายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

การแข่งขันว่าความศาลจำลองที่ประเทศมาเลเซียในปี 2007

นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การแข่งขัน IHL ยังเป็นการปลูกฝังคุณลักษณะที่ก่อให้เกิดความเคารพในหลักการและคุณค่าทางด้านมนุษยธรรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจนสามารถเผยแพร่หลักการและคุณค่าดังกล่าวได้ คุณลักษณะเหล่านี้จึงสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างบุคลากรที่ต่อไปในอนาคตจะแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพราะเท่ากับว่าเป็นการนำ IHL ไปใช้ในสถานการณ์จริงและทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้าง  ประเทศจอร์เจียเป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าบุคลากรผู้เคยเข้าร่วมการแข่งขัน IHL ในระดับประเทศได้เข้าไปมีบทบาทในการวางนโยบายสำหรับสถานการณ์สงครามและนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

 

การแข่งขันว่าความศาลจำลองในประเทศซิมบับเวในปี 2012

การแข่งขัน IHL ในประเทศจอร์เจีย

ในประเทศจอร์เจีย ได้มีการจัดการแข่งขัน IHL ระดับชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี.2006 โดยความร่วมมือระหว่างผู้แทน ICRC จากสำนักงานในเมือง Tbilisi กับชมรมนักศึกษากฎหมายยุโรป (European Law Students Association หรือ ELSA) กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในหมู่นักเรียนที่ศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศและวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนนักเรียนจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในการแข่งขันผู้เข้าร่วมต้องอภิปรายประเด็นกฎหมายมนุษยธรรม ภายใต้โจทย์สถานการณ์จำลองจากเหตุสงครามจริงที่เกิดขึ้นในประเทศจอร์เจียช่วงทศวรรษ 1990

ในปี 2008 นอกจากจะช่วยส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้าน IHL แล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเวทีให้ผู้เข้าร่วมแข่งกันตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในประเด็นกฎหมายและมนุษยธรรมที่เกี่ยวพันกับบริบทความขัดแย้งทั้งที่เกิดขึ้นในและต่างประเทศ

นอกจากนี้การแข่งขันยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ IHL ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในประเทศจอร์เจีย จวบจนทุกวันนี้ศิษย์เก่าผู้เข้าร่วมการแข่งขันจำนวนกว่า 270 คน ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ให้กับกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทระดับชาติในการนำ IHL ไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนสายงานทางด้านวิชาการ และมีตัวอย่างผลงานที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างหน่วยงานเพื่อการอนุวัติการตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Inter-Agency Commission for the Implementation of International Humanitarian Law) ที่รวมเอาผู้แทนจากหน่วยงานทุกฝ่ายที่มีบทบาทในการนำใช้ IHL ภายในประเทศ และการจัดทำฐานข้อมูล IHL ในภาษาจอร์เจียชื่อว่า  SHSplatforma โดยเก็บรวบรวมและเผยแพร่เอกสารสำคัญต่าง ๆ ของวิชากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศตลอดจนกฎหมายสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากการแข่งขันดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักเรียนทั่วประเทศ ปัจจุบัน ICRC จึงร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสภากาชาดของประเทศจอร์เจียในการจัดการแข่งขัน IHL ระดับชาติขึ้นทุกปี อีกทั้งการแข่งขันยังได้รับความช่วยเหลือจากศิษย์เก่าผู้เข้าร่วม อาทิ การจัดหลักสูตรอบรมเพื่อปูพื้นฐานความรู้ IHL สำหรับผู้เข้าร่วมแข่งขัน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการตลอดจนผู้ฝึกสอนทีมระหว่างการแข่งขัน ความร่วมมือที่ได้รับจากทั้งภาครัฐและศิษย์เก่าผู้เข้าร่วมการแข่งขันแสดงให้เห็นว่า การแข่งขันดังกล่าวได้รับการยอมรับจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการศึกษาวิชากฎหมายในประเทศจอร์เจียอย่างยั่งยืน

แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ Why educating students on humanitarian norms and values matters

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แบ่งปันบทความนี้