ทุกวันนี้ยังมีเด็กอีกมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (the Democratic Republic of the Congo (DRC)) ถูกบังคับให้เป็นทหารและต้องจับอาวุธมาเข่นฆ่ากันเอง ตามรายงานของ UNICEF มีเด็กอีกกว่า 3,000 คน โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ บ้างถูกฝึกให้เป็นทหาร บ้างถูกใช้แรงงาน และมีอีกบางส่วนที่ต้องทำหน้าที่ป็นนางบำเรอ ถูกข่มขืนและทารุณกรรม
เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นบาดแผลทางจิตใจที่ยากจะรักษา แม้ว่าเด็กๆ จะได้รับการช่วยเหลือ เยี่ยวยา และส่งกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวอันเป็นที่รัก แต่เรื่องราวเลวร้ายก็อาจทิ้งแผลใจให้พวกเขาเป็นเวลาหลายปี หรือตลอดไป ทุกวันนี้ทั้ง ICRC และหน่วยงานท้องถิ่นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาที่ว่า และพยายามอย่างหนักที่จะรักษาชีวิตที่แตกสลายให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างดีที่สุด
สู้เคียงข้างพ่อ
ในเดือนมิถุนายน 2016 ชีวิตของ Ushindi เปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อความขัดแย้งเดินทางมาถึงหมู่บ้านที่เขาอาศัย ในตอนนั้นผู้คนที่เขารู้จักล้วนได้รับผลกระทบจากความรุนแรง รวมไปถึงแม่แท้ๆ ของเขาที่ต้องเสียชีวิตไปในระหว่างการปะทะ
‘ผมเพิ่งอายุ 13’ เขากล่าว ‘พ่อของผมเป็นคนสำคัญในกลุ่ม เขาขอให้ผมเข้าร่วมการต่อสู้ หากผมไม่ทำตามก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตอนนั้นผมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเดินตามรอยเท้าพ่อก็เท่านั้น’
‘ในฐานะทหาร ผมต้องทำทุกอย่างเท่าที่คุณจะจินตนาการออก ผมจับปืนฆ่าคนโดยไม่ต้องคิด’ กลุ่มของเขาและพ่อเข้าร่วมการต่อสู้หลายครั้ง บ้างก็เป็นกลุ่มติดอาวุธอื่น บ้างก็เป็นคนจากฝ่ายรัฐบาล และแม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ตัวตนและชีวิตวัยเด็กของ Ushindi ก็ได้ตายจากเขาไปเสียแล้ว ‘พวกเราไม่ได้รับค่าจ้าง จึงต้องปล้นชิงเสบียงเพื่อเอาชีวิตรอด’
หนีหรือตาย?
หนึ่งปีผ่านไป พ่อของ Ushindi ถูกฆ่าระหว่างการสู้รบ เขาเห็นเพื่อนและคนรู้จักมากมายถูกสังหารลงต่อหน้า ‘พวกเราเข้าปะทะกับฝ่ายตรงข้ามในหุบเขา ผมเห็นเพื่อนถูกยิง และนั้นเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ผมคิดจะหนีไปให้ไกล แต่จะทำยังไงได้ ผมถูกขู่ว่าจะถูกยิงทันทีถ้าคิดหนี’
เมื่อผู้เป็นพ่อเสียชีวิต Ushindi ไม่เหลือใครเป็นที่พึ่ง เขาไม่มีที่ไปและไม่มีเพื่อน ความคิดหนึ่งที่เข้ามาคือเขาต้องการออกจากการต่อสู้นี้ไปให้ได้ ‘ในวันที่พ่อจากไป ผมถึงรู้ตัวว่าไม่เหลือใครแล้ว ผมเป็นคนสุดท้ายในครอบครัวที่ยังรอดชีวิต’
หลังจากนั้นไม่นาน Ushindi ก็แอบหนีออกจากกลุ่มในช่วงกลางดึก เขาเดินทางหลายไมล์โดยอาศัยหลบซ่อนตามชายป่าและพุ่มไม้ ‘เสียงปืนที่ไล่หลังมาทำให้พวกสัตว์หวาดกลัวไม่ต่างจากผม’
หลังจากเดินเท้าเป็นเวลาหลายชั่วโมง Ushindi ก็มาถึงหมู่บ้านในที่สุด องค์กรคุ้มครองเด็กพบตัวเขาและเริ่มให้การช่วยเหลือ Ushindi ได้เข้าร่วมโครงการเยี่ยวยาเพื่อให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง
กลับสู่ชีวิตปกติ แม้ในเวลาสั้นๆ
Ushindi เริ่มเข้าโครงการที่ศูนย์ฟื้นฟูใน Goma เมืองทางภาคตะวันออกของประเทศ ที่นั่น เขาได้เรียนรู้เพื่อปรับตัวกลับไปใช้ชีวิตปกติและป้องกันไม่ให้กลับเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธใดๆ ในอนาคต ‘นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก’ Stéphane เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กล่าว
หลังใช้เวลาปรับตัวในศูนย์ร่วม 3 เดือน เขาได้รับอาหารสองมื้อต่อวัน มีเสื้อผ้าสะอาดให้สวมใส่ ได้อาบน้ำและสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณะสุข Ushindi ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจาดผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อปรับสภาพจิตใจที่เคยบอบช้ำจากการสู้รบ เขาได้ลองทำงานฝีมือและเล่นกีฬาเหมือนเด็กคนอื่นๆ และเมื่อกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้น Ushindi ก็ได้กลับหมู่บ้าน เขาอาศัยกับญาติของครอบครัวและเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง
‘พวกเราเริ่มปลูกมันสำปะหลัง ผมมีอาหารและที่พักเหมือนคนทั่วไป เราไม่ต้องขโมยจากใครอีก’ Ushindi ทำงานในไร่ร่วมกับญาติ ในตอนนั้น คำว่า ‘โจมตี’ หรือ ‘ปล้น’ แลดูเลือนลางห่างไกลและแทบจะหายไปในอดีต
ราคาของอิสรภาพ
ในหมู่บ้านเล็กๆ ข่าวแพร่ไวเหมือนไฟไหม้ฟาง เมื่อการกลับมาของ Ushindi เริ่มเป็นที่พูดถึง กลุ่มติดอาวุธเดิมของเขา ก็เริ่มตามหาตัว Ushindi เพื่อหวังเอาตัวกลับไปเข้ากองกำลัง ‘ผมบอกเขาว่า ผมไม่ต้องการต่อสู้อีกต่อไปแล้ว พวกเขาโกรธมากและเริ่มใช้กำลัง เขาลากตัวผมออกไปและขังผมไว้’ Ushindi ยังมีแผลเป็นจากการถูกทำร้ายร่างกายในตอนนั้น ‘ผมกลัวจะถูกฆ่า’ เมื่อมีความกลัวอยู่เต็มหัวใจ ไม่นาน Ushindi ก็หาทางหนีออกจากค่ายได้อีกครั้ง แต่ไม่ได้มาคนเดียว คราวนี้เขาพานักโทษและนักสู้บางส่วนออกมาด้วย ‘แต่พวกเขาเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ผมรู้สึกไม่ไว้ใจเลยแยกตัวออกมา หลังหลบหนีผมเดินทางทั้งคืนเพื่อไปให้ถึงศูนย์ให้ความช่วยเหลือที่อยู่ใกล้ที่สุด นั่นเป็นสถานที่ปลอดภัยแห่งเดียวเท่าที่ผมจะนึกออก’
ตอนนี้ Ushindi อายุ 15 ปี
ความท้าทายใหม่ในการกลับคืนสู่สังคม
การหวนคืนสู่ชีวิตปกติกลายเป็นความเจ็บปวดของเด็กจำนวนมากที่เคยเข้าร่วมสงครามด้วยความไม่เต็มใจ เด็กๆ ที่เคยผ่านความทรงจำอันเลวร้ายมักมีแผลในใจที่รักษาไม่หาย ‘เด็กส่วนใหญ่มักมาหาเราในสภาพบอบช้ำอย่างรุนแรง’ Stéphane กล่าว ‘นอกจากนี้พวกเขายังต้องประสบปัญหาด้านความสัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชนหลังกลับไปใช้ชีวิตปกติ’
‘เด็กหลายคนไม่ได้รับการต้อนรับจากครอบครัวเพราะเคยมีส่วนร่วมในความเสียหายต่างๆ หรืออาจเพราะเหตุผลง่ายๆ ว่าพวกเขายากจนเกินกว่าจะรับเด็กเหล่านั้นกลับไปดูแล’ Chahrazed Anane หัวหน้าโครงการครอบครัวสัมพันธ์ (Restoring Family Links) ของ ICRC ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกล่าว
‘ICRC ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้นำชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกันพัฒนาแนวคิดและวิธีการปกป้องเด็กในหมู่บ้านไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มติดอาวุธ’
ในปี 2017 ทีมของ Chahrazed Anane ให้ความช่วยเหลือเด็กจำนวน 176 คน จากพื้นที่ทางภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศ เด็กเหล่านี้เคยมีความเกี่ยวข้องกลับกลุ่มติดอาวุธมาก่อน ในจำนวนนี้มีเด็ก 90 คนถูกส่งตัวกลับบ้าน งานต่อไปของพวกเขา คือการทำให้แน่ใจว่าเด็กๆ ที่เหลือสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ICRC ยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหมู่บ้านเพื่อสร้างความตระหนักในหมู่ผู้นำชุมชนเกี่ยวกับความท้าทายที่เด็กเหล่านี้ต้องเผชิญเมื่อพวกเขากลับมาจากการเป็นทหาร
การสร้างความเข้าใจกับกลุ่มติดอาวุธ
‘ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (the Democratic Republic of the Congo (DRC)) พวกเราสร้างความเข้าใจกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ว่าการนำเด็กมาเป็นทหาร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและขัดต่อหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เรายังเล่าให้ฟังถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ’ Katherine Weir หัวหน้าโครงการปกป้องพลเรือน (civilian protection) ของ ICRC ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กล่าวทิ้งท้าย
จนถึงตอนนี้ หนุ่มน้อย Ushindi ก็ยังไม่อาจกลับบ้านอย่างปลอดภัย เพราะหมู่บ้านที่ครอบครัวของเขาอาศัย ยังตกอยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธเก่าของพ่อ น่าเป็นห่วงว่าถ้า Ushindi ถูกพบตัวอีกครั้ง เขาอาจถูกบังคับให้เข้าร่วม หรืออาจเจออันตรายถึงชีวิต การอาศัยอยู่ในศูนย์ฟื้นฟู คงเป็นความปลอดภัยเพียงหนึ่งเดียวที่เขาจะหาได้ในช่วงเวลานี้
แปลจากบทความต้นฉบับ Ushindi, a former child soldier, on the road to resilience