หมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลบีนัส: 7 สัปดาห์กับภารกิจคืนชื่อให้ผู้วายชนม์

บทความ / เรื่องเล่าจากภาคสนาม

หมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลบีนัส: 7 สัปดาห์กับภารกิจคืนชื่อให้ผู้วายชนม์

ในปี 1982 สงครามระหว่างอาร์เจนตินาและสหราชอาณาจักรสร้างบาดแผลให้หลายครอบครัว สงครามเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 1982 อาร์เจนตินาส่งทหารเข้ายึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์-อาณานิคมของอังกฤษในขณะนั้น ฝ่ายอาร์เจนตินาอ้างว่าหมู่เกาะฟอล์กแลนด์แท้จริงแล้วคือหมู่เกาะมัลบีนัสของตนที่ถูกอังกฤษยึดครองมากว่าศตวรรษ

สงครามที่ว่าสิ้นสุดลงในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1982 โดยอาร์เจนตินาเป็นฝ่ายแพ้สงคราม สงครามครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารไปทั้งสิ้น 900 นาย และพลเรือนอีก 3 คน ในจำนวนนี้ มีทหารอาร์เจนตินา 122 นาย ถูกฝังอยู่ในสุสานดาร์วิน (Darwin cemetery) บนใจกลางหมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลบีนัสโดยไม่ทราบชื่อ

ในปี 2017 ทีมนิติวิทยาศาสตร์ของ ICRC ได้เข้าตรวจสอบและสามารถระบุอัตลักษณ์ศพทหารได้ถึง 90 นาย  ในเดือนมีนาคม ปี 2018 มีญาติและเพื่อนของผู้เสียชีวิตกว่า 200 ท่าน เดินทางมายังสุสานดังกล่าวเพื่อระลึกถึงผู้เป็นที่รัก

ในปี 1983 หลังสงครามสงบ ทหารอังกฤษยิงสลุตเพื่อเป็นเกียรติให้ทหารฝ่ายตรงข้ามที่เสียชีวิตและถูกฝังอยู่ในสุสานดาร์วิน (Darwin cemetery) ย้อนกลับไปหนึ่งปีก่อนหน้า ศพของทหารอาร์เจนตินาราว 200 นาย ถูกนำมาฝังไว้ง่ายๆ ไม่ไกลจากสนามรบ การฝังศพครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ ถูกจัดขึ้นภายใต้การคำสั่งของ Geoffrey Cardozo นายพลฝ่ายอังกฤษ

หลวงพ่อ John Wisdom ทำพิธีสวดทางศาสนา ก่อนทีมนิติวิทยาศาสตร์ของ ICRC จะเริ่มขุดศพผู้เสียชีวิตขึ้นมาตรวจสอบ ปฎิบัติการในครั้งนี้นำทีมโดยผู้เชี่ยวชาญ 14 ท่าน จาก อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ชิลี เม็กซิโก สเปน และ สหราชอาณาจักร

หลังนำป้ายสุสานออกอย่างระมัดระวัง ทีมของเราใช้เครื่องจักรสำหรับขุด ค่อยๆ ตักหน้าดินที่ฝังทับโลงศพออกไป จากนั้นจึงใช้เกียงและพลั่วเพื่อจัดการกับเศษดินที่ยังเหลืออย่างปราณีต เพราะถูกฝังอยู่ในดินชื้นนานถึง 35 ปีผ่านไป โลงศพไม้เหล่านี้จึงอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก

Luis Fondebrider (กลาง) คือประธานทีมมานุษยวิทยานิติเวชของอาร์เจนตินา ในปี 1997 เขาเคยนำทีมนักนิติวิทยาศาสตร์ เก็บกู้ร่างของ เช เกบารา (Che Guevara) นักปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนตินาที่ถูกฝังไว้ในประเทศโบลิเวีย และในปัจจุบัน Luis เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานร่วมกับ ICRC

หลังเก็บกู้ร่างของผู้ตายขึ้นมา งานของทีมนิติวิทยาศาสตร์จะดำเนินต่อไปบนเตียงชันสูตรศพ ร่างกายของทหารผู้วายชนม์จะถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดและจัดเรียงข้อมูลตาม เพศ อายุ สถานภาพ และประวัติทันตกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชได้รวบรวมตัวอย่าง (ฟันและกระดูก) เพื่อนำไปทดสอบดีเอ็นเอ (DNA) ในห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์ในภายหลัง

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์พบบัตรประจำตัวทหารบนศพแรก พวกเขามองว่าเป็นเรื่องดี เพราะการทดสอบดีเอ็นเอที่ได้ในภายหลัง อาจช่วบยืนยันตัวตนของผู้ตายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในห้องนิติวิทยาศาสตร์ร่างกายทั้งหมดจะถูกเอกซเรย์ จากนั้นนักรังสีวิทยาทางนิติวิทยาศาสตร์จะทำงานร่วมกับนักพยาธิวิทยา นักมานุษยวิทยาและทันตแพทย์ เพื่อตรวจหาเบาะแสจากร่องรอยการแตกของกระดูก หรือประวัติทันตกรรม ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปบรรจุในไฟล์ข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งทีมงาน ICRC จะนำส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ หรือครอบครัวของผู้ตายเพื่อใช้ประกอบการระบุตัวตน

ระหว่างการขุดค้นมีวัตถุอีกมากที่ถูกพบร่วมกับศพ แต่ใช่ว่าสิ่งของทุกชิ้นจะมีประโยชน์ในการตรวจหาอัตลักษณ์ ยกตัวอย่างบนศพหนึ่ง ทีมของเราพบ: ไม้ขีดไฟ, แบตเตอรี, ธนบัตรอาร์เจนติน่า, สายประคำพลาสติก สิ่งเหล่านี้แม้บอกเล่าเรื่องราวของผู้ตายได้บ้าง แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ชัดเจนเหมือนบัตรประจำตัวทหารที่ถูกพบบนศพก่อนหน้า

ผู้เชี่ยวชาญของเราต้องเขียนรายงานทางนิติวิทยาศาสตร์และป้อนข้อมูลทั้งหมดที่เก็บรวบรวมได้ลงในระบบภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากชันสูตร – ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย “แต่” Morris Tidball-Binz (ขวา) กล่าวว่า “มันคุ้มค่ากับความพยายาม ทุกคนมีสิทธิได้รับการระบุตัวตนเมื่อเสียชีวิตรวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตในสนามรบ”

นักวิเคราะห์ด้านพยาธิวิทยาเวชศาสตร์ Mercedes Salado Puerto เพิ่งเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอลงในถุงพลาสติกซึ่งมีลายเซ็นของเธอและ Morris Tidball-Binz (หัวหน้าโครงการ) ประทับอยู่ ลายเซ็นของพวกเขาบนถุงที่ปิดสนิทนี้ทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่าถุงจะไม่ถูกเปิดออกก่อนเดินทางไปถึงห้องปฏิบัติการทางพันธุกรรมทางนิติเวชในอาร์เจนตินา, สเปน และสหราชอาณาจักร

หลังการชันสูตรเสร็จสิ้น ร่างของผู้วายชนม์จะถูกนำมาพักไว้ในโลงศพใหม่ ก่อนนำกลับไปฝังไว้ในตำแหน่งเดิม ร่างของพวกเขาได้รับการดูแลด้วยความเคารพและระมัดระวังตลอดการทำงาน

บนถนนสู่เมืองหลักของหมู่เกาะ ปฎิบัติการที่ท้าทายทั้งความสามารถและความอดทน ในสภาพอากาศที่เลวร้ายและหนาวเย็นตลอด 7 สัปดาห์จบลงได้ด้วยความร่วมใจของทุกฝ่าย แม้สุดท้ายจะสามารถระบุอัตลักษณ์ทหารได้เพียง 90 นาย แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมจากครอบครัวของผู้สูญหายหรือวิทยาการที่ก้าวหน้า อาจช่วยไขปัญหาและนำชื่อกลับสู่ผู้วายชนม์อีกมากที่ยังรอความช่วยเหลืออยู่ในหลุมศพไร้ชื่อบนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลบีนัส

แบ่งปันบทความนี้