วิศวกรรมกับมนุษยธรรมอาจฟังดูไม่เข้ากันเท่าไหร่ หลายคนอาจไม่รู้แต่ที่ #ICRC เรามีหน่วยงานด้านเทคนิคที่มีชื่อเรียกชวนฉงนว่า WATHAB … เจ้า #WATHAB คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง? มาฟังเรื่องเรื่องราวของพี่โจ – ธันวิชช์ มหัทธนาสิงห์ วิศวกรของ ICRC และการสร้างสรรค์สิ่งที่ (ไม่) มหัศจรรย์ทางวิศวกรรมแต่ทำให้คนมีความสุข WATHAB คืออะไร เกี่ยวกับอะไรบ้าง WATHAB ย่อมาจาก Water and Habitat เป็นเหมือนแผนกวิศวกรรมของ ICRC แผนกเรามีทั้ง สถาปนิก วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา หน้าที่คือ ให้การสนับสนุนทางเทคนิค กับแผนกต่างๆ เช่น ฝ่าย Protection อยากให้เข้าไปดูปัญหาด้านสุขาภิบาลในค่ายผู้ลี้ภัย เรามีหน้าที่เข้าไป วิเคราะห์ หาสาเหตุและแนวทางแก้ไข เช่นดูว่าควรจะหาแหล่งน้ำจากไหนเพิ่มเติม น้ำมีคุณภาพตามที่ต้องการหรือไม่ จะปรับปรุงคุณภาพน้ำอย่างไร จะติดตั้งถังเก็บน้ำที่ไหน ทั้งนี้รวมถึง การจัดการด้านพลังงาน ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การจัดการขยะ ห้องส้วม โดย WATHAB เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ คือ ตั้งแต่การประเมิน (Assessment) ศึกษาความเป็นไปได้ ออกแบบ ก่อสร้าง จนกระทั้งส่งมอบงานและประเมินผล ถ้าขนาดของโครงการไม่ใหญ่มาก WATHAB อาจดำเนินการเองในบางขั้นตอน แต่ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือโครงการที่เราไม่มีความเชี่ยวชาญพอ WATHAB จะทำสัญญาจ้างผู้ออกแบบและก่อสร้าง ส่วนเราทำหน้าที่ควบคุมและประสานงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ งานที่คุณดูแลอยู่ตอนนี้คืออะไร ผมเป็นวิศวกรโยธา มีพื้นฐานทางออกแบบและควบคุมโครงการก่อสร้าง เชี่ยวชาญงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่จริงเมื่อเข้ามาทำกับ ICRC ไม่ว่าจะมาจากสาขาไหนแผนก WATHAB จะอบรมปรับพื้นฐานให้ทำงานด้วยกันได้ WATHAB มี network ขนาดใหญ่ เราสามารถขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่กระจายกันทำงานอยู่ตามสำนักงานต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงสำนักงานใหญ่ ที่ เจนีวา สำหรับ สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ ภารกิจหลักคือ ให้ความช่วยเหลือกับเรือนจำและทัณฑสถาน ทั้งในระดับเรือนจำและระดับกรมฯ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ หน้าที่ของเราคือให้ความเห็นและข้อแนะนำ สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพต่างๆ เช่น อาคาร ระบบน้ำประปา ระบบน้ำเสีย การจัดการขยะ อย่างเวลาเข้าไปเยี่ยมเรือนจำ หน้าที่ของฝ่าย PROTECTION คือการไปดูสภาพความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ของ Health เป็นเรื่องสุขภาพ ส่วนของเราคือการประเมินสภาพโครงสร้างพื้นฐานของเรือนจำในแง่วิศวกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการปรับปรุงให้สาธารณูปโภคเหล่านั้นตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง ให้สาธารณูปโภคเหล่านั้นกลับมาใช้งานได้ดังเดิมกรณีที่เกิดความเสียหายหรือปรับปรุงเพื่อให้คุณภาพของการบริการดีขึ้น ผมเข้ามาร่วมงานกับ ICRC ในปี 2012 โดยรับผิดชอบในการ ปรับปรุงบางส่วนของเรือนจำ 4 แห่ง ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 สำหรับการให้ความช่วยเหลือต่อเรือนจำนั้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราพยายามส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ การฝึกอบรม การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ในชีวิตการเป็นวิศวกร งานที่นี่ต่างจากที่เคยทำมายังไง ในแง่วิศวกรรมอาจไม่ต่างกัน การทำงานกับเอกชนซึ่งงาน Engineering เป็น Core Business พนักงานส่วนใหญ่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรม การสื่อสารจึงค่อนข้างง่าย และ งานด้านเทคนิคมีรูปแบบค่อนข้างชัดเจน แม้ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมแต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบขนาดของโครงการหรือความซับซ้อนของงานวิศวกรรม ถือได้ว่าที่ ICRC มีขนาดของความซับซ้อนน้อยกว่า แต่กลับมีองค์ประกอบด้านอื่นๆ ให้เรียนรู้มากโดยเฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านเทคนิค ความท้าทายในทางเทคนิคแม้จะมีอยู่บ้าง เช่นทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน เราจึงไม่ได้เน้นไปที่ขั้นตอนการดำเนินการโครงการอย่างเดียว เราให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาภายหลังจากโครงการแล้วเสร็จ รวมถึงการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชน แม้ว่าเราไม่ได้แสวงหากำไรจากโครงการ แต่เราคำนึงถึงความคุ้มค่าของเงินลงทุนด้วย เพราะเป็นเงินที่ได้จากการบริจาค ภาระกิจที่ยูเครนมาได้ยังไง ICRC ส่งเสริมให้บุคลากรไปทำงานในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เพื่อเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ และสนับสนุนสำนักงานที่ขาดแคลนบุคลากรชั่วคราว ที่ยูเครนมีความต้องการวิศวกรโยธาเพื่อทำโครงการพอดี ผมก็เลยถูกส่งไปช่วยงานที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน

Nikishino Ambulatory

ที่ยูเครนมีอะไร ทำไมต้องไปช่วย ประมาณปี 2014 ได้เกิดความขัดแย้งและลุกลามขึ้นเป็นสงครามที่บริเวณภาคตะวันออกของประเทศยูเครน ที่มีชายแดนติดกับประเทศรัสเซีย การสู้รบเกิดขึ้นกระจัดกระจายไปทั่วภูมิภาคฝั่งตะวันออก บางส่วนของแคว้น โดเนตสค์ และ บางส่วนของแคว้น ลูกันส์ ได้ประกาศแยกตัวเป็นอิสระแต่เพียงฝ่ายเดียว ผลจากความขัดแย้งนี้นอกจากนี้ บ้านเรือนของประชาชน สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่าง ได้รับความเสียหายอย่างมาก ระบบธนาคาร การขนส่ง ถูกตัดขาด ผู้คนอพยพหนีภัยสงคราม ผมไปประจำที่สำนักงานย่อยเมืองโดเนตสค์ WATHAB กิจกรรมหลักๆ คือ 1.ความช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ในเขตแนวที่มีการสู้รบ เราให้ความช่วยเรื่องน้ำดื่ม พลาสติกกันกระจกแตก และสิ่งบรรเทาทุกข์อื่นๆ 2.โซนที่ค่อนข้างปลอดภัย เราเริ่ม Quick Fix program เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านเดิมของพวกเขาได้อย่างปลอดภัย เราจัดหาหน้าต่าง หลังคา ไม้ และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ 3. พื้นที่สงบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเริ่มเข้าไปดำเนินการ ซ่อมแซมอาคารสาธารณ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ผมรับผิดชอบ 3-4 โครงการ

ผนังที่ถูกเจาะทะลุด้วยกระสุน

เล่าเรื่องโครงการให้ฟังหน่อย โครงการแรกคืออาคารสำนักงานใหญ่สำหรับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ (Medical Legal Bureau) ประจำเขตโดเนตสค์ (Donetsk People’s Republic) อาคารเดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สามารถรองรับความต้องการการตรวจพิสูจน์ที่เพิ่มมากขึ้นได้ ผมทำงานร่วมกับ ฝ่าย FORENSIC และเจ้าหน้าที่ประจำ สำนักงาน โดยประเมินข้อดีและข้อเสีย เปรียบเทียบระหว่างการปรับปรุงอาคารสำนักงานเดิม หรือ ปรับปรุงสำนักงานใหม่ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ โดยได้จัดทำผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบทางวิศวกรรม และ ร่าง ToR [Term of References] สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป อีกงานหนึ่งคือการปรับปรุงอาคารให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ ผมเข้าไปประเมินสภาพอาคารของสถาบันสำหรับผู้ป่วยจิตเวชและโรงพยาบาลเด็ก ได้ดำเนินการวิเคราะห์ ประเมิน และให้คำแนะนำ ทางด้านวิศวกรรม พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น

medical legal Bureau (forensic institute)

อะไรที่น่าหนักใจที่สุด โดเนตสค์ มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาคาร บ้านเรือน ที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเป็นจำนวนมากทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งและทั้งที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุการใช้งาน แต่ก็มีข้อจำกัดอันเนื่องมาจากภาวะความขัดแย้ง เช่น ความล่าช้าจากการขนส่ง ภาครัฐขาดงบประมาณ ความช่วยเหลือจากภายนอกมีจำกัด ICRC ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และประชาชนเป็นจำนวนมาก เราต้องจัดลำดับความสำคัญ เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ทั้งหมด

อาคารที่เข้าไปประเมิน cost analysis

ผ่านการทำงานกับ ICRC ทั้งในไทยและต่างประเทศ ประสบการณ์เหล่านี้มีผลต่อใจเราอย่างไร ทำงานกับ ICRC ต้องสื่อสารกับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรม เป็นหลัก ซึ่งต้องพยายามอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ นอกจากนี้ การได้ทำงานกับผู้คนจากหลากหลายวิชาชีพ เราต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ต้องประนีประนอมแต่ยึดมั่นในหลักการกาชาด ความรู้วิศวกรรมที่ใช้อาจจะเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเราเน้นเรื่องความยั่งยืนและการพึ่งพาตัวเอง พยายามใช้วัสดุและแรงงานที่หาได้ในท้องถิ่น ต้องจัดลำดับความสำคัญและวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ศึกษาและเข้าใจวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ

สนามเด็กเล่นที่ถูกทิ้งร้างในเมือง Nikishino

ICRC มีพันธกิจสำคัญด้านกฎหมายมนุษยธรรม งานวิศวกรรมที่ทำอยู่ช่วยสนับสนุน mandate นี้อย่างไรบ้าง สำหรับงานในเรือนจำเรามีส่วนช่วยให้ผู้ต้องขังได้มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภคอย่างพอเพียง ทั้งในแง่ประมาณและคุณภาพ เราช่วยปรับปรุงสถานพยาบาล โรงครัว มุ้งลวดป้องกันยุง เราช่วยปรับปรุงระบบน้ำบาดาล ระบบท่อประปา ยกตัวอย่างเช่น จากการที่ ICRC ได้เข้าไปเยี่ยมเรือนจำเล็กๆ แห่งหนึ่ง เราพบว่าเรือนจำแห่งนี้มีปัญหาเรื่องน้ำประปาขุ่นและไม่พอใช้ WATHAB ได้ดำเนินการตรวจสอบท่อประปาหลัก และดำเนินการแก้ไขโดยเราให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุและอุปกรณ์ต่อทางเรือนจำ ด้วยงบประมาณไม่มากและเป็นการลงทุนครั้งเดียว ผู้ต้องขังมีน้ำใช้มากขึ้นกว่า 30% นอกจากนี้เรายังซ่อมแซมระบบกรองน้ำเดิมและติดตั้งระบบกรองน้ำเพิ่มเติม รวมทั้งอบรมเรื่องการใช้งานและบำรุงรักษา เมื่อผู้ต้องขังมีน้ำใช้อย่างเพียงพออัตราการเกิดโรคผิวหนังลดลง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้ต้องขังก็ลดลง มันไม่ได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมอะไรเลย แต่ความรู้เล็กๆ ที่เรามาช่วย ก็ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นเยอะแล้ว