การส่งเสริมความเข้าใจในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้ในการขัดกันด้วยอาวุธทางทะเล หรือ LOAC at sea ถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของคณะกรรมกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงานได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับกองทัพเรือประเทศต่างๆในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธในทะเลซึ่งในปี 2559 นี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2559 ที่เมืองท่าสุราบายาของอินโดนีเซีย
การประชุมนี้นอกจากจะเป็นเวทีส่งเสริมความเข้าใจเรื่องกฎหมายการขัดกันด้วยอาวุธในทะเลแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้นายทหารเรือได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยที่มาทางเรือ การบังคับใช้กฎหมายทางทะเล การปราบปรามโจรสลัด ฯลฯ ในส่วนของประเทศไทยได้ส่งนายทหารเรือระดับอาวุโสสองท่านเข้าร่วมได้แก่ นาวาโทวรพล วรวิมุต หัวหน้าแผนและโครงการ กองกิจการความมั่นคงภายใน กรมยุทธการทหารเรือ และ นาวาโทหญิงมธุศร เลิศพานิช หัวหน้าแผนกกฎหมายปฏิบัติการทางทหาร กองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ
ซึ่งตัวแทนจากกองทัพเรือไทยมองว่าการประชุมครั้งนี้ทำให้นายทหารเรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวกฎหมายในมุมมองของ ICRC และนักวิชาการ ซึ่งเป็นพลเรือนมากขึ้น และยังได้รับความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการปฎิบัติการทางเรือของกองทัพเรือไทยและยังถ่ายทอดให้กำลังพลได้มีความเข้าใจมากขึ้นได้อีกด้วย ดังที่นาวาโทมธุศร เลิศพานิช กล่าวว่า “เนื้อหาและหัวข้อในการประชุมมีประโยชน์อย่างมาก ไม่สามารถหาเรียนได้จากมหาวิทยาลัยทั่วไป ในส่วนของวิทยากรไม่ว่าจะเป็นวิทยากร ICRC หรือวิทยากรพิเศษ ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้และตอบคำถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจเนื้อหาและการปฎิบัติการได้อย่างชัดเจน”
สำหรับประเด็นที่นายทหารเรือจากประเทศที่เข้าร่วมให้ความสนใจเป็นพิเศษในปีนี้ก็คือ เรื่องของการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางทะเลที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ และความขัดแย้งทางทะเลในภูมิภาค การประชุมครั้งนี้มีการแบ่งกิจกรรมออกเป็นสองส่วนคือ การบรรยายจากวิทยากรและการแบ่งกลุ่มสัมมนา โดยจะมีการกำหนดโจทย์ให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มที่มาจากหลากหลายประเทศได้ร่วมกันวิเคราะห์หนทางในการปฏิบัติและแก้ปัญหา ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้รับทราบแนวทาง มุมมองและวิธีแก้ปัญหาของผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ
นาวาโทวรพล วรวิมุต กล่าวว่า “การประชุมนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการสร้างแนวคิดที่ถูกต้องให้กับนักปฏิบัติการทางทหารทุกนาย ทำให้พวกเขาได้ทราบว่าอะไรที่ถูกที่ควร ทำได้หรือทำไม่ได้ และควรทำอย่างไรเวลาเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ”
การประชุมในครั้งนี้มีนายทหารเรืออาวุโสจาก 37 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เข้าร่วมได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ กัมพูชา จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี(เกาหลีเหนือ) ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มัลดีฟส์ เมียนมาร์ นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สหพันธรัฐรัสเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย ติมอร์-เลสเต้ สหรัฐอเมริกา และ เวียดนาม โดยมีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากอินโดนีเซีย อังกฤษและออสเตรเลียรวมถึงผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการขัดกันด้วยอาวุธในทะเลและผู้แทนของไอซีอาร์ซีเข้าร่วม
“การประชุมนี้เป็นเวทีสำคัญที่ทำให้นายทหารเรือจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ที่สำคัญ ICRC ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศ สามารถจัดการประชุมได้โดยที่ไม่มีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ทำให้มีหลากหลายประเทศส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม” นาวาโทมธุศร เลิศพานิชกล่าวปิดท้าย
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธในทะเลเมื่อปี 2558 จัดขึ้นที่ประเทศไทยโดยกองทัพเรือไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับ ICRC.