ICRC ร่วมกับ UNHCR และกรมป่าไม้ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่าง จังหวัดสระแก้ว

บทความ / บล็อค

ICRC ร่วมกับ UNHCR และกรมป่าไม้ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่าง จังหวัดสระแก้ว

ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่าง จังหวัดสระแก้ว

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือไอซีอาร์ซีร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดห้องนิทรรศการ ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่าง ที่อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โดยวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างศูนย์ฯแห่งนี้ก็เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าสำหรับจังหวัดสระแก้ว ดังที่นายเบอาท ชไวเซอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ ไอซีอาร์ซีระบุว่า ตนเองเคยมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานย่อยอรัญประเทศ ปฏิบัติภารกิจเพื่อมนุษยธรรมที่ชายแดนแห่งนี้เมื่อสามสิบปีที่แล้ว และ เมื่อปี 2558 ได้กลับมาเยี่ยมสถานที่แห่งนี้และได้รับจากหัวหน้าโครงการทับทิมสยาม 08 เปรยว่า เคยทราบว่ามีชาวกัมพูชานับแสนคนอพยพมาอยู่ที่นี่ แต่กลับไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ และเท่าที่ทราบยังคงมีนักท่องเที่ยวรวมทั้งชาวกัมพูชาที่เคยอาศัยอยู่ในศูนย์กลับมาเยี่ยมสถานที่แห่งนี้ จึงเกิดความคิดที่จะจัดทำห้องนิทรรศการขึ้น

IMG_8877500

 

ห้องนิทรรศการแห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ท่านผู้ว่าฯได้กล่าวขอบคุณในความคิดริเริ่มของหน่วยงานผู้จัดทำ และ กล่าวแสดงความยินดีที่ชาวจังหวัดสระแก้วจะได้ร่วมกันเป็นเจ้าของห้องแสดงนิทรรศการนี้โดยกรมป่าไม้จะเป็นผู้รับมอบไปบริหารต่อไป

NCP_6760500และเพื่อให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้และท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสระแก้ว ไอซีอาร์ซี จึงได้จัดทำโครงการมัคคุเทศก์น้อย โดยในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2559 วิทยากรจากไอซีอาร์ซีได้ร่วมกับทีมงานครูป่าไม้และนายหงษ์พิจารณ์ บัวไข หัวหน้าโครงการทับทิมสยาม 08 จัดการอบรมให้แก่นักเรียนระดับมัธยมจากโรงเรียนซับม่วงวิทยา อำเภอตาพระยาจำนวน 10 คนและคณะครูจากโรงเรียนในจังหวัดสระแก้ว โดยการจัดฝึกมัคคุเทศก์น้อยครั้งนี้นอกจากจะเป็นโครงการปลูกฝังเยาวชนให้ใความรู้ในประวัติศาสตร์และเกิดสำนักแห่งความภาคภูมิใจในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองก็ยังเป็นการฝึกวิธีการสื่อสาร ฝึกหาประสบการณ์ในการต้อนรับและสนทนากับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

IMG_0179500

ย้อนอดีตเขาอีด่าง

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2522 ชาวกัมพูชานับแสนคนทยอยอพยพหนีภาวะการสู้รบและอดอยากในประเทศของตัวเองมาขอรับความช่วยเหลือที่ชายแดนไทย เพื่อรอรับแจกข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำ และความช่วยเหลือทางการแพทย์ ชาวกัมพูชาเหล่านี้บางส่วนก็สร้างที่พักพิงปักหลักอาศัยอยู่ตามชายแดน ถึงอย่างนั้นก็ยังได้รับผลกระทบที่มาจากการยิงต่อสู้กัน

ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชาเขาอีด่าง ตั้งอยู่ที่อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว (ในสมัยนั้น เป็น อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี )
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย เป็นผู้บริหารศูนย์ฯ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้จัดตั้งศูนย์ฯ ดูแลระบบโลจิสติคส์ โควต้าอาหาร ตลอดจนการส่งกลับหรือเดินทางไปประเทศที่สามของผู้อพยพในเวลาต่อมา มีหน่วยงานอาสาสมัครมากมายมาปฏิบัติงานที่นี่ อาทิ เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) จัดตั้งโรงพยาบาลศัลยกรรม เพื่อรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจากอาวุธสงคราม โดยมีทีมศัลยแพทย์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจากสภากาชาดหลายประเทศ นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังจัดการค้นหา-ติดตามเพื่อให้สมาชิกครอบครัวที่พลัดพรากกันในเวลาอพยพสามารถติดต่อสื่อสารหรือรวมญาติกันได้ องค์การ IRC (International Rescue Committee) จัดระบบการสอนพิเศษแก่กลุ่มเด็กพิการ ตาบอด หูหนวก และเป็นใบ้ ฯลฯ

IMG_0181500

ชีวิตในศูนย์ฯดำเนินไปเรื่อยๆ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ประสานและดำเนินกระบวนการต่างๆกับสถานฑูตประเทศที่สาม ที่รับชาวกัมพูชาไปอาศัยในประเทศของตน เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์

การตกลงสันติภาพ (Paris Peace Agreement) เกิดขึ้นที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ถือเป็นการสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของสงครามระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม (http://www.ohchr.org/…/Cambodia-20yearsonfromtheParisPeace.…) และนำไปสู่การกำหนดการเลือกตั้งในประเทศกัมพูชาในสองปีถัดมา ศูนย์ฯเขาอีด่างจึงไม่รับผู้อพยพเพิ่ม

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติทำการส่งกลับผู้อพยพกลุ่มสุดท้ายกลับประเทศกัมพูชา จึงได้ทำการปิดศูนย์ฯเขาอีด่างลงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2536 หน่วยงานอาสาสมัครต่างๆก็ปิดสำนักงานลงเช่นกัน

พื้นที่ศูนย์ฯเขาอีด่างถูกส่งคืนให้รัฐบาลไทย และต่อมาได้อยู่ในความดูแลและบริหารจัดการโดยกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน

IMG_8862500

 

 

เนื่องจาก มีนักท่องเที่ยวมากมาย ทั้งชาวกัมพูชาที่เคยอาศัยในศูนย์ฯแห่งนี้นานหลายปี และ อดีตเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เคยทำงานที่นี่ ยังคงแวะเวียนกลับมาเยี่ยมเยียนดูสถานที่ที่เคยอยู่อาศัยและทำงาน คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และ กรมป่าไม้ จึงตกลงร่วมกันจัดห้องแสดงนิทรรศการภารกิจมนุษยธรรมศูนย์ฯเขาอีด่างขึ้น เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และ สำนักงานใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หวังให้เป็นที่ศึกษาประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาวจังหวัดสระแก้ว

ติดต่อเข้าชม

บอร์ดนิทรรศการทั้งในและนอกอาคาร จัดแสดงเป็นสองภาษา คือ ภาษาไทยและอังกฤษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่าง เปิดให้เข้าชม โดยมีมัคคุเทศก์น้อยให้บริการนำชม ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ในช่วงเวลา 09.00 น. – 16.00 น.

ผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ นัดหมายล่วงหน้าในกรณีประสงค์เข้าชมศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่างเป็นหมู่คณะ ได้ที่ นายหงษ์พิจารณ์ บัวไข หัวหน้าโครงการทับทิมสยาม 08 เขาอีด่าง โทร. 081-3744804 และ 092-2705771 หรือที่ hongse57@gmail.com และสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่างได้ที่ https://www.facebook.com/khaoIDangLC/

 

 

 

แบ่งปันบทความนี้