การเดินทางของจดหมาย การรอคอย และความหวังของแม่

กลุ่มองค์กรกาชาด / บทความ / บล็อค

การเดินทางของจดหมาย การรอคอย และความหวังของแม่

นางอำคา เพ็ชรรัชธีกำลังอ่านจดหมายจากลูกชายที่ส่งจากเรือนจำจังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา มายังผู้เป็นแม่ผ่านการประสานงานของกาชาดไทย กาชาดกัมพูชาและไอซีอาร์ซี หลังจากขาดการติดต่อมานาน

อำคา เพ็ชรรัทธี กำลังห่อขนมเตรียมไว้เพื่อนำไปขายตลาด ขณะที่ทีมเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรีเดินทางนำจดหมายของสมประสงค์ บุตรชายซึ่งถูกกุมขังอยู่ที่เรือนจำในประเทศกัมพูชามาส่งให้ถึงครอบครัวที่ประเทศไทย

“ลูกไม่รู้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไหร่ เสียใจที่ทำให้แม่ต้องลำบาก  แต่ขอให้แม่รอ เพราะลูกชายคนนี้รู้ว่าแม่รักลูก” นี่คือข้อความหลักที่ลูกชายวัย 39 ปี ต้องการส่งไปถึงผู้เป็นแม่ วัย 66 ปีผ่านจดหมายติดตามสืบหาญาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ

แม้จดหมายจะมีความยาวเพียงแค่หนึ่งหน้ากระดาษ A4 แต่นางอำคาก็อ่านทุกประโยคในจดหมายอย่างตั้งใจหลังจากขาดการติดต่อกับลูกเป็นเวลานาน  เมื่อทราบว่าสมประสงค์กำลังรับโทษอยู่ที่เรือนจำจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา นางอำคาจึงตั้งใจเขียนจดหมายตอบกลับไปยังลูกชาย เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง และครอบครัว พร้อมกับสอนลูกชายให้อดทน พร้อมกับประพฤติตนให้เป็นคนดี เพื่อจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน และตั้งใจทำมาหากินเพื่อครอบครัวต่อไป

“ลูกเติบโตเป็นคนดีมีคุณค่า ชื่นใจกว่าสิ่งใดที่ให้แม่ แม่อายุมากแล้ว เรี่ยวแรงก็ถดถอยไปทุกวัน แต่เมื่อคิดถึงลูกก็ต้องทน เพื่อมีชีวิตอยู่ เพื่อจะได้เห็นหน้าลูก” นี่คือบางส่วนที่แม่วัย 66 ปี เขียนตอบกลับไปยังลูกชาย

ในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยไร้พรมแดน จดหมายติดตามสืบหาญาติยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่กลุ่มผู้ต้องขังยังสามารถใช้ติดต่อสื่อสารกับญาติพี่น้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นภารกิจที่ไอซีอาร์ซี และกลุ่มองค์กรกาชาดฯได้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันมากว่า 150 ปี ทั่วโลก

สภากาชาดไทยดำเนินกิจกรรมจดหมายติดตามสืบหาญาติมาอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาดำเนินกิจกรรมติดตามสืบหาญาติ  จำนวน 16  รายผ่านการประสานงานกับไอซีอาร์ซี สำหรับกรณี นางอำคาและลูกชายถือเป็นรายแรกที่เป็นการนำส่งจดหมายติดตามสืบหาญาติจากเรือนจำจากต่างประเทศ ผ่านการประสานงานกับสภากาชาดกัมพูชา ไอซีอาร์ซีกัมพูชา และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ

“การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยจดหมายกาชาด แสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทร และความสำคัญของสถาบันครอบครัว เป็นภารกิจที่กาชาดไทยมีความภาคภูมิใจ เพราะเราได้สร้างกุศล และถือเป็นการเยียวยาทางจิตใจที่มีคุณค่ากับทั้งสองฝ่ายให้ผ่านความยากลำบากไปได้ ”  คุณจิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะนายกเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรีกล่าว

 

นางสาวจิตรา พรหมชุติมา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรี มอบหมายให้คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรี นำจดหมายของนายสมประสงค์ คนไทย มอบให้แก่ นางอำคา เพ็ชร์รัทธี  พร้อมมอบเงินช่วยเหลือ และเครื่องอุปโภคบริโภค ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

นางสาวจิตรา พรหมชุติมา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรี มอบหมายให้คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรี นำจดหมายของนายสมประสงค์ คนไทย มอบให้แก่ นางอำคา เพ็ชร์รัทธี  พร้อมมอบเงินช่วยเหลือ และเครื่องอุปโภคบริโภค ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้นำจดหมายกาชาด จากสมประสงค์ไปให้ผู้เป็นแม่ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี ด้วยตนเอง นอกจากนี้ สภากาชาดไทยได้มอบเงินเป็นจำนวน 3,000 บาท ให้ไว้เป็นค่าใช้จ่าย เนื่องจากนางอำคามีฐานะยากจน ต้องอยู่เพียงลำพัง และมีรายได้จากการขายขนมเพียงเล็กน้อย  ผู้เป็นแม่เต็มไปด้วยความหวังว่า ลูกชายจะได้กลับมาดูแลครอบครัวหากได้รับการปล่อยตัว ล่าสุดหลังการจากติดต่อครั้งแรก นางอำคาเล่าให้ฟังว่าลูกชายของตนกำลังจะได้รับการพิจารณาปล่อยตัวในปีหน้า ทำให้ผู้เป็นแม่ดีใจเป็นอย่างยิ่ง

เงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นของสภากาชาดไทย ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม  และในทุกปีกาชาดไทยมีโครงการสร้างบ้านให้กับครอบครัวที่ยากจน เป็นจำนวนภายใต้งบประมาณไม่เกิน 120,000 บาท ซึ่งนางอำคาเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เข้ารับการพิจารณาต่อไป

คุณสุนิสา นิเวศน์รังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทยมีโครงการสนับสนุนจดหมายกาชาดให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยจะเริ่มขยายการทำงานไปยังพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าว เช่นจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม โดยนำกิจกรรมติดตามสืบหาญาติไปแนะนำในพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ควบคู่ไปกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่สภากาชาดไทยทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การออกหน่วยทันตกรรม  การออกหน่วยบริจาคโลหิต

นอกจากนี้สภากาชาดไทย มีแผนให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมติดตามสืบหาญาติ ให้กับหน่วยกาชาดจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมติดตามสืบหาญาติ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังในต่างประเทศดังเช่นกรณีนางอำคาและลูกชาย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภารกิจเพื่อมนุษยธรรมของกลุ่มองค์กรกาชาดฯต่อไป

แบ่งปันบทความนี้