คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) เรียกร้องให้บรรดารัฐ ผู้นำและประชากรโลก ร่วมมือกันป้องปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ มิฉะนั้นมนุษยชาติอาจต้องเผชิญมหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ที่เกินเยียวยาก็เป็นได้

เมื่อพิจารณาถึงอานุภาพที่ร้ายแรงของอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้คือการดำเนินการในเชิงป้องกันจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากอาวุธนิวเคลียร์ รัฐทั้งหลายต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้

  • รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในความครอบครองรวมถึงรัฐที่เป็นพันธมิตรต้องหาหนทางเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงที่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกนำมาใช้ พร้อมทั้งให้ประชาคมโลกร่วมเป็นผู้สอดส่องปฏิบัติการดังกล่าว
  • รัฐที่เป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ) Treaty on the Non-proliferation of Nuclear Weapons: NPT) ต้องใช้กระบวนการเจรจาตามสนธิสัญญาฯ เพื่อปูทางไปสู่การลดจำนวน หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยง และการปลดอาวุธนิวเคลียร์ แทนการพัฒนาและใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อข่มขู่อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

รัฐต้องใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตาม NPT สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty) และสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons) ตลอดจนสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการปลดอาวุธและการห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ แม้รัฐนั้นๆ จะยังมิได้เข้าเป็นภาคีก็ตาม พร้อมกับให้มีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสนธิสัญญาดังกล่าวโดยสมบูรณ์

“สงครามเย็นครั้งใหม่กำลังอุบัติขึ้น แต่ด้วยรูปแบบที่ต่างออกไป บรรดากลไกและหลักประกันต่าง ๆ ที่เคยยับยั้งมิให้สถานการณ์ในสงครามเย็นเมื่อครั้งก่อนปะทุขึ้น ดูเหมือนจะหายไปจากรูปแบบสงครามในยุคปัจจุบัน” นั่นคือคำเตือนของเลขาธิการสหประชาชาติต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์โลกในปัจจุบันจะพบว่า อาวุธนิวเคลียร์มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้น แต่ปัจจัยที่ห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์กลับมีน้อยลง รัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางทหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือแม้กระทั่งดัดแปลงอาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในบริบทที่หลากหลายมากขึ้น

ICRC ตระหนักถึงอุปสรรคด้านความมั่นคงที่รัฐต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อาทิ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและยังไม่สามารถบรรลุข้อยุติทางการเมือง การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ข่มขู่ แทนที่จะยึดมั่นในหลักของการไม่ใช้ (non-use) และกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ (elimination) ในบางครั้งอาวุธนิวเคลียร์และประโยชน์ด้านความมั่นคงจากการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ กลับสร้างความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียเอง ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นแต่อาวุธนิวเคลียร์ไม่มีทางที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการยุติและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ในช่วงหลังสงครามเย็นมีการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะป้องกันมิให้อาวุธนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้งาน ดังนั้น รัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ยังคงมีความรับผิดชอบในการช่วยลดสถานการณ์เสี่ยงที่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกนำมาใช้ ด้วยมาตรการดังต่อไปนี้

  • ให้คำมั่นที่หนักแน่นว่าจะไม่เป็นฝ่ายที่เริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์
  • ปลดอาวุธนิวเคลียร์ออกจากสถานะพร้อมยิง (hair-trigger status)
  • ต้องมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าหากจะมีการซ้อมรบทางทหารที่ต้องอาศัยการยิงขีปนาวุธหรือใช้ยานพาหนะที่เชื่อมโยงกับอาวุธนิวเคลียร์
  • จัดตั้งศูนย์เตือนภัยเพื่อชี้แจงต่อเหตุการณ์อันไม่ได้คาดหมายและบั่นทอนความมั่นคงในทันที
  • ระบุให้มีการลดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ในนโยบายความมั่นคง

ข้อเรียกร้องฉบับนี้เกิดจากประสบการณ์เมื่อ 73 ปีก่อน ในครั้งนั้น ICRC เป็นสักขีพยานถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ณ เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ นอกจากแรงระเบิดจะคร่าชีวิตประชาชนในทันทีแล้ว พิษจากกัมมันตภาพรังสียังทำให้ประชาชนนับไม่ถ้วนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องแม้เวลาจะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันแล้วก็ตาม นอกจากนี้ประชาคมระหว่างประเทศเองก็ไม่สามารถรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นถ้าหากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อนึ่งข้อเรียกร้องนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการสี่ปีที่ ICRC กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ และสภากาชาดใน 191 ประเทศได้ริเริ่มขึ้นเพื่อมุ่งป้องปรามมิให้อาวุธนิวเคลียร์ถูกใช้ และนำไปสู่การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปในที่สุด

“พวกเราทราบดีว่า ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนั้นเกินกว่าจะรับไหว อีกทั้งมหันตภัยร้ายนี้กำลังคืบคลานเข้าใกล้ความเป็นจริงยิ่งขึ้นทุกขณะ ถึงเวลาแล้วที่รัฐและผู้ที่มีอำนาจชี้นำรัฐเหล่านั้นต้องเอาจริงเอาจังในการที่จะทำให้ทำให้ยุคแห่งอาวุธนิวเคลียร์หมดไปในเร็ววัน” นายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธาน ICRC กล่าวต่อคณะทูตานุทูตก่อนการประชุมทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อปีค.ศ. 2015 ณ นครเจนีวา

แปลและเรียบเรีบยงจากบทความต้นฉบับ Nuclear Weapons: Averting a global catastrophe

ผู้แปล: สิทธิกร ตั้งศิริ, นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย