ไอซีอาร์ซีมาเริ่มงานครั้งแรก ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ในช่วงเหตุการณ์เขมรแตก ซึ่งในขณะนั้นสำนักงานของเราในภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ด้วยภาวะสงครามอันรุนแรงพนักงานไอซีอาร์ซีจำต้องอพยพเดินทางข้ามมาทางชายแดนไทย ก่อนที่จะเข้ามาตั้งสำนักงานถาวรในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2522 ณ ซอยร่วมฤดี และในปีถัดมา เมื่อ พ.ศ. 2523 เราก็ตั้งสำนักงานขึ้นอีกแห่งที่ สุขุมวิท ซอย 4 (ซอยนานา) โดยสำนักงานที่นานาในยุคนั้น ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสืบค้นตามหาญาติและผู้สูญหายจากภัยสงคราม ทั้งจาก ลาว เวียดนาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวกัมพูชาผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองในช่วงเขมรแดง ก่อนที่สำนักงานร่วมฤดีจะยุบรวมเข้ากับสำนักงานนานา และจัดตั้งเป็นสำนักงานใหญ่ถาวรประจำกรุงเทพฯ ในยุคนั้น ไอซีอาร์ซีก็ยังมี สำนักงานย่อยที่ อ.อรัญประเทศ รวมทั้ง ศูนย์พักพิงที่ อ.สระแก้ว (ขณะนั้นเป็นจังหวัดปราจีนบุรี) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวกัมพูชา และผู้ประสบภัยสงครามตามแนวตะเข็บชายแดน
หลังจากยุคสงครามเวียดนาม และสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ไอซีอาร์ซีก็เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่าน สำนักงานย่อย ณ อรัญประเทศก็ปิดตัวลง ในปี พ.ศ. 2536 ตั้งแต่นั้นมาสำนักงานประจำกรุงเทพฯก็ก้าวย่างจากสำนักงานเชิงปฏิบัติการมาสู่ สำนักงานภูมิภาคซึ่งทำงานให้การสนับสนุน ครอบคลุมดูแล ประเทศไทย ลาว เวียดนาม รวมทั้งกัมพูชา หลังจากที่สำนักงานประจำพนมเปญลดบทบาทลงในปี พ.ศ. 2543 โดยหลงเหลือแต่เพียงศูนย์ออโธปิดิกประจำพระตะบอง (บัตตัมบัง) จนกระทั่งเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่ กิจกรรมของไอซีอาร์ซีขยายตัวขึ้นในภูมิภาคนี้ นำไปสู่การเปิดสำนักงานย่อยที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2548 การเปิดสำนักงานอีกครั้งที่พนมเปญในปี พ.ศ. 2551 การเปิดสำนักงานใหม่ในเวียงจันทน์ พ.ศ. 2555 โดยในภาคใต้นั้นทางไอซีอาร์ซีก็ได้มีคณะทีมทำงานเพื่อกิจกรรมด้านมนุษยธรรมเช่นกัน
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือไอซีอาร์ซี ได้ย้ายออกจากสำนักงานเก่าซึ่งตั้งอยู่ในซอยนานา
มายังอาคารทันสมัยในย่านอโศกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557