“ศิลปะ” กับ “มนุษยธรรม” สองคำนี้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันได้อย่างไร? พามารู้จักแรงบันดาลใจจากสามศิลปินผู้สร้างงานศิลปะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของการช่วยชีวิต
Juli baker and summer กับงานมนุษยธรรมที่เป็นสีรุ้ง
“คำว่ามนุษยธรรมเป็นโจทย์ที่นามธรรมมาก ต้องไปตีความทำความเข้าใจกับ 3 องค์กรอยู่ประมาณนึง ป่านตีความออกมาเป็นภาพด้านหลังซึ่งนำเสนอออกมาเป็นคนไม่ใส่อะไรเลย เพราะน่าจะแสดงถึงความเป็นมนุษย์มากที่สุด ที่เห็นอย่างแรกในภาพคือผู้หญิงถือดอกทานตะวัน ดอกไม้เป็นสิ่งที่ป่านชอบวาดอยู่แล้ว และมันเป็นตัวแทนความรู้สึกเชิงบวก พอดีป่านไปเจอว่าดอกทานตะวันเป็นตัวแทนของการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นหนึ่งในงานของ ICRC ที่ด้านหลังมีภาพของกลุ่มคนหลายๆ สี หมายถึงผู้คนที่หลากหลาย พวกเขาจับมือกันเพื่อเปลี่ยนฝนให้เป็นดอกไม้ หมายถึงองค์กรมนุษยธรรมช่วยให้ภัยพิบัติผ่อนคลายกลายเป็นเรื่องดีขึ้น
“ป่านอยากให้โดยรวมแล้วภาพนี้พอคนเห็นแล้วรู้สึกดีก่อน จากนั้นพอมองไปตามองค์ประกอบภาพต่างๆ ก็จะเจอความหมายที่ซ่อนอยู่ เช่นทางขวาสุดด้านล่างเป็นภาพคนที่ได้กลับมาเจอกันแล้วกอดกัน ทางซ้ายบนเป็นภาพคนกำลังช่วยอีกคนออกจากดอกทานตะวัน โดยบุคคลในภาพเราไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ชนชาติไหน หรือเพศใด ส่วนรอบนอกป่านเลือกเอารูปโลกมาประกอบ เพราะโลกแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลก
“โจทย์นี้จะบอกว่ายากก็ยากแต่คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของศิลปะอยู่แล้วที่จะต้องถ่ายทอดทุกเรื่องไม่ว่าจะง่ายหรือยากออกมา เพราะเรื่องของมนุษย์มันก็คือเรื่องของเรา ป่านเลือกถ่ายทอดคอนเสปต์ผ่านสิ่งของที่เราชอบและคุ้นเคย เราชอบวาดดอกไม้ ชอบวาดผู้หญิง ชอบวาดคนในรูปแบบนี้ เราก็เอาโจทย์มาตีความผ่านมุมมองในฐานะศิลปินเพื่อวาดรูปนี้ออกมา สำหรับป่านงานมนุษยธรรมถ้าให้นิยามเป็นสี ก็คงเป็นสีรุ้งเพราะเป็นตัวแทนของผู้คนหลากหลายที่แตกต่าง แต่พอมารวมอยู่ด้วยกันแล้วให้ภาพที่สวยงามมากกว่า
“ปกติป่านไม่ค่อยได้ทำงานกับองค์กรอะไรแบบนี้เท่าไหร่ ถ้าไม่ใช่งาน exhibition ของตัวเอง ก็ทำงานให้แบรนด์ขายของ พอมาทำงานศิลปะในโจทย์นี้และได้มองในมุมมองอีกแบบหนึ่ง นอกจากมันจะสนุก เรายังได้รู้สึกว่างานศิลปะของเรามีฟังก์ชั่นหลากหลาย สามารถเล่าเรื่องที่ใหญ่ขึ้นได้
“อยากจะชวนศิลปินไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ให้มาลองสมัครวาดภาพในโจทย์นี้ เราสามารถศึกษาการทำงานจาก 3 องค์กร เลือกได้ว่าเราอยากจะวาดจากมุมมองไหน ป่านว่าการที่เราได้ทำงานศิลปะผ่านมุมมองของ 3 องค์กร เป็นเรื่องสนุกและท้าทาย และอาจไม่มีโอกาสได้ลองทำมาก่อน อยากให้มาสมัครกัน”
มนุษยธรรมผ่านดวงตาบนผืนผ้าของนริศรา เพียรวิมังสา
“ความหมายของดวงตาคือการมองซึ่งสามารถตีความได้หลายบริบท ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับ ICRC ดวงตาเหล่านี้หมายถึงการมองปัญหาและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาวะปัจจุบัน ตัวผลงานจึงมีนัยยะของการเฝ้ามอง เฝ้าระวัง เเละความพร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่แบ่งแยก
“เราต้องการเชื่อมโยงตัวผลงานเข้ากับบทบาทหน้าที่ของ ICRC ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามทั่วโลก โดยใช้ดวงตาเป็นสัญลักษณ์ แต่เป็นรูปทรงของดวงตาที่ถูกลดทอนความเหมือนจริงลงให้มีลักษณะแบนแบบสองมิติ ใช้สีของดวงตาแทนลักษณะทางกายภาพของชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันและจัดวางองค์ประกอบซ้ำกันไปมาเหมือนลายผ้า
“เราเลือกสื่อสารแนวคิดของเราผ่านการปัก เพราะการปักผ้าเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อทำเป็นเครื่องนุ่งห่มอันเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต งานเย็บปักถักร้อยเป็นเรื่องของความงาม การทุ่มเท การใช้เวลาที่ค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันการปักผ้าก็เป็นการซ่อมแซมสิ่งที่ขาดชำรุดให้นำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีก ICRC คือองค์กรของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางสงคราม เปรียบเสมือนการรักษาเยียวยาผู้คนที่ประสบปัญหาจากสงครามให้กลับคืนสู่สังคมปกติอีกครั้ง การนำเศษผ้าต่างๆ มาปะต่อกันเป็นผืนเดียวคือการรวมความหลากหลายเข้าด้วยกันโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสีผิว
“คิดว่าโจทย์ ‘มนุษยธรรม’ ไม่ได้ยากแต่มองเป็นความท้าทาย เพราะงานศิลปะไม่ใช่ภาพประกอบจึงไม่ได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องเหมือนการเขียนหนังสือ และความท้าทายในที่นี้คือการเลือกว่าควรใช้เทคนิคและสัญลักษณ์ใดที่จะสามารถดึงความสนใจของผู้ชมได้ ในขณะเดียวกันก็สอดคล้องและสามารถเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงบทบาทหน้าที่ของ ICRC
“เพราะหน้าที่ของงานศิลปะคือการดึงความสนใจให้ผู้ชมโฟกัสที่เรื่องราวที่ศิลปินต้องการนำเสนอ เป็นการจุดประกายให้ผู้ชมค้นหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนหรือสิ่งที่พบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันขึ้น ทั้งนี้อยู่กับประสบการณ์และความสนใจของผู้ชมแต่ละคนด้วย”
มนุษยธรรมผ่านจิตรกรรมกับความเป็นจริงเสมือนของอภิสิทธิ์ สิทสันเทีย
“ ‘มนุษยธรรม’ เป็นโจทย์ที่ท้าทายผมเหมือนกันเพราะเรามักคุ้นกับคำใหญ่ๆ อย่าง ‘ความเท่าเทียม’ ‘เสรีภาพ’ ‘สันติภาพ’ มากกว่า สิ่งแรกที่ผมทำคือพยายามเข้าใจคีย์เวิร์ดที่เป็นโจทย์ของงานและพยายามหาข้อมูลต่อว่าการช่วยเหลือผู้คนโดยใช้แนวคิดมนุษยธรรมมันเป็นอย่างไร ซึ่งผมพบว่ามันคือการช่วยเหลือผู้คนอย่างเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง
“ผมสนใจเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) ซึ่ง ICRC ใช้เพื่อทำสื่อการสอนสำหรับผู้ที่ต้องปฎิบัติงานในพื้นที่ เช่นว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอย่างไร มันมีความสอดคล้องกับงานของผม เพราะมันเป็นการสร้างภาพเสมือนคล้ายๆ การทำงานของภาพวาด มันตั้งคำถามที่น่าสนใจ ‘ในโลกที่การสร้างความเป็นจริงเสมือนไปไกลขนาดนั้น สื่อโบราณอย่างงานจิตรกรรมสามารถเข้าไปทำหน้าที่เพื่อถ่ายทอดประเด็นมนุษยธรรมได้อย่างไร’
“ผมได้แรงบันดาลใจอีกอย่าง จากการอ่านกิจกรรมของ ICRC เกี่ยวกับการพาครอบครัวที่พลัดพรากจากกันในยุคเขมรแดงเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ให้ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ความน่าสนใจคือทั้งสองบ้านไม่ได้อยู่ห่างกันเลย แต่ที่พวกเขาไม่เจอกันสักที เป็นเพราะทั้งสองครอบครัวอยู่ในพื้นที่รอยต่อที่ถูกแบ่งว่านี่คือฝั่งไทย นั่นคือฝั่งเขมร ผมนำประเด็นนี้มาเล่าผ่านการทำหน้าที่ของงานจิตกรรมยุคก่อน คือการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วน ได้แก่ ส่วนหน้าสุดของภาพ ส่วนกลางภาพ และส่วนหลังของภาพ แยกท้องฟ้ากับพื้นดินออกจากกัน และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในสามส่วนของภาพโดยใช้การปะติดปะต่อภาพต่างๆ ภาพเหล่านี้มองเผินๆ อาจดูสมจริง แต่ถ้าดูจริงๆ แต่ละส่วนแยกจากกันเพราะเป็นผลจากการนำภาพถ่ายจากหลายที่มาประกอบ ดังนั้นมันจึงมีความไม่สมเหตุสมผลบางอย่าง เช่นแสงเงาและสีของบรรยากาศในแต่ละส่วนของภาพ ซึ่งผมต้องการจะบอกว่าสิ่งที่เกิดในภาพนี้เกิดขึ้นในต่างที่และต่างเวลา
“ที่ด้านหลังของภาพ เราเห็นบ้านกำลังถูกไฟไหม้ หมายถึงพื้นที่สีแดงหรือสถานที่ที่กำลังมีสถานการณ์ความไม่สงบ ถัดออกมาช่วงกลางภาพเราจะเห็นรั้วซึ่งเป็นตัวกั้นเหตุการณ์ โดยจะปรากฎภาพแคมป์ของ ICRC คร่อมอยู่ระหว่างกลางของรั้ว ผมเลือกวางตำแหน่งแคมป์ไว้ตรงกลางเพื่อแสดงการปฎิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางขององค์กร ด้านหน้าของภาพ เป็นส่วนที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุด เราจะเห็นชิ้นส่วนมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิต การที่ผมเลือกนำเสนอร่างมนุษย์เป็นชิ้นส่วน เพราะผมมองว่าชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้มีแก่นตายตัว ผมเลยสะดวกจะวาดชิ้นส่วนเหล่านี้ออกมาในลักษณะขาดๆ เกินๆ มีการปกปิดเพื่อเปิดเผยบางอย่าง ซึ่งเป็นผลมาจากชีวิตคนที่ถูกกระทำจากสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ
“บางส่วนของผลงานมีจดหมายและรองเท้าปริศนา สะท้อนถึงกิจกรรมของ ICRC รองเท้าที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งข้างหมายถึงผู้สูญหาย หรือผู้ถูกทำให้สูญหาย ส่วนจดหมาย หมายถึงสาร ที่ ICRC ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อสายสัมพันธ์ที่ขาดหายให้ได้กลับมาพบกัน ผมหวังว่างานของผมชิ้นนี้จะทำหน้าที่เช่นเดียวกับจดหมายของ ICRC คือเป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร คุณูประการอย่างหนึ่งของงานศิลปะคือมันทำหน้าที่เป็นแค่ฉากหนึ่งของภาพยนต์ ไม่มีต้นทางไม่มีปลายทาง ไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน จึงเหลือพื้นที่ให้ผู้รับสารสามารถนำไปคิดต่อ
“ต่างจากภาพยนต์ที่มักโยนตอนจบของเรื่องมาให้ งานศิลปะไม่ตัดสินว่าอะไรผิดหรือถูก มันไม่ได้หยิบยื่นทางออก แต่นำเสนอคำถาม เมื่อเรายืนอยู่ต่อหน้าสถานการณ์ในภาพ เราจะลงไปทำอะไรได้บ้าง เราจะช่วยเขาตามหาญาติหรือไม่ เราอาจเป็นรายต่อไป หรือเราอาจเป็นผู้กระทำเสียเอง?
“ผมคิดว่าโจทย์ ‘มนุษยธรรม’ ยากอย่างหนึ่งคือเราต้องไม่ลงไปตัดสินว่าสิ่งไหนผิดถูก ผมนั่งทำงานอยู่ตรงนี้ อีกสองสามช่วงตึกอาจจะมีคนถูกลักพาตัวก็ได้ แปลว่าผมไม่มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์เลย ถ้าอย่างนั้น เราจะสามารถนำตัวเราเข้าไปใส่ในงานซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นตัวกลางได้อย่างไร? ผมอยากฝากคำถามนี้ให้ผู้อ่าน และอยากชวนทุกท่านที่สนใจ ส่งผลงานมาร่วมประกวด
“ ‘มนุษยธรรม’ เป็นหัวข้อน่าสนใจ เราแทบไม่เคยนึกถึงประเด็นนี้ในชีวิตประจำวัน และเมื่อเราได้เพ่งพิจรณามันให้ดี เราอาจเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ที่กำลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ในมุมใดมุมหนึ่งของโลก”
___________________________________________
กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงขอเชิญทุกท่านที่มีใจรักงานศิลป์ส่งภาพวาดประกวดในหัวข้อ “งานมนุษยธรรมคืออะไร” ผ่านรูปแบบแนวคิดและการดำเนินงานของ 3 องค์กร
- คณะกรรมการกาชาดระหว่าประเทศ (ICRC)
- สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC)
- กาชาดไทย (Thai Red Cross Society)
ผู้ชนะจากแต่ละหัวข้อจะได้รับเงินรางวัล 9,000 บาท 🥇 รองชนะเลิศจากแต่ละหัวข้อจะได้รับเงินรางวัล 6,000 บาท 🥈 และมีโอกาสได้จัดแสดงผลงานในงานนิทรรศการครั้งแรกของเราที่จะจัดขึ้นในปีนี้ที่กรุงเทพฯ
เปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
อ่านรายละเอียดและวิธีการสมัครเพิ่มเติมได้ที่นี่