แม้กฎหมายจะห้าม แต่เมื่อเกิดการสู้รบและการขัดกันทางอาวุธ เด็กหลายคนยังคงถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารและถูกใช้ให้ทำหน้าที่ต่างๆ โดยกลุ่มติดอาวุธที่บางกรณีถูกจัดว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นโยบายและแนวปฏิบัติที่นำมาใช้เพื่อจัดการกับความรุนแรงอันสุดโต่งของกลุ่มดังกล่าว จะต้องปฏิบัติต่อเด็กที่ผ่านการนำเข้าร่วมในการสู้รบในฐานะที่พวกเขาเป็นเหยื่อผู้เสียหายก่อนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรก โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธอย่างไร แล้วจึงค่อยดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็ก
ช่วงปีที่ผ่านมา ประเด็นว่าด้วยการเกณฑ์เด็กเป็นทหารและใช้ให้ทำงานโดยกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือแต่ละรัฐจัดว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” นั้น ได้เป็นประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณชนในวงกว้างให้ความสนใจมากขึ้น และที่สำคัญก็คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเองก็ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อการปฏิบัติต่อเด็กผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ รวมถึงผู้ที่กระทำการก่อการร้าย ตามที่ระบุไว้ในข้อมติ 2427 (2018) อีกทั้ง การที่ประเด็นดังกล่าวได้รับการพิจารณามากขึ้น ยังกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายรวมเอามาตรฐานการคุ้มครองเด็กกับมาตรฐานความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วทั้งระบบนิเวศของการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย ได้แก่ ข้อตกลงนอยชาเทล (Neuchâtel Memorandum) คู่มือจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) และคู่มือกับชุดหลักการสำคัญจากสำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายแห่งสหประชาชาติ
แม้จะดำเนินการควบคู่ไปกับการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิเด็ก แต่กฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่กำหนดออกมาเพื่อต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงนี้ก็ยังได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามประสบการณ์และบทเรียนจาก “กลุ่มที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย” ที่ใช้และเกณฑ์เด็กให้เป็นทหารด้วย
ผลลัพธ์จากกฎหมายและนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายดังกล่าวที่มีต่อตัวเด็ก ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดและเป็นประเด็นสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการถกเถียงกันว่าสิ่งใดกันแน่ที่จะสามารถจำแนกกลุ่มหนึ่งให้เป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการตกลงคำจำกัดความกันอย่างเป็นสากลนั่นเอง ซึ่งการระบุกำหนดว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” ดังที่เกิดขึ้นนนั้นไม่ได้มาจากกระบวนการวิเคราะห์ทางกฎหมายอย่างมีวัตถุประสงค์ แต่เป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยความเข้าใจต่างหาก
แต่ในระดับพื้นฐานกว่านั้นก็คือ การขยายขอบเขตกฎหมายและนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายให้ครอบคลุมเด็กๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่จัดว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” ได้ยกระดับประเด็นปัญหาการคุ้มครองในด้านต่างๆ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการคุมขังและการปฏิบัติต่อเด็กที่อยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โอกาสความเป็นไปได้ที่เด็กผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายจะถูกลงโทษประหารชีวิต การพลัดพรากเด็กจากสมาชิกครอบครัว หรืออายุความรับผิดชอบทางอาญา
การขยายขอบเขตดังกล่าวยังเสี่ยงที่จะทำให้กระบวนทัศน์เปลี่ยนแปลงจากการคุ้มครองสิทธิไปสู่การรักษาความมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดแรงกดดันต่อการพิทักษ์คุ้มครองเด็กเป็นพิเศษภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL) และแม้จะมีข้อยกเว้นไม่กี่อย่าง แต่ประเด็นนี้ก็ยังได้รับความสนใจอยู่ค่อนข้างน้อย
เหยื่อผู้เสียหายหรือผู้กระทำผิด
ปัจจุบันมีการยอมรับอัตลักษณ์ของเด็กที่อยู่ในบริบทของการสู้รบให้เป็นอัตลักษณ์แบบทวิอัตลักษณ์ ตัวอย่างเช่น หลักการปารีส ได้เน้นให้ความสำคัญว่า เด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธหรือกลุ่มติดอาวุธซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ “ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นเหยื่อผู้เสียหายจากการกระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลักสำคัญ ไม่ใช่เป็นแค่ผู้กระทำความผิดแต่เพียงอย่างเดียว”
หากมองจากมุมมองของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้วล่ะก็ การยอมรับอัตลักษณ์ของเด็กในลักษณะดังกล่าวถือว่ามีความถูกต้อง ซึ่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child) ห้ามเพียงมิให้มีการเกณฑ์และนำเด็กเข้าร่วมในการสู้รบ ซึ่งทำให้จะต้องมีการรับผิดชอบทางอาญาในระดับบุคคล ดังนั้น เด็กจึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษแทน ในฐานะผู้บริสุทธิ์และอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางสุ่มเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งหมายความว่า เด็กจะได้รับสิทธิพิเศษแต่ทว่าจำกัดความสามารถกระทำการนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา การเน้นให้ความสำคัญแบบจำกัดอยู่ที่ภาวะการตกเป็นเหยื่อผู้เสียหายของเด็กผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ ได้ถูกท้าทายว่าเป็นการเน้นให้ความสำคัญที่ง่ายดายเกินไป โดยมองว่าเป็นการเพิกเฉยต่อประเด็นความสามารถกระทำการของเด็ก รวมถึงการรับรู้บทบาทตัวเองของพวกเขาด้วย ซึ่งประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปก็คือ การห้ามมิให้มีการเกณฑ์และนำเด็กเข้าร่วมการสู้รบไม่ได้เป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อประเด็นความรับผิดชอบทางอาญาของเด็กผู้ที่อาจเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม แต่ทว่า ภายใต้ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม เด็กก็ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษอยู่ ซึ่งด้วยเหตุนี้ ทำให้รัฐจำเป็นต้องพิจารณามาตรฐานความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ทางเลือกในการดำเนินคดีกับเด็ก และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและการคืนสู่สภาพเดิม [1]
ในทางตรงกันข้าม ภายใต้กรอบการต่อต้านการก่อการร้ายที่มีอยู่นั้น เด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมการก่อการร้าย” หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่จัดว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” กลับถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามเสียซะส่วนใหญ่ และหากมองจากมุมมองด้านความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นมุมมองที่ให้ความสำคัญกับบทบาทที่เป็นไปได้ของเด็กเหล่านี้แล้วล่ะก็ พวกเขายังถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้กระทำความผิดอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในข้อมติ 2396 (2017) ว่าด้วยเหล่านักรบต่างชาติที่เดินทางกลับและสมาชิกในครอบครัวนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติระบุเน้นว่า รัฐสมาชิกมีหน้าที่นำตัวบุคคลที่เข้าร่วมกระทำการก่อการร้ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “รวมทั้งที่เกี่ยวข้องกับนักรบก่อการร้ายต่างชาติและคู่สมรสและเด็กที่ติดตามมากับนักรบก่อการร้ายต่างชาติที่เดินทางกลับและย้ายถิ่นที่อยู่” ถึงแม้ว่าจะให้การรับรองว่าผู้หญิงและเด็กจำเป็นต้องได้รับ “การให้ความสำคัญเป็นพิเศษเมื่อมีการกำหนดแผนการดำเนินคดีตามกฎหมาย การฟื้นฟู และการกลับคืนสู่สังคม โดยจะต้องปรับให้มีความเหมาะสม” เนื่องจากเหล่าผู้หญิงและเด็ก “อาจเคยได้รับมอบหมายบทบาทต่างๆ แตกต่างกันไปมาก่อน” ก็ตาม
แล้วในทางปฏิบัติล่ะ วิธีการดังกล่าวใช้ได้ผลอย่างไรกันหรือ ซึ่งในพื้นที่การสู้รบนั้น มีเด็กหลายพันคนจำต้องถูกคุมขังเพียงเพราะมีการสงสัยว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่จัดว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย ในขณะเดียวกันเอง ประเทศต้นกำเนิดของนักรบต่างชาติและลูกๆ ของพวกเขา บางประเทศก็ลังเลที่จะให้ส่งตัวกลับมายังประเทศตนเอง โดยเห็นได้จากการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในหลายรัฐในยุโรปตะวันตก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างกว้างขวางต่อไป [2]
จากบริบทนี้เอง ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2427 จึงได้ให้การยืนยันรับรองว่าด้วยกรอบการคุ้มครองสิทธิเด็ก ในส่วนของเด็กผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่จัดว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งถือว่าเป็นการยืนยันรับรองที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และจากประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่า เด็กคือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อซ้ำถึงสองครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อตอนพวกเขาถูกเกณฑ์ให้เป็นทหาร ถูกใช้งาน และถูกทำให้ต้องเผชิญกับความรุนแรงตั้งแต่อายุยังน้อย และอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่มคนซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น การแสดงให้เห็นถึงมนุษยธรรมและการช่วยเหลือเด็กที่ถูกบังคับให้จำต้องใช้ชีวิตในโลกแห่งความรุนแรง รวมถึงการดำเนินการหาแนวทางแก้ไขเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เด็กๆ กลุ่มนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในตอนนี้
คำอธิบายเพิ่มเติม
[1] นอกเหนือจากหลักการปารีส ผู้อ่านสามารถดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้จากพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 6 (3) และมติคณะมนตรีความมั่นคง ข้อ 2427 (2018)
[2] ตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง ‘Dutch state to appeal order to take back children of ISIL Mother’ โดยสำนักข่าวอัลจาซีร่า เผยแพร่เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562 บทความเรื่อง ‘German Court Rules on Repatriation of Syria ISIL Fighter’s Family’ โดยสำนักข่าวอัลจาซีร่า เผยแพร่เมื่อ 11 กรกฎาคม 2562 และบทความเรื่อง ‘Europe has resisted taking back citizens who joined ISIS. Now, it may not have a choice’ โดยสำนักข่าวเดอะ วอชิงตัน โพสต์ เผยแพร่เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2562 นอกจากนี้ ยังมีคำร้องขอให้พิจารณาคดีกับประเทศฝรั่งเศสอีก 2 คำร้องที่ยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งประชาชาติ ซึ่งทำให้มีการยกเรื่องการส่งตัวเด็กกลับประเทศขึ้นมาเป็นประเด็น ดูคำร้องขอให้พิจารณาคดีเลขที่ 77/2019 และ 79/2019 ในตารางคดีรอพิจารณาที่ยืนต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กฯ
ดูเพิ่มเติม
บทความเรื่อง Children and war: upcoming Review edition โดย เอลเลน โปลิซินสกิ เผยแพร่เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562
ภาพกิจกรรมของศูนย์มนุษยธรรมไอซีอาร์ซี หัวข้อเรื่อง War and the Children Left Behind เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562
แปลและเรียบเรียงจากบทความ From child soldier to child ‘terrorist’: safeguarding innocence from counter-terrorism โดย แซนดรา แครเฮนมานน์ และ พอลเลียน แวนเดนดรีเอสเชอ