งานมนุษยธรรมกับเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality)

บทความ / บล็อค

งานมนุษยธรรมกับเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality)

เกมส์กับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอาจฟังไม่เข้ากันเท่าไหร่ แต่ที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross – ICRC) สำนักงานกรุงเทพฯ เรามีแผนกออกแบบเกมส์ที่เปลี่ยนภาพความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality-VR) ให้เป็นเครื่องมือสำหรับฝึกสอนที่อาจช่วยผู้คนมากมาย ให้รอดจากเหตุความรุนแรงได้ในอนาคต

“แผนกของเราใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกิจกรรมของ ICRC ในรูปแบบต่างๆ” คริสเตียน รูแฟร์ หัวหน้าแผนก Virtual Reality Technologies (VRT) เล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจในการจัดตั้งแผนก VRT ที่กรุงเทพฯ ในปี 2014

ในจำนวนนั้น รูแฟร์ยกตัวอย่างวีดีโอที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลืองานด้านผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) จำลองภาพกิจกรรมและความเป็นไปภายในค่าย เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เจ้าหน้าที่ของ ICRC ก่อนลงพื้นที่จริงในอนาคต โดยมีสถานการณ์จำลองต่างๆ เช่น การทิ้งระเบิดภายในค่าย การขนย้ายเด็กที่ได้รับบาดเจ็บไปถึงมือหมอ วีดีโอของ VRT ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนงานของสภากาชาด ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำวีดีโอฝึกสอนการกู้ภัยในอุบัติเหตุทางท้องถนนของสภากาชาดอังกฤษ

อีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าสนใจคือการใช้เทคโนโลยี VR เพื่อเล่าสภาพความเป็นอยู่ของค่ายผู้ลี้ภัยที่มักตกอยู่ในความมืดเพราะขาดกระแสไฟฟ้า แสงสว่างจากเทียนไข ทำให้การมองเห็นต่างจากการรับรู้แบบทั่วไป เพื่อให้เห็นภาพชัด ทีม VRT ของเราใช้ค่ายผู้ลี้ภัยในฟิลิปปินส์เป็นต้นแบบก่อนออกแบบโปรแกรมร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์

โปรเจคที่ว่าไม่เพียงเป็นอุปกรณ์ฝึกอบรมที่ทันสมัย ยังช่วยจุดประกายให้บริษัทสามารถผลิตหลอดไฟ LED ที่ทำงานโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กลายเป็นผลผลิตที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พลัดถิ่นได้อีกทางหนึ่ง

หลอดไฟที่ว่าสามารถชาร์จได้ถึง 1,000 ครั้ง แถมมีช่องเสียบ USB สำหรับชาร์จโทรศัพท์ หรือเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างพัดลมพกพาขนาดเล็ก นวัตกรรมนี้ทั้งสะดวกและประหยัด เพราะมีราคาต่อชิ้นตกอยู่ที่ 8-10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 250-310 บาท เท่านั้น

“เราอยากให้โปรแกรม VR เป็นประโยชน์กับผู้ใช้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานราชการในประเทศกำลังพัฒนา การนำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนไปใช้เพื่อฝึกสอนทหาร อาจช่วยลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนได้ในการปฎิบัติงานจริง ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของเทคโนโลยี VR คืองบประมาณในการลงทุนพัฒนา เราจึงหวังว่าจะสามารถแบ่งปันเทคโนโลยีที่ว่านี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย” รูแฟร์แชร์ให้ฟัง เขากล่าวว่าเงินทุนสำหรับซื้อคอมพิวเตอร์สำหรับพัฒนาโปรแกรม VR เพียงเครื่องเดียวก็มีราคาสูงถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐหรืประมาณ 1 แสน 5 หมื่น บาท

รูแฟร์และแรงบันดาลใจในการก่อตั้งแผนก VRT 

แรงบันดาลใจของรูฟแฟร์ย้อนกลับไปในปี 2012 เมื่อ ICRC กับ Bohemia Interactive (BI) บริษัทพัฒนาเกมส์ชื่อดังของสาธารณรัฐเช็ก ร่วมมือกันพัฒนาโปรเจกต์ ArmA 3’s Laws of War DLC เพื่อจำลองเหตุขัดกันทางอาวุธโดยมีกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นธีมหลัก

การประชุมนานาชาติครั้งที่ 31 ระหว่างสภากาชาดและสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2010 ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการกล่าวถึงแนวคิดที่จะทำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนเข้ามาช่วยจำลองสถานการณ์สงคราม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเผยแพร่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ให้สามารถเข้าถึงผู้คนกลุ่มอื่นในสังคม

“ผมเห็นความเป็นไปได้ในประเด็นนี้ตั้งแต่เราเริ่มมีเกมส์ยิงปืนที่มอบโอกาสให้ผู้เล่นทางบ้านสามารถสวมบทบาทในเกมส์แบบ first person ผมคิดว่าวิดีโอเกมจะทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับกฎของสงครามตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ” รูแฟร์เล่าย้อนกลับไป

ปัจจุบันประเทศไทยรับหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนมาตั้งแต่ปี 2014 ความท้าทายที่พบอยู่ทุกวัน คือการวางจุดสมดุลระหว่างต้นทุนที่จำกัดและคุณภาพของชิ้นงานที่ต้องผลิตออกมาตามมาตรฐานสากล การตั้งแผนก VR ในกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในทางออกสำหรับปัญหา เพราะไม่ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากภายนอก ICRC ยังมีความพยายามที่จะผสมภาพเคลื่อนไหว เข้ากับเทคโนโลยีสามมิติและการทำแผนที่แบบอื่นๆ เพื่อประกอบโปรเจกชิ้นใหม่ ผสานเอาเทคโนโลยีหลายหลากให้กลายเป็นสื่อการสอนที่สร้างสรรค์ใต้งบการผลิตที่สมเหตุผล

Reference: แปลจากบทความต้นฉบับของ Ganas 

แบ่งปันบทความนี้