ความคิดเห็นจาก ลีโอนาร์ด บลาเซบี หัวหน้าสำนักงาน ICRC ประจำออสเตรเลีย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกคือเรื่องไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งเป็นสิ่งโหดร้าย หากสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน นั่นหมายถึงหายนะ

มันอาจยากที่จะจินตนาการ แต่เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำความเข้าใจ ทุกวันนี้มีผู้คนหลายล้าน กำลังได้รับความลำบากจากทั้งสองมหันตภัยในเวลาเดียวกัน

ในปี 2020 ออสเตรเลียเพิ่งเผชิญกับเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ โลกทั้งใบต้องต่อสู้กับโรคระบาด มันอาจเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องบอกว่า ปัญหาของโลกปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบและแก้ไข ในตอนที่ออสเตรเลียประสบภัยจากไฟป่า ความเจ็บปวดของคนในชาติได้ส่งเสียงสะท้อนดังไปทั้งโลก มันอาจถึงเวลาแล้วเช่นกัน ที่พวกเราทุกคนต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผู้คนมากมายที่กำลังประสบภัยจากภาวะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกทั้งใบ แต่ผลกระทบที่แต่ละประเทศได้รับนั้นต่างกัน ในขณะที่บ้างประเทศมีความสามารถในการแก้ไขและปรับตัว ในบ้างพื้นที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่สามารถรับมือได้ สิ่งที่เรารู้คือ ในจำนวน 20 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด กว่าครึ่งในนั้น เป็นประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับสงครามและความขัดแย้งซึ่งแน่นอนว่าส่งผลให้การปรับตัวของผู้คนเป็นเรื่องยากลงกว่าเดิม

หากคุณกำลังต่อสู้กับเพื่อนบ้าน มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกคุณจะสามารถจับเข่าคุยเรื่องปัญหา และหาทางแก้ไขผลกระทบที่ตามร่วมกัน นี่คือสาเหตุที่ความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่ทับซ้อน ยิ่งความขัดแย้งดำเนินไปนานเท่าไหร่ สิ่งที่มันทำลายไม่ใช่แค่ชีวิตของผู้คน แต่รวมไปถึงชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และความหวังที่จะทำงานร่วมกันเพื่อตอบโต้ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ ภัยร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดเพียงลำพัง ความเสียหายจากสงครามและความขัดแย้งจะทวีคูณความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ

เพื่อนร่วมงานของเราที่กำลังปฎิบัติหน้าที่อยู่ทั่วโลกเป็นประจักษ์พยานของวิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขัดแย้ง ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเผชิญกับความท้าทายของทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน แม้ว่างานวิจัยจะไม่ได้พิสูจน์ว่าความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง แต่ความเห็นโดยทั่วไปให้น้ำหนักว่าผลกระทบจากภัยธรรมชาติมีส่วนซ้ำเติมให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น

ในประเทศที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมีความยากลำบากมากแล้วเช่นในประเทศมาลี (อยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา) สภาพฝนแล้งและน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขาดซึ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและภัยสงครามยาวนานร่วมสิบปีทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมีความยากลำบากมากขึ้น ในยามสงบผู้คนมักพาฝูงวัวออกเดินทางไกลเพื่อหากินในพื้นที่ที่มีน้ำและหญ้าสมบูรณ์พร้อม อันตรายที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทำให้พวกเขาไม่สามารถออกเดินทาง ฝูงสัตว์ของพวกเขาอดอยากล้มตาย ผู้คนมากมายต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลายที่ในทวีปแอฟริกา ความตึงเครียด และข้อจำกัดด้านทรัพยากรณ์นำไปสู่การแข่งขันและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนผู้เลี้ยงสัตว์และชุมชนเกษตรกรรม

บางครั้งทรัพยากรณ์ทางธรรมชาติก็เป็นเป้าหมายของการโจมตี ในอิรัก ผู้คนโค้นต้นอินทผาลัม หรือทำให้ที่ราบลุ่มต้องขาดน้ำเพื่อเป็นการตอบโต้ประชาชนในช่วงทศวรรษที่ 1990  หลังประเทศถูกทำลายโดยสงครามยาวนานนับสิบปี รอยแผลเป็นอันยาวกำลังทวีความรุนแรงขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและการขาดแคลนน้ำฝน เพื่อนร่วมงานชาวอิรักเคยกล่าวกับเราว่า “ก่อนหน้านี้น้ำฝนหล่นจากฟ้า แต่ตอนนี้สิ่งที่ร่วงหล่นมีเพียงฝุ่นผงของสงคราม”

หากความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่นอกเหนือประสบการณในชีวิตของคนทั่วไป พวกเราควรต้องตระหนักถึงผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ในทุกวัน เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อช่วยเหลือชุมชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง

เช่นเดียวกับที่ประชาคมโลกต่างร่วมกันช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไฟป่าออสเตรเลีย ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปิน นักเคลื่อนไหว วิศวกร หรือนักการเมือง นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

References:แปลจากบทความต้นฉบับ Regions at war harder hit by climate change