“ความพิการไม่ใช่ข้อจำกัดทางความสามารถ แต่โอกาสและการยอมรับจากสังคมจะเป็นตัวแปรหลักที่เปิดทางให้ผู้พิการ สามารถมีส่วนร่วมในส่วนต่างๆ ของสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และสภากาชาดไทย ร่วมกันจัดโครงการฝึกอบรมสร้างเสริมสมรรถนะคนพิการที่ปฎิบัติงานประจำเหล่ากาชาดและกิ่งกาชาด งานในครั้งนี้จัดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีความตั้งใจหลักเพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้ผู้พิการสามารถปฎิบัติงานในเหล่ากาชาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเก็บสัมภาษณ์ที่แฝงด้วยแรงบันดาลใจมาเล่าสู่กันฟัง

ขอแค่เรากล้าออกมาใช้ชีวิต จะรู้ว่าโลกนี้กว้างใหญ่และมีใครหลายคนพร้อมให้โอกาสเราเสมอ

“คนส่วนใหญ่รู้ว่าถ้าอยากบริจาคร่างกายต้องไปศิริราช อันที่จริงแค่มาเหล่ากาชาดประจำจังหวัด ก็สามารถบริจาคอวัยวะได้ หลายคนคิดว่าการบริจาคเลือดเป็นเรื่องยุ่งยาก ผมก็ไม่เคยบริจาคกระทั่งมาทำงานกับกาชาดไทย บางคนคิดว่าการมีข้อจำกัดทางร่างกายทำให้ชีวิตต้องถูกจำกัด ผมเชื่อว่าถ้าเรายอมรับในสิ่งที่เป็น ไม่กลัวคำสบประมาทนินทาเราจะพบว่าโลกมีทางให้ทุกคนเลือกเดิน แม้เราจะเคลื่อนที่ไปบนรถเข็น

“ผมมีข้อบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว ทำให้ต้องนั่งรถเข็นแทบจะตลอดเวลา ที่จริงผมสามารถเดินได้บ้างถ้ามีที่เกาะ แต่ถ้าล้มขึ้นมาอาจต้องลำบากคนอื่นเลยเลือกจะใช้รถเข็นเป็นหลัก ก่อนหน้าจะรู้จักกาชาด ผมเคยทำงานอื่นมาก่อน ได้ยินคนล้อเลียนก็มาก คนหาเรื่องก็มี แต่คนดีๆ ก็มีอยู่เยอะ การใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเอง ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะมองแต่ด้านดี เห็นอุปสรรคเป็นเรื่องท้าทาย ใช้เวลาไปกับการพัฒนาตัวเองมากกว่ามองทุกอย่างเป็นปัญห

“ตอนนี้ผมทำงานกับกาชาดไทยมาได้ 1 ปี รับหน้าที่ดูแลเอกสารเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะเป็นหลัก งานของผมครอบคลุมแทบทุกอย่าง ตั้งแต่การเชิญชวนโปรโมทให้คนไทยหันมาสนใจบริจาคอวัยวะตามช่องทางต่างๆ ผมพบว่าอันที่จริงมีคนสนใจเรื่องนี้เยอะ แต่ไม่ค่อยทราบกันว่าเราสามารถเดินเอกสารได้ที่เหล่ากาชาดประจำจังหวัด หลายคนคิดว่า ยากละ ต้องไปถึงกรุงเทพฯ เลยใช่ไหม? ซึ่งมันไม่ใช่ ทุกครั้งเวลามีคนมายื่นคำร้องขอบริจาค ผมจะฝากเขาว่า ช่วยไปบอกเพื่อนๆ คนรู้จักให้ที เผื่อมีคนสนใจและยังไม่รู้ ปรากฎว่าวิธีนี้เวิร์ค มีคนเริ่มรู้จักเราเพิ่มมากขึ้น

“งานของผมไปไกลถึงการรับบริจาคเลือด โทรประสานเรื่องการรับส่งเลือดในแต่ละพื้นที่ และก็มีงานจิปาถะอื่นๆ อีกบ้าง งานเหล่านี้นอกจากจะสอนให้ผมเป็นคนละเอียด รอบคอบ ยังบอกให้รู้ว่าเราได้มีส่วนช่วยคนอื่นไม่มากก็น้อย กระดาษทุกแผ่นที่เราถืออยู่ เราต้องทำมันอย่างตั้งใจ เพราะอาจมีผลถึงชีวิตใครอีกหลายคน มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองได้ทำงานที่มีค่า และเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้สังคมได้ไม่น้อยไปกว่าใคร”

-คุณรชต สุขช่วย, เหล่ากาชาดสมุทรสาคร

มันเหมือนการลุกขึ้นใหม่ ถ้าเราไม่กล้าเริ่ม ชีวิตเราก็จบ แต่ถ้าเราสู้ เราจะพบว่าตัวเราสามารถสร้างประโยชน์ได้อีกมาก

“ตอนเกิดอุบัติเหตุ ผมหลับไป 2 ปี ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าผมคงไม่ฟื้นแล้ว คงกลายเป็นเจ้าชายนิทราแน่ล่ะ ผมย้ายโรงพยาบาล 4 ครั้ง จนหมอบอกว่าไม่มีทางจะรักษา การที่ผมฟื้นขึ้นมา มุมหนึ่งเหมือนเป็นโชคดี แต่มองอีกทีก็เหมือนโชคร้าย ชีวิตผมหายไป 2 ปี ต้องกลับมาเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ การพูด การกิน การเดิน การเคลื่อนไหว เหมือนผมต้องเริ่มใหม่จากศูนย์

“ก่อนหน้านี้ผมทำงานเป็นวินมอเตอร์ไซค์ ทำอยู่ไม่กี่เดือนก็เจออุบัิเหตุ หลังฟื้นขึ้นมา ภรรยาก็เลิกราไป เขาคิดว่าเราคงกลับไปเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีไม่ได้ เขาเลยไป ก็ต้องปล่อยให้เขาไปเพราะเราดูแลเขาไม่ได้ ลูกๆ ผมสองคนต้องฝากไว้ให้พี่สาวกับคุณแม่ช่วยกันดูแล

“วันหนึ่งผมบังเอิญเจอกำนัน เขาถามว่าอยากได้งานทำไหม? ผมก็ว่าอยาก กำนันแนะนำให้ผมลองไปสมัครงานของกาชาดที่อำเภอ ปรากฎว่าได้รับเลือก

“วันที่ผมได้งาน มันเหมือนเป็นความหวังของผม ผมรู้สึกมีหวังขึ้นมา จากที่เคยท้อแท้ คิดว่าตัวเองไม่มีค่า วันนึงเราได้ทำงาน มีรายได้ สามารถดูแลครอบครัว ผมทำงานดูแลสถานที่ เก็บกวาด เช็ดกระจก และเดินเอกสาร แรกๆ รู้สึกยากเหมือนกัน เพราะร่างกายเรายังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ มีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหว จะทำอะไร จะพูดอะไรก็ช้า ไม่ทันใจ แต่เราค่อยๆ เรียนรู้งาน ตอนนี้จากที่ไม่มีคนคุยด้วย เพื่อนร่วมงานก็เข้าใจเรามากขึ้น

“มันเหมือนการลุกขึ้นใหม่ ถ้าเราไม่กล้าเริ่ม ชีวิตเราก็จบ แต่ถ้าเราสู้ เราจะพบว่าตัวเราสามารถสร้างประโยชน์ได้อีกมาก เป็นพลังให้สังคม เป็นความรักของครอบครัว เป็นตัวของตัวเองอย่างมีคุณค่า แค่นี้ก็เป็นความสุขที่มากมายแล้วครับ”

-คุณอุเทน กำลังไทย กิ่งกาชาดอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ไม่เกี่ยวว่าปกติหรือพิการ แต่ถ้าทำได้ก็คือทำได้

“เมื่อ 7 ปี ก่อนเราย้ายมากรุงเทพฯ เพราะป่วยเป็นมะเร็ง สามีก็ตามมาอยู่ด้วยกัน วันหนึ่งเขานั่งฟังวิทยุ เจอประกาศรับสมัครงานของกาชาด เขาเลยมาบอกต่อ เราก็รีบสมัครเลย ตอนนั้นต้องใช้วุฒิการศึกษา จดหมายสมัครงานทั่วไป และต้องใช้ใบรับรองผู้พิการ ผ่านการสัมภาษณ์และขั้นตอนต่างๆ จนสุดท้ายเราก็ได้รับเลือก

“ก่อนหน้านี้เราสองคนอยู่กันที่สงขลา ทำงานกับนายจ้างที่เป็นผู้พิการเหมือนกัน แต่พอป่วยเลยต้องหยุดพัก ตัดสินใจลาออกมา ตอนแรกก็คิดว่าจะอยู่บ้าน หรือย้ายมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ดี สุดท้ายเลือกย้ายมา เพราะสามีจะได้มีงานทำด้วย

“ตำแหน่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ เรียกว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกาชาด มีหน้าที่รับเรื่อง เดินเอกสาร ดูงบ ทำบัญชี ถือว่าต่างจากงานก่อนๆ ที่เคยทำมาก เมื่อก่อนเราทำงานโรงงานบ้าง แคชเชียร์บ้าง ตอนนี้ได้รับความไว้วางใจให้ดูงบประมาณก้อนใหญ่ เมื่อได้รับความไว้วางใจ เราก็ต้องพิสูจน์ว่าเราทำงานได้

“คิดว่ามันไม่มีหรอก ข้อแตกต่างระหว่างคนปกติกับคนพิการ เวลาทำงานเสร็จออกมา ถ้าเราทำอย่างตั้งใจ งานเรียบร้อย ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีใครมองออกอยู่ดีว่าคนที่อยู่ข้างหลังเป็นใคร ถ้าเราตัดสินกันที่ผลของงาน มันไม่มีความปกติหรือพิการ ถ้าทำได้ก็คือทำได้

“ปัจจุบันเราทำงานให้กาชาดมา 3 ปี สามีมาทำงานกับเราทุกวัน เขาเป็นผู้พิการทางสายตา ตาสองข้างบอดสนิท ทุกวันเราเอาขนมมาขายที่อำเภอ เขาขายขนม เราเข้าไปทำงาน ขายหมดบ้างไม่หมดบ้าง แต่จะกลับด้วยกันทุกวัน ส่วนอาการป่วยก็อยู่ในช่วงติดตามผล จากที่เจอหมอเดือนละครั้ง กลายเป็นสามเดือนครั้ง ครึ่งปีครั้ง ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ที่ทำและได้รับอยู่ทุกวันนี้ ถือเป็นความสุขที่ครบมากแล้ว”

– คุณธนพร หนูสม กิ่งกาชาดอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี