เหมือนหรือต่าง? ว่าด้วยกฎหมายที่หลายคนสับสน อะไรคือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL) กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law – IHL) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (international human rights law – IHRL) เป็นสองข้อกฎหมายที่มักถูกยกมาถกเถียงถึงความเหมือนและแตกต่าง IHL และ IHRL ไม่เพียงเป็นข้อกฎหมายที่มีชื่อคล้ายกัน แต่ยังมีประเด็นที่ควรค่ากับทำความเข้าใจ
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law – IHL) คืออะไร
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ IHL เป็นกฎหมายที่วางหลักสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในกรณีที่มีการขัดกันทางอาวุธ หรือสงคราม เช่น สนธิสัญญาเจนีวาและพวกพิธิสารเพิ่มเติม ระบุถึงสิทธิและความคุ้มครองของผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็น พลรบ พลเรือน ทหารที่ได้รับบาดเจ็บและไม่สามารถสู้รบต่อได้ เชลยศึก และผู้ได้รับความคุ้มครองอื่นๆ
IHL ยังได้ระบุห้ามรูปแบบหรือมาตรการสู้รบบางอย่างเพื่อจำกัดผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและความทรมานที่ไม่จำเป็น เช่น การห้ามใช้อาวุธบางประเภท หรือจำกัดการโจมตีที่จะส่งผลกระทบอย่างไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสมต่อพลเรือน IHL บังคับใช้ในบริบทของการขัดกันทางอาวุธเท่านั้น โดยการขัดกันทางอาวุธมีสองประเภท คือ การขัดกันทางอาวุธที่มีลักษณะระหว่างประเทศ international armed conflict (IAC) และการขัดกันทางอาวุธทีไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ non-international armed conflict (NIAC)
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (international human rights law – IHRL) คืออะไร
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือ IHRL หากจะให้กล่าวถึงง่ายๆ หมายถึง กฎหมายที่มีพื้นมาจากหลักสิทธิมนุษยชน เป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่ มีรากมาจากกฎหมายหรือแนวคิดสมัยยุคเรืองปัญญา The Enlightenment เช่น คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ปี 1776 และ ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศส ปี 1789
แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนมาเติบโตเบ่งบานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้การรับรองโดยสหประชาชาติ เป็นแผนกหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ มีเอกสารสำคัญคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) โดยตอนแรกไม่ได้ก่อให้เกิดข้อผูกมัดในทางกฎหมาย แต่ภายหลังได้มีการออกเป็นสนธิสัญญาที่สนองหลักในปฏิญญา 2 ฉบับคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่มาพร้อมกันในปี 1966
IHL กับ IHRL มีส่วนคล้ายส่วนต่างกันอย่างไร
จริงๆ แล้ว กฎหมายทั้งสองแขนงมาจากแหล่งเดียวกันคือการรับรองคุณค่าความเป็นมนุษย์ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL) มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครอง เคารพ และรักษาสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี กล่าวคือ เป็นสิทธิที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน และเป็นกฎหมายที่มีผลในทุกบริบท ยกตัวอย่างเช่น สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการนับถือศาสนา
ส่วนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) เป็นข้อกำหนดที่มีผลเฉพาะในบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การคุ้มครองพลเรือนที่ไม่มีส่วนกับการสู้รบ การคุ้มครองสถานพยาบาล ฯลฯ การคุ้มครองตามข้อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ไม่สามารถริดรอนได้ไม่ว่าในกรณีใด แต่ในบางกรณีสิทธิมนุษยชนอาจทุกระงับลิดรอนได้หากมีความจำเป็นของรัฐ แต่ต้องได้สัดส่วน เหมาะสม ไม่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และ ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึง กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ด้วย
อย่างไรก็ดี สิทธิมนุษยชนบางอย่าง ไม่สามารถระงับหรือลิดรอนได้ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในการไม่ถูกทรมาน/กระทำการโหดร้าย หรือลิดรอนความเป็นมนุษย์ และสิทธิในการไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อน
จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) หรือ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL)
ในทางพื้นฐาน หากมีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) อาจมีการดำเนินการทางอาญาและอาจเป็นความผิดร้ายแรงในทางกฎหมายระหว่างประเทศ คือ ความผิดอาชญากรรมสงคราม หรือ อาจเป็นความผิดรูปแบบอื่นเช่นการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ หรือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะมีสงครามหรือไม่ โดยหากรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐของผู้ก่อเหตุ ไม่สามารถหรือไม่ยินยอมดำเนินการ ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจเข้ามาดำเนินการได้ โดยสามารถเข้ามาได้หากคู่กรณีเป็นรัฐสมาชิกสนธิสัญญากรุงโรม หรือถ้าหากสำนักอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศได้มีการตรวจสอบว่ามีมูล และศาลมีเขตอำนาจ และได้ทำการส่งฟ้อง
อันที่จริงความผิดทั้งหลายที่กล่าวมาถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปในตัวอยู่แล้ว เช่น การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กว้างขวาง และเป็นระบบ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นทั้งในสงครามและสถานการณ์ที่ไม่มีสงคราม
โดยทั่วไป กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL) จะเพ่งเล็งที่การกระทำของภาครัฐและผู้มีอำนาจปกครอง เพราะการรับรอง คุ้มครอง สิทธิต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐ และหากภาครัฐล้มเหลวหรือไม่ยินยอมในการรับรอง คุ้มครองสิทธิ์ประชาชนที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล เช่น สิทธิ LGTBQ หรือ เสรีภาพในการแสดงออก ก็ถือได้ว่ารัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน ในทางกลับกัน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศสามารถผูกมัดระดับปัจเจกได้เลย เช่น นายพล นายทหาร รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลปัจเจกที่อาจกระทำความผิด
หากเราพูดว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่เป็น conflict หรือความขัดแย้ง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานการณ์ไหนถือเป็นความขัดแย้ง
มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ที่เป็นแขนกหลักที่รวมไปถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) แยกระยะเวลาก่อนเกิดการขัดกันทางอาวุธ หรือที่เรียกว่า jus ad bellum (rights to war) และหลักต่างๆ ที่มีผลเมื่อมีการขัดกันอาวุธเกิดขึ้นแล้ว หรือที่เรียกว่า jus in bello (rights in war/law of war)
jus ad bellum วางหลักถึงข้อแม้หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่รัฐสามารถเข้าสู่สงคราม หรือใช้กำลังทางทหาร เช่นการป้องกันตนเอง และการอนุมัติให้ใช้กำลังโดยสหประชาชาติโดยหลักเหล่านี้มีการบัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ
jus in bello กล่าวสั้นๆ คือ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) เป็นกฎหมายที่วางหลัก สิทธิ หน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในกรณีที่มีการขัดกันทางอาวุธ จำกัดขอบเขตของการสู้รบและลดทอนความทุกข์ทรมานของผู้ได้รับผลกระทบอย่างไม่เลือกฝ่าย เนื่องจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) เป็นกฎหมายที่ไม่มีนัยยะทางการเมืองและไม่เลือกฝ่ายจึงบังคับใช้กับทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งในสงคราม โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลทางการเมืองหรือความชอบธรรมในการทำสงคราม เป็นหลักกฎหมายที่มุ่งเน้นเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์เท่านั้น
หากไม่ใช่สงคราม หรือสถานการณ์ความขัดแย้ง กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) จะมีความสำคัญหรือไม่
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) มีความสำคัญในบริบทที่ปราศจากสงครามเช่นกัน โดยองค์กรที่รับผิดชอบเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายตัวนี้อย่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross – ICRC) ได้มีการเจรจาและสนับสนุนรัฐต่างๆ ให้ปลูกฝังการเคารพหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศและนำหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ ทั้งในองค์กรของรัฐเช่น กองทัพ และตำรวจ
นอกจากนี้ ICRC ยังมีส่วนในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักมนุษยธรรม ในหมู่นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างรากฐานแนวคิดเรื่องการป้องกันผลกระทบและปัญหาทางมนุษยธรรมที่อาจเกิดขึ้นในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจที่ตรงกันจากทุกภาคส่วน
หากคุณสงสัยเกี่ยวกับความคุ้มครองอื่นๆ ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อ่านบทความเพิ่มเติม กฎหมายสงครามทำงานอย่างไร รวมทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ