ปฏิบัติการทุ่นระเบิด: อิทธิพลที่มีต่อกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ

ปฏิบัติการทุ่นระเบิด: อิทธิพลที่มีต่อกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ

Gouvernorat d'Erbil, district de Rawaduz, Mawilian, Zimali Shekhi Mine Field. Un démineur irakien de l'organisation IKMA (Iraqi Kurdistan Mine Action). Erbil Governorate, Rawaduz district, Mawilian, Zimali Shekhi Mine Field. An Iraqi deminer from IKMA (Iraqi Kurdistan Mine Action).

ปฏิบัติการทุ่นระเบิด (Mine action)มีความสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขัดกันทางอาวุธที่ตระหนักถึงความจำเป็นของการจัดการกับภัยอันตรายที่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบของทุ่นระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิด และถือเป็นต้นแบบของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่มีเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษตกค้างอยู่

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความเรื่อง สงคราม กฎหมาย และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือกับ Conflict and Environment Observatory  โดยมี บอนนี ดอกเคอตี จากคลินิกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของ Harvard Law School และ Human Rights Watch จะกล่าวถึงปฏิบัติการทุ่นระเบิดว่ามีอิทธิพลต่อพันธกรณีเชิงบวกในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์อย่างไรบ้าง พร้อมกับให้เหตุผลว่าปฏิบัติการทุ่นระเบิดถึงควรเป็นแนวทางในการดำเนินการตามสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์และความพยายามในการจัดการกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษในระดับกว้างมากขึ้น

ปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อลดผลกระทบของกับระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดได้มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนากฎหมายและนโยบายล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ ปฏิบัติการทุ่นระเบิดถือเป็นองค์ประกอบหลักของการลดอาวุธภายใต้กรอบการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม อันเป็นแนวทางการควบคุมอาวุธที่มุ่งมั่นแก้ไขและป้องกันอันตรายจากอาวุธ แม้ว่าเศษซากอาวุธสงครามประเภทและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดจะมีความแตกต่างกันในหลายด้าน แต่ปฏิบัติการทุ่นระเบิดก็สร้างบรรทัดฐานของการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขัดกันทางอาวุธในด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

บทความฉบับนี้จะกล่าวถึงบทบาทความสำคัญของปฏิบัติการทุ่นระเบิดที่มีต่อเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ พร้อมกับวิเคราะห์เกี่ยวกับอิทธิพลของสนธิสัญญาด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิดที่มีต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและภาระหน้าที่ด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ระบุในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงกฎหมายและนโยบายด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิดควรชี้แนะแนวทางการดำเนินการตามสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์และความพยายามในการจัดการกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง ในฐานะปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมที่มีพัฒนาการและขยายขอบเขตการดำเนินเติบโตขึ้นตามกาลเวลาปฏิบัติการหนึ่ง ปฏิบัติการทุ่นระเบิดถือเป็นต้นแบบของการสร้างบรรทัดฐานและการนำบรรทัดฐานไปใช้จัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมสืบเนื่องจากความขัดแย้งที่ดีต้นแบบหนึ่ง

ความสำคัญของปฏิบัติการทุ่นระเบิด

การขัดกันทางอาวุธก่อให้เกิดผลกระทบที่มากกว่าการสู้รบ เนื่องจากมีระเบิดและเศษสารพิษตกค้างจำนวนมากจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ทุ่นระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิด คือคำที่ใช้เรียกวัตถุระเบิดที่ถูกทิ้งร้างที่ยังไม่ได้ระเบิด และเป็นอันตรายต่อชีวิตพลเรือน เนื่องจากอาจระเบิดได้หากถูกกระตุ้นแม้จะผ่านมาแล้วหลายปี แต่เศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษนั้น ‘เป็นภัยต่อมนุษย์หรือระบบนิเวศ’ เนื่องจากประกอบด้วย ‘สารพิษหรือสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากกิจกรรมทางทหาร’ นับตั้งแต่การทดสอบอาวุธ การสู้รบ ไปจนถึงการกำจัดขยะของทหาร

แม้ว่าปฏิบัติการทุ่นระเบิดจะออกแบบมาเพื่อจัดการกับทุ่นระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิด แต่ก็ใช้เป็นแนวทางชี้แนะการบรรเทาผลกระทบจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษได้ เนื่องจากปฏิบัติการทุ่นระเบิดมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน และโดยดำเนินกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยประการแรกนั้น เศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั้งในทันทีและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บทางร่างกาย ผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และการเข้าไม่ถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้ผู้คนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินและยิ่งทำให้มีการพลัดถิ่นมากขึ้น ประการที่สอง ปฏิบัติการทุ่นระเบิดเกิดจากเป้าหมายของกรอบการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรมอันเป็นเป้าหมายเดียวกันที่ผลักดันความพยายามในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากความขัดแย้ง นั่นคือ การให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อผู้ประสบภัยและการคุ้มครองสิทธิของผู้ประสบภัย ประการที่สาม เสาหลักของปฏิบัติการทุ่นระเบิด ได้แก่ การกำจัด การให้ความรู้เกี่ยวกับอันตราย การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการรณรงค์สนับสนุน เกิดขึ้นควบคู่กับการดำเนินการฟื้นฟูแก้ไขที่จำเป็นในการจัดการกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา ปฏิบัติการทุ่นระเบิดได้แสดงให้ถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความท้าทายใหม่ด้วยการพัฒนาและขยายขนาดของปฏิบัติการอยู่หลายครั้ง ปฏิบัติการทุ่นระเบิดเริ่มต้นจากการเป็นปฏิบัติการของการรับมือตอบสนองต่อวิกฤตปัญหาด้านทุ่นระเบิด แต่ปัจจุบันสามารถนำไปใช้กับระเบิดพวงและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดประเภทอื่น ๆ โดยปฏิบัติการทุ่นระเบิดได้ขยายกิจกรรมการดำเนินงานหลัก ๆ ตั้งแต่การกำจัดไปจนถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของวัตถุระเบิดตกค้างและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งกฎหมายและนโยบายของปฏิบัติการทุ่นระเบิดยังได้เติบโตและมีสนธิสัญญา แผนปฏิบัติการ และหลักการต่าง ๆ มากมายเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ ปฏิบัติการทุ่นระเบิดยังได้เริ่มนำเอามาตรฐานมาใช้เพื่อให้กิจกรรมการดำเนินงานของตนครอบคลุมรวมถึงผลกระทบของเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดและประเภทสารพิษ รวมถึงมีการดำเนินการในลักษณะที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การดำเนินการขั้นตอนต่อไปที่สมเหตุสมผลจึงควรเป็นการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของปฏิบัติการทุ่นระเบิดให้เข้ากับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ

เศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ที่แตกต่างชัดเจนในด้านของขอบเขตและความไม่แน่นอนที่ต้องคำนึงถึงในกรณีที่นำปฏิบัติการทุ่นระเบิดมาใช้เป็นตัวอย่าง ทุ่นระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดโดยทั่วไปแล้วจะยังอยู่ในสถานที่นั้น  แต่ทว่าเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษนั้นอาจโยกย้ายและแพร่กระจายไปทั่วได้ และวัตถุระเบิดส่งผลทำให้ผู้คนบาดเจ็บหรือล้มตายจากการระเบิด แต่ผลกระทบของเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษนั้นกลับปรากฏให้เห็นช้ากว่าและในบางกรณี อาจแพร่ขยายไปยังคนรุ่นต่อไปได้ ต่างจากกับระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดที่มองเห็นได้หากพบเจอ แต่เศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงทำให้การประเมินและป้องกันปัญหาเป็นไปได้ยาก ประการสุดท้าย สำหรับวัตถุระเบิดนั้น เราอาจระบุได้ว่าเป็นต้นตอหรือสาเหตุที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อชีวิตและร่างกาย แต่สำหรับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษแล้ว ผลกระทบของเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคร้าย และแม้ว่าเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษจะมีลักษณะเฉพาะที่อาจทำให้ปัญหามีความยุ่งยากในระดับหนึ่ง แต่บทเรียนจากปฏิบัติการทุ่นระเบิดก็อาจช่วยเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำกรอบการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่อาจนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษได้ตามความจำเป็น

อิทธิพลต่อกฎหมายสนธิสัญญา

ปฏิบัติการทุ่นระเบิดมีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ โดยเมื่อปี 2017 สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ได้กลายเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่กำหนดให้รัฐภาคีต้องจัดการกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ ในกรณีนี้คือ การปนเปื้อนจากการใช้และการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อจัดทำสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นจากการเรียกร้องให้ห้ามมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ผู้เสนอโดยเฉพาะผู้อยู่ภายในภาคประชาสังคมที่เคยจัดทำสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดหรืออนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงจะรับรู้ว่า การรับมือเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ครอบคลุมจำเป็นต้องมีมาตรการการจัดการกับผลกระทบจากการใช้งานและการทดสอบในอดีต โดยผู้เสนอกลุ่มนี้มองเครื่องมือดังกล่าวในฐานะแบบอย่างของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่จะมีในสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่

เนื้อหาส่วนสุดท้ายของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นผลมาจากบทบัญญัติของปฏิบัติการทุ่นระเบิดในสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดและอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ข้อ 6(1) ว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยส่วนใหญ่คัดลอกมาจากข้อ 5(1) ของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงแบบคำต่อคำ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มคำว่า ‘โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ’ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของการไม่เลือกปฏิบัติของข้อ 5(2)(e) ของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง แม้ว่าอันตรายเฉพาะที่เกิดจากการแผ่รังสีจากอาวุธนิวเคลียร์จะแตกต่างจากที่เกิดจากการระเบิดของทุ่นระเบิดหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ความคล้ายคลึงกันระหว่างสนธิสัญญาทั้งสองฉบับนี้คือการตระหนักถึงเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่เทียบเท่ากัน

สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์กล่าวถึงบทบัญญัติของการกำจัดทุ่นระเบิดและระเบิดพวงในข้อ 6(2) ว่าด้วยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้รัฐภาคีต้อง “ดำเนินมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่… ที่ปนเปื้อน” จากการใช้งานหรือทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าจะให้รายละเอียดน้อยกว่าข้อที่เกี่ยวกับการกำจัดที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดหรืออนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง แต่การกำหนดเช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดหลักของปฏิบัติการทุ่นระเบิด กล่าวคือ รัฐจะต้องจัดการกับการปนเปื้อนที่เกิดจากเศษซากของสงคราม

สนธิสัญญาของปฏิบัติการทุ่นระเบิดยังช่วยกำหนดวิธีการมอบหมายความรับผิดชอบในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและกิจกรรมการกำจัด/ฟื้นฟูแก้ไขในบริบทของเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ด้วย แม้ว่าหลายประเทศที่อยู่ในการร่วมเจรจาของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะเสนอให้ใช้หลักของกฎหมายสิ่งแวดล้อมคือ ‘ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย’ แต่สุดท้ายแล้ว รัฐที่เจรจาได้ข้อตกลงให้มีการปฏิบัติตามแบบจำลองที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาลดอาวุธเพื่อมนุษยธรรมฉบับก่อน ๆ และบังคับให้รัฐภาคีที่ได้รับผลกระทบรับบทบาทเป็นผู้นำด้านการจัดการกับความเสียหายในอาณาเขตของตน ซึ่งน่าจะส่งผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการประเมินความต้องการของผู้ประสบภัยและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม การให้ความช่วยเหลือ และการกำจัดวัตถุระเบิดตกค้างบนดิน แนวทางนี้ยังเป็นการคุ้มครองอธิปไตยของรัฐที่ได้รับผลกระทบและเป็นไปตามกรอบการลดอาวุธเพื่อมนุษยธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีมาก่อน

ขณะเดียวกัน สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ก็เหมือนกับสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดและอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง คือ บังคับให้รัฐภาคีอื่นต้องให้ความร่วมมือระหว่างประเทศและความช่วยเหลือเพื่อช่วยให้รัฐภาคีที่ได้รับผลกระทบปฏิบัติตามพันธกรณีได้ นอกจากนี้ ข้อ 7(6) ยังกำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐผู้ใช้หรือรัฐที่ทดลองใช้จะต้อง ‘ให้ความช่วยเหลือที่เพียงพอแก่รัฐภาคีที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ช่วยเหลือผู้เสียหายและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ตามเป้าหมาย’ บทบัญญัตินี้ต่อยอดและขยายความมาจากแนวความคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐผู้ใช้ในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงโดยกำหนดให้เป็นภาระหน้าที่ผูกพันและนำไปใช้กับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการกำจัดกวาดล้าง

แนวทางการนำไปปฏิบัติ

ปฏิบัติการทุ่นระเบิดช่วยกำหนดรูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและภาระหน้าที่ในการพื้นฟูแก้ไขสิ่งแวดล้อมของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ และจะช่วยส่งผลต่อการนำไปปฏิบัติใช้ด้วย ทั้งนี้ การบังคับใช้มีขอบเขตที่มากกว่ามาตรการการจัดการกับอาวุธนิวเคลียร์ตกค้างที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญานี้ กิจกรรมการดำเนินงาน กลไก รวมถึงหลักการที่ปฏิบัติการทุ่นระเบิดได้กำหนดไว้จะทำหน้าที่ชี้แนะแนวทางความพยายามในการรับมือกับผลกระทบต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษรูปแบบอื่น

เสาหลักของปฏิบัติการทุ่นระเบิดประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นต้นแบบในการจัดการกับผลกระทบอันตรายจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากวัตถุระเบิดครอบคลุมการรักษาพยาบาล การฟื้นฟู การช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ และมาตรการส่งเสริมการคำนึงถึงผู้คนจากทุกภาคส่วนทางสังคมและเศรษฐกิจ จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสบภัยและความต้องการช่วยเหลือ และคำนึงถึงอายุกับเพศ ตามที่กำหนดในข้อ 6(1) ของ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ ควรมีองค์ประกอบเหมือนกัน การกำจัดทุ่นระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิดจะต้องมีการประเมินปัญหา มาตรการป้องกันเพื่อแยกพลเรือนออกจากพื้นที่อันตราย การอบรมให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยง และการระเบิดของวัตถุระเบิดนั้น การฟื้นฟูแก้ไขสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ที่มีเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษตกค้าง จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือระเบียบการที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งรวมถึงการสำรวจสถานการณ์ การป้องกันพลเรือนไม่ให้สัมผัสกับอันตราย เช่น การทำเครื่องหมายและกั้นพื้นที่หรือออกประกาศคำเตือน การอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับอันตราย และการควบคุม ขจัด หรือฟื้นฟูบำบัดผลกระทบ

สนธิสัญญาของปฏิบัติการทุ่นระเบิดและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องเสนอแนวทางการจัดตั้งกลไกการดำเนินการเพิ่มเติม ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ข้อ 5(2) ของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงกำหนดให้รัฐภาคีเริ่มใช้แผนระดับชาติ แต่งตั้งผู้ประสานงานของรัฐบาล ระดมทรัพยากร รวมถึงพัฒนาและดำเนินการตามกฎหมายและนโยบายระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการกำจัดเศษซากวัตถุอาวุธ ซึ่งคล้ายคลึงกับกาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ข้อ 4(2) กำหนดให้รัฐภาคีต้องพัฒนาแผนและระดมทรัพยากร ขั้นตอนข้างต้นจะช่วยสร้างรากฐานการดำเนินการที่ส่งเสริมให้มีการประสานงาน ภาระรับผิดชอบ และเงินทุนที่เพียงพอ ซึ่งจะต้องนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูแก้ไขสิ่งแวดล้อมในบริบทของเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ

หลักการชี้แนะแนวทางหลายหลักการที่สนับสนุนปฏิบัติการทุ่นระเบิดยังมีความสำคัญต่อความพยายามในการจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ ประการแรก การทำให้ปฏิบัติการทุ่นระเบิดทุกขั้นตอนคำนึงถึงผู้คนทุกภาคส่วนช่วยให้บุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบสามารถแบ่งปันความเชี่ยวชาญโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาและทางแก้ไขเพื่อรับมือ ประการที่สอง การยึดในในหลักการของการไม่เลือกปฏิบัติมีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ประการที่สาม ความโปร่งใสในรูปแบบของการรายงานข้อมูลอยู่เป็นประจำ คือสิ่งที่ช่วยส่งเสริมด้านภาระรับผิดชอบ ทำให้การตรวจสอบดำเนินไปได้ด้วยดี และช่วยให้มองเห็นว่าความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศจะเข้ามาเติมเต็มจุดใดได้บ้าง ประการสุดท้าย การเข้าถึงบริการและข้อมูล ซึ่งต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของปัจจัยต่าง ๆ เช่น เพศภาวะ ความสามารถ อายุ ภาษา และวัฒนธรรม มีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้แระสบภัยได้รับประโยชน์จากแผนดำเนินการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือพวกเขา หลักการชี้แนะแนวทางจึงมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันกับความเป็นธรรมและประสิทธิผลของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและมาตรการพื้นฟูแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ

แม้ว่าปฏิบัติการทุ่นระเบิดจะเป็นแนวทางปฏิบัติตามพันธกรณีอันดีของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์และการจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ แต่ต้นแบบของปฏิบัติการทุ่นระเบิดอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือขยายการดำเนินในบางด้าน กิจกรรมงานของปฏิบัติการทุ่นระเบิดคล้ายคลึงกับกิจกรรมที่ใช้กับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและเทคนิคที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผู้รอดชีวิตจากการประสบกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ ต้องได้รับการรักษาเกี่ยวกับมะเร็งมากกว่าแขนขาเทียม และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจะต้องจัดการในระยะยาว เพราะเป็นการฟื้นฟูที่ไม่เหมือนกับวัตถุระเบิด เพราะเราทำลายให้เศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษหายไปหมดสิ้นไม่ได้ หากมองในทางกฎหมายแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากแหล่งอื่นอาจใช้เป็นส่วนเสริมแนวทางของปฏิบัติการทุ่นระเบิดได้ เนื่องจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ส่งผลกระทบต่อชนพื้นเมืองมากกว่าใคร ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและขยายขนาดของความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหยื่อเพื่อคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองจึงมีความเหมาะสม ความท้าทายและความซับซ้อนของการฟื้นฟูเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษที่ตกค้าง จึงต้องคำนึงถึงหลักการของการเพิ่มประสิทธิภาพของกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ต้องพิจารณาถึงต้นทุนและประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมของโครงการก่อนดำเนินการ

สรุป

หลักการสองชุดที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นถึงการที่ปฏิบัติการทุ่นระเบิดสามารถเป็นพื้นฐานของการจัดการกับผลกระทบของเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษได้อย่างไรบ้าง ในการเผชิญหน้ากับมลภาวะที่เกิดจากความขัดแย้ง คลินิกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและ Conflict and Environment Observatory ของ Harvard Law School ระบุถึงหลักการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ โดยรายงานฉบับประจำปี 2020 ได้ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายปฏิบัติการทุ่นระเบิดในด้านนิยามความหมาย ประเภทของอันตรายและความช่วยเหลือ กรอบความรับผิดชอบร่วมกัน มาตรการดำเนินการ และหลักการชี้แนะแนวทางปฏิบัติ ปี 2019 คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศได้นำร่างหลักการว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสืบเนื่องจากการขัดกันทางอาวุธมาใช้ ซึ่งครอบคลุมมาตรการป้องกันและฟื้นฟูแก้ไขเพื่อลดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากความขัดแย้ง เอกสารฉบับนี้ยังประกอบด้วยหลักการต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากปฏิบัติการทุ่นระเบิด ที่สนับสนุนให้มีการบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้รัฐ “กำจัดหรือทำให้เศษซากอาวุธสงครามที่เป็นพิษและเป็นอันตรายไม่เป็นอันตรายอีกต่อไป.. ที่กำลังก่อให้เกิดหรือเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย’

อิทธิพลที่ปฏิบัติการทุ่นระเบิดมีต่อความพยายามลดผลกระทบที่เกิดจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ แสดงให้เห็นถึงการนำปฏิบัติการทุ่นระเบิดไปใช้ในวงกว้าง ปฏิบัติทุ่นระเบิดออกแบบมาเพื่อจัดการกับทุ่นระเบิดและเศษซากอาวุธสงครามประเภทระเบิด แต่แรงจูงใจด้านมนุษยธรรมและวิธีการที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางได้ส่งผลต่อการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษ ปฏิบัติการทุ่นระเบิดได้นำเสนอบรรทัดฐานของภาระผูกพันทางกฎหมายใหม่ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริบทของอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น จึงควรเป็นแนวทางปฏิบัติในการนำข้อกำหนดของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ไปปฏิบัติและสร้างกรอบมาตรการฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากเศษซากอาวุธสงครามประเภทสารพิษทั้งหมดในอนาคต

แบ่งปันบทความนี้