เพียงหนึ่งเดือนก่อนถึงการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) สถานการณ์ในมาลีได้เตือนให้ทั้งโลกได้เห็นถึงประเด็นร้อนที่ส่งผลโดยตรงกับชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ขัดแย้ง
ประเทศมาลีได้รับการจัดอันดับจาก ND-GAIN ให้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ด้วยปัญหาความขัดแย้งอย่างนาวนานทำให้ UNDP จัดอันดับมาลีเป็นประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และเป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 184 จาก 189 ประเทศ
นายแพทริก ยูเซฟ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคแอฟริกา คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กล่าวว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด มักเป็นคนกลุ่มเดียวกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง พวกเขายังมีข้อจำกัดอีกมากเพราะไม่มีทรัพยากรและทางเลือกมากพอจะต่อสู้กับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ประชาชนที่ยากจน และยากลำบากที่สุดในโลก คือกลุ่มคนที่ต้องรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง ยกตัวอย่างเช่นเกษตรในประเทศขัดแย้งที่นอกจากต้องเผชิญข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการเพาะปลูก ในที่ประชุม COP26 ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนหน้า เราขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกหันมาสนใจและให้ความช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่กำลังทนทุกข์ทรมารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยลำพัง”
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสะเทือนใจคือสถานการณ์ทางตอนเหนือของประเทศมาลี เมื่อทะเลสาบ Faguibine แห้งเหือดจนกลายเป็นทะเลทราย ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากมายที่ต้องอาศัยแหล่งน้ำเพื่อดำรงชีพ สถานการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เมือภัยแล้งเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปีส่งผลให้น้ำในทะเลสาบค่อยๆ เหือดหายเนินทรายค่อยๆ เข้ามาแทนที่ ผู้คนในพื้นที่ต้องหันไปพึ่งพาน้ำจากฤดูฝนที่ลดลงเหลือแค่สามเดือนต่อปี ฤดูฝนของพื้นที่นี้กินเวลาระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวที่ประชาชนจะสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี ในขณะที่อุณหภูมิในฤดูอื่นพุ่งสูงจนเกือบแตะ 50°C
นอกจากทะเลสาบที่ว่า ทะเลสาบอีก 6 แห่งในมาลีก็กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง การประมงไม่สามารถทำได้ ผลผลิตจากการเพาะปลูกลดต่ำลงเพราะสภาพอากาศ ในขณะที่การเลี้ยงสัตว์ประสบปัญหาเพราะแหล่งน้ำ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป พื้นที่เหล่านี้อาจกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด
เนื่องจากพื้นที่ทำกินเริ่มขาดแคลน ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการปะทะกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้เลี้ยงปศุสัตว์ที่ต้องต่อสู้แย่งชิงแหล่งน้ำ “ไม่มีวันไหนเลยที่เราไม่มีปัญหากับกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เราไม่มีพื้นที่มากพอและทุกคนต้องใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ” Mahamadou Ousmane เกษตรกรในพื้นที่กล่าว
ผู้คนหันไปตัดต้นไม้ต้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ ทำให้ดินพังทลายและขาดน้ำอย่างรุนแรง พวกเขาจำเป็นต้องนำไม้ไปขายเพื่อความอยู่รอด “ฉันรู้ว่ามันไม่ดี แต่ถ้าฉันไม่ทำแบบนี้ก็ไม่มีเงินสำหรับซื้ออาหาร” Alhousna Walet Alhassane กล่าว เธอเป็นแม่ม่ายที่ต้องดูแลตัวเอง
เนื่องจากทะเลสาบแห้งไป ก๊าซไวไฟจึงไหลออกมาจากพื้นดิน เมื่อติดไฟ มันจะทำลายต้นไม้ที่เหลือสองสามต้น ทำให้ดินไม่เหมาะกับการเกษตร Moussa Mouhamadou Touré เกษตรกรอีกท่านชี้ให้เราเห็นทุ่งนาที่เขาเคยใช้เพาะปลูก “ดูสิว่าสีของดินของเราเปลี่ยนไปอย่างไร มันกลายเป็นสีแดง สีดำ ร่วนเป็นเม็ด ก๊าซไวไฟได้เผาดินและต้นไม้หมดแล้ว”
เมื่อมาถึงจุดนี้ คนรุ่นใหม่ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากเดินทางออกจากบ้านเพื่อหารายได้ ในอดีตชุมชนรอบทะเลสาบสามารถส่งออกไม้ซุง ผลผลิตจากปศุสัตว์ ปลาจากทะเลสาบ รวมไปถึงธัญพืชไปยังส่วนอื่นๆ ของมาลี รวมถึงนำไปขายในต่างแดนเพื่อแลกเอาสิ่งจำเป็นเช่น รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อระบบนิเวศเหล่านี้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารและระบบเศรษฐกิจของพื้นที่จึงตกอยู่ในภาวะอันตราย
ลูกชายของ Moussa Mouhamadou Touré ย้ายออกจากบ้านไปนานแล้ว เขาต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตใหม่ในเมืองหลวง “หมู่บ้านนี้ยังมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะพวกเด็กๆ ต้องขอบคุณความกล้าหาญของพวกเขาที่ส่งเงินกลับมา ประชากรท้องที่ 50-60% ย้ายออกไปเพื่อหาทางออกให้ครอบครัว”
“ผมมาบามาโก(เมืองหลวงของมาลี) เพราะก่อนหน้านี้พ่อแม่ของผมประกอบอาชีพหลักเป็นเกษตรกร วัยเด็กของผมเต็มไปด้วยภัยแล้ง สิ่งที่พวกเราคนรุ่นใหม่พอจะทำได้คือการแบ่งเบาภาระและแบ่งปันรายได้จากการทำงานให้ครอบครัวของพวกเราในภาคเหนือ” ลูกชายของ Moussa Mouhamadou Touré กล่าว
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ย้ายออก พวกเขาต้องเผชิญความท้าทายอื่น ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในพื้นที่ ความยากลำบากในการหารายได้ และโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่จำกัดเพราะโรงเรียนปิดทำการ
Hama Abacrene นายกเทศมนตรีท้องที่ พาเราไปชมภาพอาคารเรียนที่เต็มไปด้วยทราย “นี่เป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียน 400 คน เด็ก 400 คนที่ควรได้เข้าเรียนหนังสือ ตอนนี้พวกเขาต้องหลบหนีจากความยากลำบาก หลายคนกลายเป็นนักสู้ของกองกำลังติดอาวุธ”
เพื่อแก้ปํญหาเฉพาะหน้า ICRC มีแผนจะเสริมความแข็งแกร่งให้เนินทรายในพื้นที่ 10 เฮกตาร์ (25 เอเคอร์) เพื่อป้องกันไม่ให้ทรายพัดเข้าหมู่บ้าน โปรเจกต์นี้มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คน โดยพวกเขาจะได้รับค่าจ้างรายวันต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 20 วัน
มาลีเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของประเทศนี้ก็ยังเข้าวิกฤต พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศนี้มีสภาพเป็นทะเลทรายหรือกึ่งทะเลทราย มาลียังเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (อ้างอิงผลสำรวจจาก Notre Dame Global Adaptation Initiative (ND-Gain) Index)