มนุษยธรรม กับ สิ่งแวดล้อม อาจเป็นสองคำที่ฟังดูห่าง อันที่จริงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบให้ประเด็นมนุษยธรรมในหลายพื้นที่ ในแอฟริกา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด จนเกิดเป็นสงครามและความรุนแรงที่ตามมา ในประเทศไทยซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คำถามว่ามนุษยธรรมกับสิ่งแวดล้อมสามารถสะท้อนความมีน้ำใจในช่วงเวลาวิกฤตได้หรือไม่ ได้รับคำตอบที่น่าสนใจจากคุณสุรชัย ปานน้อย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส

“ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องมนุษยธรรมโดยตรง เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงทรัพยากร ในช่วงโควิด-19 การเข้าถึงหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องของคนที่มีกำลังซื้อสูง คนที่อยู่ฐานล่างต้องใช้หน้ากากอนามัยแบบรีไซเคิลซึ่งทำให้เขามีความเสี่ยงมากกว่า มีคนบอกผมว่ายิ่งคนมีกำลังซื้อสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูดกลืนทรัพยากรมากเท่านั้น มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องสื่อสารประเด็นนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางความคิด เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของเราทุกคน”

คุณสุรชัยกล่าวถึงความตั้งใจของศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัตร ไทยพีบีเอส ที่นอกจากจะมองการประกวดภาพถ่ายครั้งแรกของกลุ่มองค์กรกาชาดฯ ในหัวข้อ “Kindness during Crises” เป็นการสร้างจิตสำนึกผ่านมุมมองที่สร้างสรรค์ แต่ยังนำแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์เป็นโล่รางวัลที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล

“ทุกวันนี้มนุษย์เราใช้ทรัพยากรของโลกไปเยอะมาก ประเด็นขยะล้นโลกถือเป็นวิกฤตอย่างหนึ่ง การนำวัสดุรีไซเคิลมาประกอบสร้างเป็นถ้วยรางวัลนอกจากจะเป็นการผลักดันประเด็นนี้ให้เห็นชัดแบบเป็นรูปธรรม ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ ผู้ได้รับรางวัลไม่เพียงรู้สึกภาคภูมิใจแต่เขายังตระหนักถึงปัญหา เรื่องเหล่านี้วัสดุธรรมดาไม่สามารถสื่อสารได้” คุณสุรชัยกล่าว

ทุกวันนี้ประเด็นด้านมนุษยธรรมยังเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ศูนย์พัฒนาสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส มองว่าการจัดประกวดภาพถ่ายครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการผลักดันประเด็นดังกล่าวให้ได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต

“ประเด็นมนุษยธรรมในไทยมีหลายอย่างน่าเป็นห่วง เรามีความรุนแรงทับซ้อนในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่เรื่องการสาธารณสุข การเข้าถึงวัคซีนกลายเป็นเรื่องของคนมีกำลังซื้อสูง สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันซึ่งนั่นก็เป็นมนุษยธรรมในแง่มุมหนึ่ง แต่ในวิกฤตแบบนี้ก็ยังมีเรื่องราวของน้ำใจ เช่น การลงพื้นที่ของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อระดมฉีดวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติ เราเห็นได้ว่าผู้บริหารระดับสูงไม่ได้มองข้ามประเด็นนี้ซึ่งเป็นสิ่งดีๆ ที่มองเห็นได้ในสังคมไทย”

คุณสุรชัยยังกล่าวว่าการนำเสนอประเด็นด้านมนุษยธรรมในหนึ่งภาพเป็นงานที่ท้าทาย เพราะเป็นการสะท้อนประสบการณ์ทั้งชีวิตของช่างภาพ

“ถ้าผมมีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวด ผมคงเก็บภาพความเหลื่อมล้ำและโอกาสในสังคม ผมมองเห็นความแตกต่างระหว่างผู้มีกำลังซื้อที่สามารถเปลี่ยนใช้หน้ากากแบบดีๆ  กับคนที่ต้องนำหน้ากากมาใช้แบบรีไซเคิล ประเด็นสิ่งแวดล้อมหลายอย่างก็มาจากการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เรามองมันเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ มีประเด็นมนุษยธรรมเพราะการที่ชาวบ้านต้องเผาไร่ข้าวโพด ก็เพราะเขาเข้าไม่ถึงกำลังการผลิต ไม่มีทุนมากพอเพื่อจัดการการเก็บเกี่ยวให้ไวขึ้น ไม่มีความรู้หรือโอกาสที่จะเข้าถึงทางเลือกอื่นๆ ซึ่งมันกระทบกับตัวเขาเองที่ต้องสูดดมฝุ่นพิษเข้าไป ผมคิดว่ามนุษยธรรมที่ตัวผมอยากถ่ายทอด คือเรื่องราวของผู้คนเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้าถีงทรัพยากร”

________________________________

หากคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ กลุ่มองค์กรกาชาดฯ เปิดรับสมัครภาพถ่ายในหัวข้อ ‘Kindness during crisis – ในวิกฤต มีน้ำใจ’ เพื่อชิงรางวัลมากมายจากเราและองค์กรพันธมิตร สามารถอ่านรายละเอียดและวิธีการสมัครได้ที่  t.ly/Nzjr

 

เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564